Cultural-Academic Exchange Program “รุ่งอรุณ-โอมิ” (๑)
วันที่ ๓๐ ต.ค. – ๕ พ.ย. ๖๑ นักเรียนชั้น ม.๖ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม ๖ คน ออกภาคสนามไปศึกษาเรื่องการจัดการน้ำที่จังหวัดชิกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนโอมิ (Omi Brotherhood Senior High School) โดยมีครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ ครูประจำหน่วยวิชาโครงงานบูรณาการฯ และครูอภิชญา อภิรักษ์โชติศิริ ครูวิชาภาษาญี่ปุ่น ร่วมเดินทางไปกับนักเรียนด้วย
โรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนโอมิดำเนินโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ในลักษณะของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม (Cultural Exchange Program) โดยปีนี้โรงเรียนโอมิมีโครงการจะพานักเรียนชั้น ม.๕ จำนวน ๔๐ คน มาเรียนรู้ที่รุ่งอรุณในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๑ ครูเปรมปรีติจึงได้หารือเพื่อยกระดับโครงการแลกเปลี่ยนเป็น Cultural-Academic Exchange Program ให้นักเรียนทั้งสองโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันทั้งด้านความรู้ ภาษา และวัฒนธรรม โดยใช้เรื่อง “น้ำ” เป็นโจทย์หลักของการเรียนรู้ เนื่องจากจังหวัดชิกะที่โรงเรียนโอมิตั้งอยู่นั้นเป็นที่ตั้งของทะเลาสาบบิวะ (Biwako) ทะเลสาบที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น และมีคูเมืองโบราณ (Hachiman Bori) ขณะที่นักเรียนชั้น ม.๖ สำนักสื่อฯ กำลังศึกษาเรื่องทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำอยู่เช่นกัน
เมื่อเดินทางไปถึงประเทศญี่ปุ่น จุดแรกที่นักเรียนแวะเรียนรู้คือหมู่บ้านอิเนะ (Ine no Funaya) หมู่บ้านชาวประมงนอกเมืองเกียวโต ที่ยังคงวิถีชีวิตชาวประมง แต่อ่าวอิเนะยังคงใสสะอาด ก่อนเดินทางไปยังจังหวัดชิกะ โดยมีนักเรียนโรงเรียนโอมิเป็นเจ้าบ้านพานักเรียนรุ่งอรุณไปศึกษาในพื้นที่สำคัญต่างๆ และบอกเล่าข้อมูลความรู้ รวมทั้งติดต่อวิทยากรท้องถิ่นมาช่วยให้ข้อมูลร่วมด้วย เช่น Hachiman Bori คูน้ำเล็กๆ รอบปราสาทอายุราว ๔๓๐ ปี ที่แต่เดิมเป็นเส้นทางสัญจรและล่องเรือค้าขาย เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม มีการปล่อยน้ำจากครัวเรือนและร้านค้าลงคูน้ำ ทำให้น้ำเสียมาก ชาวเมืองจึงช่วยกันขุดลอกคูและเก็บขยะที่ทับถมเป็นเวลานานขึ้นมาทิ้ง ทำให้น้ำในคูกลับมาใสสะอาดอีกครั้ง และเปิดรับอาสาสมัครมาช่วยกันทำความสะอาดคลองอย่างต่อเนื่อง ทำให้คูน้ำเก่าแก่แห่งนี้ยังคงใสสะอาดจนทุกวันนี้
เกาะ Okishima ในทะเลสาบบิวะ ที่แต่เดิมเป็นหมู่บ้านชาวประมง ต่อมามีการใช้สารเคมีในครัวเรือนและภาคการเกษตรแล้วปล่อยลงทะเลาสาบ ทำให้น้ำในทะเลสาบไม่สะอาด บวกกับความก้าวหน้าของเครื่องมือจับปลาที่นำไปสู่การจับปลาที่เกินพอดี ทำให้จำนวนปลาในทะเลสาบลดลงไปมาก จึงมีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศมาปล่อยในทะเลสาบเพื่อเพิ่มจำนวนปลา แต่ปลานำเข้าเหล่านี้กลับทำลายระบบนิเวศเดิม เพราะไปกินปลาท้องถิ่นจนหลายชนิดสูญพันธุ์ ทั้งปลานำเข้าเองก็ไม่เป็นที่นิยมของคนญี่ปุ่น ส่งผลให้เศรษฐกิจไม่ดี คนหนุ่มสาวอพยพออกจากเกาะ หมู่บ้านจึงเหลือแต่เพียงคนเฒ่าคนแก่
ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้ภาครัฐและชาวเมืองลุกขึ้นมาฟื้นฟูคุณภาพน้ำในทะเลสาบ เช่น การรักษาความสะอาด การออกกฎหมายห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีที่ทำลายคุณภาพน้ำ เช่น ฟอสฟอรัส การปล่อยพันธุ์ปลาท้องถิ่นกลับสู่ทะเลสาบ โดยมีพิพิธภัณฑ์ทะเลสาบบิวะเป็นศูนย์กลางให้ความรู้และดูแลทะเลสาบ เช่น บอกเล่าประวัติความเป็นมา การพัฒนา ผลกระทบ วิจัยและเพาะพันธุ์ปลาท้องถิ่น ตรวจวัดคุณภาพน้ำ และจัดกิจกรรมรณรงค์กับผู้คนในท้องถิ่น ส่งผลให้ทุกวันนี้สภาพแวดล้อมในทะเลสาบบิวะดีขึ้นมาก
นอกจากไปศึกษาเรื่องการจัดการน้ำแล้ว การออกภาคสนามในครั้งนี้นักเรียนยังได้ฝึกเรื่องการวางแผนและการจัดการกับสถานการณ์เฉพาะหน้า โดยนักเรียนทั้งหกคนต้องแบ่งหน้าที่รับผิดชอบวางแผนและเตรียมการเดินทางด้วยตัวเอง ในฐานะเจ้าของโครงงานและเจ้าของการเรียนรู้ เช่น จองตั๋วเครื่องบิน จองที่พัก ศึกษาเส้นทางและวิธีการเดินทาง แต่แม้จะเตรียมการไปแล้วก็มีเรื่องราวให้ต้องเผชิญ เช่น การเดินทางที่ต้องต่อรถไฟหลายต่อ พร้อมด้วยกระเป๋าน้ำหนักเกือบ ๒๐ ก.ก. ที่ต้องลากบ้าง ยกบ้าง วิ่งบ้าง เมื่อต้องเปลี่ยนขบวนรถในเวลาที่จำกัด ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องการแก้ปัญหา การช่วยเหลือพึ่งพากัน และการรู้จักตนเองเมื่อเผชิญสถานการณ์ต่างๆ
หลังกลับจากภาคสนาม ครูเปรมปรีติได้จัดวงสนทนาพานักเรียนจัดการความรู้ (KM) ร่วมกัน โดยนักเรียนสะท้อนหัวข้อเรื่องที่พวกเขาได้เรียนรู้ใน ๕ หัวข้อ คือ เนื้อหาเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ การวางแผนงาน การสื่อสารและปฏิสัมพันธ์ การดำเนินชีวิตของคนญี่ปุ่น และการรู้จักตนเองในบริบทหรือสถานการณ์ต่างๆ เช่น มองเห็นตนเองว่ามักพึ่งพาแต่เทคโนโลยี แต่เมื่อเผชิญปัญหาเฉพาะหน้า เช่น หลงทาง ตกรถไฟ แล้วไม่สามารถพึ่งพาเทคโนโลยีได้ ก็ต้องกลับมาพึ่งพาตนเองเพื่อคิดหาวิธีแก้ไข ซึ่งครูเปรมปรีติชี้ให้เห็นว่าคือ Human Intelligence
“เราได้เห็นวิธีคิดของคนญี่ปุ่นที่เขาคิดแก้ปัญหาอย่างรอบคอบ คูเมืองเกิดความเสียหาย เขาต้องทำความสะอาด เขาก็รณรงค์กัน คนของเขาก็ลุกขึ้นมาทำความสะอาดด้วยตัวเอง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ต้องมีใครไปบังคับ แต่เขามีจิตสำนึกเอง” อาโป-ปรมา เหล่าปิยะสกุล
“เขามีการจัดการน้ำที่ดี มีการรณรงค์ให้คนเข้ามาช่วยกัน ให้รู้คุณค่าของน้ำในชุมชน คนที่ใช้น้ำ อาศัยอยู่ใกล้ๆ น้ำ ก็เห็นความสำคัญของแม่น้ำแล้วพยายามช่วยกันดูแลรักษาเมื่อมันเสียไป” เจน-ธันยพร ถนิมมาลย์
“ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของญี่ปุ่นว่าเขาใส่ใจและคิดเผื่อคนอื่นเสมอ อย่างตอนเข้าบ้าน เขาจะหันรองเท้าออกเสมอ พอมาที่ไทย เขาก็ยังจัดรองเท้า (หันหัวรองเท้าออก) คือเขาคิดถึงคนอื่นว่าเวลาออกมาก็สามารถใส่รองเท้าแล้วออกไปได้เลย” จีฟ-นัทธิ์ เลาหระวี
“เราได้วางแผนเองหมดเลย จองตั๋วเครื่องบิน จะพักที่ไหน มีอะไรบ้างในญี่ปุ่น เลือกว่าเราจะไปที่ไหน ทำอะไร ไม่เคยไปที่ไหนแล้วได้จัดการเองมากขนาดนี้ แล้วหนูไม่รู้ภาษาญี่ปุ่น แต่เว็บไซต์ติดต่อบางที่ก็เป็นภาษาญี่ปุ่น ก็ใช้กูเกิ้ลช่วยแปล ไปถึงที่โน่นก็ใช้ภาษามือช่วยบ้าง เราก็ต้องรอบคอบ ต้องวางแผนให้ดี เช็คให้แน่ใจ ซึ่งมีรายละเอียดเยอะมาก ก็มีพลาดบ้าง เช่น ลืมว่าเวลาเดินทางต้องเผื่อเวลา แต่เพื่อนๆ ก็ช่วยกัน เลยไม่เครียดมาก” มัดหมี่-สุธาแก้ว กัจฉมาภรณ์
“วันแรกเราตกรถไฟบ่อยมาก กว่าจะรอขบวนถัดไปของสายเดิมก็นาน เราก็ต้องหาสายใหม่ ตอนแรกเครื่องมือที่เราใช้คือโทรศัพท์ หลังๆ ก็ใช้วิธีหาข้อมูลไปก่อน แล้วก็ใช้การถาม” นุ่น-ณัฐฌาน์ พนารัตน์
“ซินได้พัฒนาเรื่องความกล้า คือซินจะเขินเวลาเข้าหาคนอื่น แต่รอบนี้ซินรู้สึกว่าเรากล้าที่จะพูดกับเพื่อนๆ ญี่ปุ่น แล้วก็ได้ฝึกเรื่องความรับผิดชอบและตรงต่อเวลา เพราะซินรู้ว่าญี่ปุ่นเขาให้ความสำคัญกับเรื่องเวลามาก” ซิน-สิตานัน พรรณพูนศักดิ์
ในวันที่ ๘-๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ นักเรียนรุ่งอรุณได้เปลี่ยนบทบาทเป็นเจ้าบ้านต้อนรับและพานักเรียนโรงเรียนโอมิ จำนวน ๔๐ คน ไปเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาน้ำยังชุมชนอัมพวา และกลับมาล้อมวงสนทนาเพื่อจัดการความรู้ร่วมกัน (KM)