การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  ชุมชนกัลยาณมิตร,  บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

วันตั้งหลัก

ชีวิตในแต่ละวันที่เคลื่อนไปตามสถานการณ์และการงานตรงหน้า ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เข้ามา ท้าทายให้เราต้องใช้พลังสติและพลังปัญญา เผชิญกับเรื่องราวเหล่านี้ได้อย่างเป็นปกติ เป็นที่พึ่งให้แก่ตนเองและกัลยาณมิตรรายรอบ

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทีมครูศิลปะและครูดนตรีไทย-นาฏศิลป์ไทยที่อยู่ในชายคาเรือนรสิกคามด้วยกัน จึงใช้เวลาว่างชั่วโมงครึ่งในช่วงเช้าวันศุกร์ ชวนกันมาตั้งหลักให้กับกายและใจ สร้างพลังสติให้กับชีวิต ด้วยการสวดมนต์ เจริญจิตภาวนา ทำงานศิลปะ แล้วล้อมวงพูดคุย รับฟัง สะท้อนการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อกลับมาเรียนรู้กายใจ สร้างความรู้สึกตัว ท่ามกลางกัลยาณมิตรที่ทำไปด้วยกันและเป็นพลังให้แก่กัน โดยมีอาจารย์ผ่อง เซ่งกิ่ง หัวหน้าชุมชนบ้านช่าง เป็นครูผู้พาตั้งหลักให้กลับมาเห็นตัวเอง

“พอเราอยู่แต่กับตัวเอง ความรู้ความเข้าใจก็เป็นร่องเดิมๆ แต่สถานการณ์ข้างนอกตอนนี้มันไม่เดิมแล้ว เราเดิมไม่ได้ เราต้องตั้งหลักใหม่ ต้องเร่งสร้างพลังให้กับตัวเอง ถ้าครูมีพลังในตัวเอง พลังนี้ก็จะส่งไปถึงเด็กๆ เราทำหน้าที่เป็นครู เราต้องมาฝึกความรู้สึกตัว มาเรียนรู้ให้มันเห็น มันเป็น มันอยู่ ซึ่งใช้ได้ในทุกเรื่อง ใช้ดูตัวเอง ดูแผนการสอน ดูนักเรียน มันเกิดในทุกเรื่อง” ครูอ้อม-สุริศรา บัวนิล หัวหน้าทีมศิลปะ เล่าถึงที่มาของกิจกรรม ที่เรียกกันเล่นๆ ว่า “วันตั้งหลัก”

ก่อนหน้านี้ทีมครูศิลปะและครูดนตรีไทยตั้งใจจะไปปฏิบัติเจริญสติกับคุณป้าพิกุล มโนเจริญ ที่สถานปฏิบัติธรรมสวนแสงเทียนศิริบูรณ์ จังหวัดพะเยา แต่สถานการณ์โควิด-19 มาเยือนกะทันหัน ต้องเลื่อนโครงการออกไป ระหว่างรอจะได้เจอครูบาอาจารย์ จึงไม่ปล่อยให้เวลาเพียงผ่านไป แล้วอาศัยพลังของกัลยาณมิตรสร้างการเรียนรู้ให้แก่กัน

“ถ้าเราอยู่เป็น สติจะช่วยเราได้ แล้วถ้าเราอยู่แบบมีเพื่อนมาช่วยด้วย เราจะยิ่งรู้สึกว่าเราทำได้ เราสร้างมันขึ้นมาได้ด้วยตัวเอง เป็นการเติมกำลังให้กัน ตั้งใจว่าจะจัดทุกวันศุกร์เว้นศุกร์ ใครสะดวกก็มาร่วมกัน ทำไปสบายๆ”

หลังจบกิจกรรมศิลปะที่เป็นอุบายให้ครูได้มาสังเกตตัวเอง ก่อนจบกิจกรรมวันตั้งหลักในวันนั้น คุณครูนำผลงานศิลปะมาวางรวมกัน แล้วล้อมวงชมผลงานของเพื่อนๆ และสะท้อนสิ่งที่แต่ละคนได้เรียนรู้แบ่งปันซึ่งกันและกัน

ครูบัวลอย-ชัยวัฒน์ พุ่มเฟือง “เราเริ่มจากกลางหน้ากระดาษเลย ทำแบบไม่คิด แล้วก็หยุด มันมีความคิดเข้ามา เริ่มออกแบบ บังคับตัวเองว่าจะใช้แต่สีดำ ใช้แต่กลมเล็กกลมใหญ่ ทำไปแล้วก็หยุดอีก มันไม่สนุก เลยเลิก สบายๆ ไม่บังคับ คือมันจะเอาผลงาน อยากได้สวยๆ ไม่ได้สวยแข่งกับใครนะ แต่จะเอา มันเป็นเอง มันชิน พอมันหลุด ความตั้งใจอยากให้มันดีก็ไม่ได้หายนะ แต่มันผ่อน ทุกการแต้มก็ยังคิด แต่มันสบายขึ้น

ครูตอง-ภัทรี อรรถยุกติ “ตั้งใจว่าจะแก้ทางตัวเอง ไม่เอาสวย ตั้งใจจะดูไปตามที่ปรากฏ ทำๆ ไป แวบหนึ่งมันสวยขึ้นมา เริ่มอยากได้งานดีๆ ไปติดที่ห้อง พอไม่ได้อย่างที่ตั้งใจ มันหนัก เหนื่อย กลัว ตื้อ รู้สึกจนมุม อยากเลิกทำ ก็กลับมาสังเกต รู้สึกถึงไม้ สัมผัสกระดาษ เจอเส้นสวยๆ ก็รู้สึกสบาย เห็นทางสว่าง ทำให้นึกถึงคำของอาจารย์ผ่องที่บอกว่า ‘ต้องผ่อนให้ถูกจังหวะ’ เหมือนชีวิตเราเวลาเจอปัญหา เราต้องหย่อนให้เป็น