นิทานถั่วงอกของน้องๆ อนุบาล ๓
ครูประจำชั้น : ครูนิภาวรรณ แซสันเทียะ (ครูวรรณ) ครูปรานี สุภาภพ (ครูนี)
ถั่วงอกผจญภัยในแดนมหัศจรรย์ ถั่วงอกจัดงานเต้นรำ ถั่วงอกผจญภัยหาเพื่อนใหม่ ถั่วงอกเดินเล่น ถั่วงอกไปงานเลี้ยงชั้นใต้ดิน ถั่วงอกไปเที่ยวทะเล ถั่วงอกหาเพื่อนใหม่ ถั่วงอกผจญภัยในป่าใหญ่
นิทานบอกเล่าเรื่องราวของถั่วงอกทั้ง ๘ เล่มข้างต้น เป็นผลงานของเด็กๆ อนุบาล ๓ ห้องปลายฟ้า โรงเรียนรุ่งอรุณ โดยมีนิทานเรื่อง หัวผักกาดยักษ์ ที่คุณครูเล่าให้ฟังในกิจกรรมนิทานตั้งโต๊ะเป็นแรงบันดาลใจแรกเริ่ม
เมื่อเล่านิทานเรื่องหัวผักกาดยักษ์ให้เด็กๆ ฟังซ้ำ ครูตั้งคำถามชวนเด็กๆ คิดว่า “แปลงผักของคุณตายังมีพื้นที่ที่สามารถปลูกผักชนิดอื่นๆ เพื่อนำมาทำอาหารได้ เด็กๆ คิดว่าเราควรช่วยคุณตาปลูกผักอะไรดี?”
จบคำถามของครู เด็กๆ ช่วยกันนำเสนอชื่อผักที่จะปลูกกันอย่างสนุกสนาน มีทั้งแครอท สตรอว์เบอรี่ มะเขือเทศ ต้นหอม ผักกาด คะน้า ผักบุ้ง และถั่วงอก เมื่อได้รายชื่อผักครบถ้วนแล้ว ครูชวนเด็กๆ คิดต่อว่าผักชนิดใดบ้างที่เด็กๆ จะช่วยคุณตาปลูกได้ คราวนี้เด็กๆ เริ่มนำประสบการณ์เดิมของแต่ละคนออกมาแลกเปลี่ยนกัน จนได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะเลือกปลูกผักตามฤดูกาลที่ปลูกง่ายและให้ผลผลิตในระยะสั้น นั่นคือ มะเขือเทศและถั่วงอก
ก่อนเริ่มลงมือปลูก ครูพาเด็กๆ ไปพูดคุยกับลุงม่อม ผู้รู้และผู้มีประสบการณ์การปลูกผักของชุมชนรุ่งอรุณ เพื่อให้เด็กๆ ฝึกตั้งคำถามที่ตนสงสัยจากผู้รู้ เช่น วิธีการปลูกถั่วงอกและมะเขือเทศ เวลาปลูกผักในกระถางแล้วกระถางมีรู้จะต้องทำอย่างไร ถ้าฝนตกลงมาจะต้องรดน้ำผักอีกไหม เมื่อได้ข้อมูลจากลุงม่อมแล้ว ครูพาเด็กๆ ไปค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมจากหนังสือในห้องสมุด และเดินสำรวจแปลงผักในบริเวณโรงเรียนเพื่อเพิ่มเติมประสบการณ์และฝึกทักษะการสังเกต
เมื่อถึงเวลาลงมือปลูกและเฝ้าติดตามการเจริญเติบโต เด็กๆ พบว่ามะเขือเทศมีการเปลี่ยนแปลงช้าและต้องใช้ระยะเวลาการเจริญเติบโต ทุกคนจึงมุ่งความสนใจมาติดตามการเติบโตของถั่วงอกมากกว่า เพราะปลูกง่ายและให้ผลผลิตเร็ว
การปลูกถั่วงอกในครั้งนี้ เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างบูรณาการหลายเรื่องราว ทั้งวิธีการปลูกผัก การใช้เครื่องมือการเกษตร การเรียนรู้เรื่องแสงแดดและดินที่เป็นปัจจัยการเจริญเติบโตของพืช การพึ่งพาอาศัยกันของพืชและสัตว์ที่เด็กๆ พบในปุ๋ยและในแปลงผัก เช่น ไส้เดือน หนอนด้วง แมลงตัวเล็กๆ การฝึกใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในการตั้งสมมติฐาน คาดเดา และทดลองเพื่อหาคำตอบ ที่สำคัญคือการพัฒนาคุณธรรมพื้นฐานเรื่องของความอดทน และความรับผิดชอบตามความสามารถและวัยของตนเอง
เมื่อถั่วงอกเริ่มงอก ครูตั้งคำถามเพื่อกระตุ้นความคิดของเด็กๆ ว่า มีอาหารอะไรบ้างที่มีถั่วงอกเป็นส่วนผสม? เด็กๆ ก็ช่วยกันคิดช่วยกันบอกตามที่ตัวเองเคยรับประทาน เคยเห็น หรือบางอย่างก็มาจากจินตนาการ เช่น ไข่เจียวถั่วงอก ผัดถั่วงอก ถั่วงอกชุบแป้งทอด บัวลอยถั่วงอก แซนด์วิชถั่วงอก
เมื่อเด็กๆ เริ่มรู้จักถั่วงอกและลองรับประทานถั่วงอกกันแล้ว ครูจึงให้เด็กๆ ถ่ายทอดความคิดและประสบการณ์ผ่านภาษาในรูปแบบต่างๆ เช่น การแต่งเพลงถั่วงอกน่ากินจัง พร้อมคิดท่าทางประกอบเพลง การแต่งนิทานร่วมกับคุณพ่อคุณแม่แล้วใช้เป็นนิทานวงกลมเคลื่อนไหว โดยช่วยกันคิดท่าทางประกอบต่อจากนิทานเรื่องหัวผักกาดยักษ์
ขณะที่พี่โตชั้นอนุบาล ๓ นำความรู้และความประทับใจจากการปลูกถั่วงอกมาแต่งนิทานคนละ ๑ เรื่อง พร้อมวาดรูปประกอบรวบรวมเป็นเล่ม ซึ่งเรื่องราวในนิทานแต่ละเรื่องล้วนบอกเล่าถึงความสัมพันธ์และการพึ่งพากันของพืชและสัตว์ตามธรรมชาติที่เด็กๆ พบเห็นจากโครงงานถั่วงอกในครั้งนี้
เมื่อเด็กๆ สามารถระบุเรื่องราวที่มีการพึ่งพานี้ได้ นั่นหมายถึงว่าพวกเขาเริ่มเข้าใจเรื่องการพึ่งพาตนเอง การพึ่งพาอาศัยกัน และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นคุณธรรมพื้นฐานของการเติบโตและการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมต่อไป
…คลิกที่ภาพเพื่ออ่านนิทานทั้ง ๘ เล่ม…