มีปัญญา เพราะพึ่งพาตนเองได้
เรื่องโดย : ครูกิฟท์-ปิยะดา พิชิตกุศลาชัย ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ
ในทุกๆ เช้าที่อนุบาลรุ่งอรุณ เราจะเห็นเด็กๆ ลงจากรถ สะพายกระเป๋า กระติกน้ำ ถือถุงใส่กล่องข้าวเดินจากวงเวียนด้วยหน้าตามุ่งมั่นเข้าโรงเรียนด้วยตัวเอง ถอดรองเท้า จัดเก็บเข้าที่ แม้ว่าบางคนจะยังร้องไห้ ก็เห็นเอามือปาดน้ำตา แล้วคว้าข้าวของเดินเข้าโรงเรียนเองได้
ธรรมชาติเด็กในวัยอนุบาล เป็นวัยที่เริ่มรับรู้แล้วว่า ตนเองนั้นมีตัวตน (Sense of Self) เริ่มอยากทดลองทำสิ่งต่างๆ เพื่อทดสอบว่า เขาทำได้แค่ไหน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ เช่น การลองใส่รองเท้า ถูกข้างบ้าง ผิดข้างบ้าง ใส่กางเกง เสื้อผ้ากลับด้านบ้าง
เมื่อเห็นดังนั้น บ่อยครั้งเรามักเผลอเข้าไปจัดการ ช่วยทำหรือทำแทน แต่ถ้าเราเปิดโอกาสให้เด็กลองทำเอง แล้วอดทนรอสักนิด เราจะเห็นเขาพยายามแก้ปัญหา เขาอาจจะยังทำได้ไม่ดี แต่เขากำลังแก้ปัญหาอยู่ และนี่ล่ะคือสิ่งที่เราต้องการ
การให้เด็กได้มีโอกาสลงมือทำด้วยตัวเอง ทำให้เขาได้เห็นความพยายาม และความสามารถของตัวเอง สร้างความเชื่อมั่นในตนเองว่า “เขาทำได้” สร้างให้เขามี “ทักษะการพึ่งพาตนเอง” (Self-reliant) ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่ทำให้เด็กประสบความสำเร็จและมีชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี (Well-being) ได้ต่อไป
แล้วเราจะสร้างโอกาสการเรียนรู้นี้ให้เด็กๆ ได้อย่างไรบ้าง?
เริ่มจากอดทนรอคอย วางใจและเชื่อมั่นว่า เขาทำเองได้ ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ต้องยั้งมือไว้ แล้วรอค่ะ (ฮึบ ท่องคาถา อดใจไว้ๆ) ปล่อยให้เด็กๆ ได้พยายามด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามวางใจแล้วไม่ได้หมายความว่าจะทอดทิ้ง แต่คอยดูอยู่ห่างๆ เราอาจช่วยกระตุ้นบางอย่าง หรือตั้งข้อสังเกตให้เด็กมีมุมมองมากขึ้นในเรื่องงานของเขา เช่น เด็กใส่รองเท้าสลับข้าง เราอาจถามเขาว่า หนูรู้สึกอย่างไร ใส่สบายไหม ลองเดินดูสิ เดินสบายไหม เขาจะเห็นและแก้ไขด้วยตัวเอง
ปิดท้ายด้วยชื่นชมในความพยายามของเขาบ้าง เช่น แม่เห็นหนูพยายามใส่รองเท้าด้วยตัวเองจนเสร็จเลยนะเนี่ย คำชมเช่นนี้จะทำให้เขารับรู้ว่า พ่อแม่และครูชื่นชมในความพยายาม และเขาเองก็มีความพยายามได้ด้วยตัวเอง จากนั้นเราจะเห็นกิจวัตรตลอดทั้งวันว่า เป็นโอกาสแห่งการเรียนรู้และฝึกฝน จากที่จะด่วนช่วยให้เขาสำเร็จได้โดยเร็ว เราจะเปลี่ยนไป เมื่อเราเปลี่ยน ลูกของเราก็เปลี่ยนเช่นกัน เขาจะไม่รีรอขอความช่วยเหลือ แต่รู้ว่าทุกครั้งเขาจะลองทำเองก่อน เพราะ “เขาทำได้”
อีกปัจจัยสำคัญคือ การออกแบบกิจวัตรประจำวันให้เป็นจังหวะ สม่ำเสมอ เพราะเด็กอนุบาลมักจะชอบทำอะไรตามจังหวะจะโคนหรือตามแบบแผน เช่น เดินเข้าโรงเรียน ผ่านจุดคัดกรอง ถอดรองเท้าแล้วนำไปเก็บบนชั้นของห้องตนเอง เดินไปห้องเรียน จัดเก็บสัมภาระต่างๆ เข้าที่ให้เรียบร้อย การทำสิ่งเหล่านี้ซ้ำๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอในทุกๆ วัน จะทำให้เด็กสามารถดำเนินกิจวัตรประจำวันของตนเองอย่างเป็นปกติ ไม่ต้องมีครูคอยกำกับ ไม่ว่าจะเป็นกิจธุระส่วนตัว หรือกิจวัตรที่จะต้องทำร่วมกับผู้อื่น
ในแต่ละวัน ถ้าเด็กๆ ได้เผชิญเรื่องราวด้วยการลงมือทำด้วยตัวเอง เขาจะได้พัฒนาทั้ง
…ทักษะการแก้ปัญหา
…สร้างความนับถือตนเอง (Self-esteem)
…ความสามารถในการตัดสินใจ
การพึ่งพาตนเองช่วยให้เด็กนำทางโลกของเขาด้วยตัวเขาเองได้ สร้างปัญญาได้ในทุกๆ วัน