ทุ่งหยีเพ็ง : บ้านอุ่น ป่าเย็น
ทุ่งหยีเพ็ง : บ้านอุ่น ป่าเย็น
หนังสือรวบรวมองค์ความรู้จากโครงงาน “การศึกษาการจัดการเพื่อการพึ่งพาตนเองทั้งระบบของชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่” โดยนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม โรงเรียนรุ่งอรุณ ภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ (ดาวน์โหลดหนังสือ)
“หน่วยวิชาโครงงานบูรณาการสังคมศึกษา ภาษาไทยเพื่อการสื่อสาร และเทคโนโลยีสารสนเทศ ระดับชั้นมัธยมปลาย โรงเรียนรุ่งอรุณ เป็นหน่วยการเรียนที่เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้นักเรียนได้เป็นผู้ผลิตสื่อเอง ซึ่งช่วยให้นักเรียนเกิดความเข้าใจว่าสื่อที่ดีมีคุณภาพนั้นเป็นอย่างไร และคุณภาพของสื่อย่อมสัมพันธ์กับเจตนารมณ์ของผู้ผลิตและเบื้องหลังการผลิต อีกทั้งช่วยให้นักเรียนมีความเท่าทันสื่อในฐานะผู้บริโภคหรือผู้เสพสื่อ
นักเรียนจะทำการศึกษาปรากฏการณ์จริงของพื้นที่หนึ่ง เป็นการศึกษา Area based content ซึ่งช่วยให้นักเรียนเข้าใจและเท่าทันความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเนื้อหาเป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่หรือชุมชนหนึ่ง มีหลายมิติ การทำความเข้าใจในเรื่องราวดังกล่าวให้รอบด้านทำได้ยาก นักเรียนจำเป็นต้องทำความรู้จักชุมชนด้วยตนเอง ออกแบบ หาวิธีเก็บประเด็น ให้ความหมายและวิเคราะห์คุณค่าจนสามารถถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาและสื่อได้
กระบวนการดังกล่าวยังช่วยกระตุ้นสำนึกพลเมืองให้เกิดขึ้นในนักเรียน เมื่อนักเรียนเล็งเห็นว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก เข้าใจปรากฏการณ์แความเปลี่ยนแปลงต่างๆ แล้วจะทำอะไรได้บ้าง เช่น การนำเสนอความจริง แนวคิดที่ดีงาม หรือแนวทางอันเกิดประโยชน์แก่ชุมชนและสังคม ซึ่งเป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักเรียนพึงกระทำได้
ในภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๖๑ นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๖ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม ได้ทำการศึกษาในหัวข้อ “การศึกษาการจัดการเพื่อการพึ่งพาตนเองทั้งระบบของชุมชนบ้านทุ่งหยีเพ็ง อ.เกาะลันตา จ.กระบี่” โดยรวบรวมองค์ความรู้และผลิตเป็นหนังสือ “ทุ่งหยีเพ็ง : บ้านอุ่น ป่าเย็น”
การประสานงานกับชุมชนในเบื้องต้น ชุมชนประสงค์ให้นักเรียนผลิตสื่อสิ่งพิมพ์เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชน ประเด็นทางสังคมที่ชุมชนให้ความสำคัญ วิสัยทัศน์ แนวคิด และการดำเนินการในโครงการต่างๆ ของชุมชน เพื่อจะขอให้ประโยชน์จากสื่อสิ่งพิมพ์ดังกล่าวเป็นแรงบันดาลใจแก่คนในชุมชน ให้หันกลับมาศึกษาคุณค่าในตนเอง เป็นบันทึกเรื่องราว และความเป็นมาของชุมชน อีกทั้งวิธีคิดของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่งที่คนในรุ่นถัดไปสามารถศึกษาได้
นอกจากนี้ยังคาดหวังว่าหนังสือ “ทุ่งหยีเพ็ง : บ้านอุ่น ป่าเย็น” ฉบับนี้จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประชุม เสวนา เพื่อประกอบการทำงานในชุมชน และประสานงานเครือข่ายต่อไป
การศึกษาโครงงานของนักเรียนในครั้งนี้ดำเนินการภายใต้โครงการ “สร้างต้นแบบสื่อและองค์ความรู้เพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์” ของสถาบันอาศรมศิลป์ และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จึงขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้”
ครูเปรมปรีติ หาญทนงค์
ครูประจำหน่วยวิชา