การโต้เถียงคือโอกาสของการเรียนรู้
:: เรื่องเล่าจากห้องเรียน
เรื่องโดย : ครูอีฟ-จินตนา นำศิริโยธิน ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ
สายวันหนึ่ง เด็กๆ กำลังจะออกไปสำรวจแปลงผัก คุณครูจึงให้เด็กๆ มาต่อแถวตอนลึก โดยคุณครูนั่งอยู่หน้าห้องเป็นหัวแถว เด็กๆ ก็ทยอยมาต่อแถวทีละคนๆ พี่อนุบาล ๒ คนหนึ่งเดินมาต่อแถว แล้วมีน้องอนุบาล ๑ มาต่อหลังอีกที ระหว่างนั้นคุณครูอีกท่านหนึ่งเดินมานั่งด้านข้างฝั่งขวาของแถว แล้วชวนเด็กๆ คุย เด็กๆ เลยหันมาหาคุณครู จากแถวตอนลึกจึงกลายเป็นแถวหน้ากระดาน พอคุยจบ ครูสังเกตเห็นพี่อนุบาล ๒ กับน้องอนุบาล ๑ กำลังเถียงกัน ฟังดูแล้วคนพี่น้ำเสียงเจืออารมณ์โกรธอยู่หน่อยๆ จึงเดินเข้าไปฟังใกล้ๆ
พี่ อ.๒ “เขามาก่อน ทำไมน้องมานั่งตรงนี้”
น้อง อ.๑ ทำหน้างงๆ ไม่พูดอะไร
พี่ อ.๒ “ก็เขามาก่อน มานั่งตรงนี้ได้ไง เขามาก่อน” (พี่เริ่มหงุดหงิดมากขึ้น)
น้อง อ.๑ น้องยังงงๆ ไม่มีคำพูดอธิบาย
คุณครูเริ่มเข้าใจสถานการณ์ จากแถวตอนที่น้องอยู่หลัง พอมาเป็นแถวหน้ากระดาน น้องกลับมาอยู่ทางขวามือ พี่เลยสับสน ส่วนน้องก็ไม่รู้จะอธิบายอย่างไร เพราะประสบการณ์ยังไม่มากพอ ครูจึงตั้งคำถามให้เด็กสังเกตชัดขึ้น
คุณครู “เราลองดูสิคะว่าหัวแถวอยู่ตรงไหน”
เด็กๆ หันมองไปมา แล้วมองไปทางคุณครูหัวแถวที่อยู่หน้าห้อง
คุณครู “ลองหันไปทางหัวแถวสิคะ”
เด็กๆ หันไปทางหน้าห้อง แถวหน้ากระดานกลับไปเป็นแถวตอนเหมือนเดิม
พี่ อ.๒ “อ๋อ ผมเข้าใจผิดครับ ผมมาก่อนน้อง ถูกแล้ว ผมเข้าใจผิด”
คุณครู “หนูเข้าใจผิด แต่เมื่อกี๊หนูดุน้องไปแล้ว ทำอย่างไรดีคะ”
พี่ อ.๒ (หันไปหาน้อง) “พี่ขอโทษ”
เด็กๆ เริ่มมีรอยยิ้มให้กันเหมือนเดิม
เด็กๆ อยู่ด้วยกัน เล่นด้วยกัน ย่อมมีพอใจ ไม่พอใจกันเป็นธรรมดา ครูเพียงสังเกตและอ่านสถานการณ์ให้ออก ส่วนใหญ่แล้วเด็กๆ เขาจะจัดการกันเองได้ เรียนรู้ที่จะยอมกัน ให้อภัยกัน แต่กรณีนี้ครูเห็นแล้วว่าต้องเข้าไปช่วย
การช่วยไม่ใช่การเข้าไปตัดสิน บอกว่าใครถูกหรือผิด เพื่อรีบยุติการโต้เถียง แต่คือการช่วยตั้งคำถามให้เด็กสังเกตและเข้าใจเรื่องราวด้วยตัวเอง เมื่อรับรู้ว่าตนเองเข้าใจผิด และทำผิดที่เผลอดุน้อง เขาก็พร้อมขอโทษด้วยความเต็มใจโดยไม่ต้องมีใครมาบอก น้องเองก็ให้อภัย เพราะรับรู้ความจริงใจของพี่ ทั้งยังได้เห็นตัวอย่างการขอโทษเมื่อทำผิดจากพี่
ถ้าครูเข้าใจว่าการโต้เถียงกันของเด็กๆ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และเป็นโอกาสที่เด็กจะได้ฝึกฝนทักษะชีวิตและทักษะสังคม ครูจะวางใจเป็นปกติ ไม่ด่วนเข้าไปตัดสิน แล้วเด็กๆ จะได้เรียนรู้จากโจทย์จริงนี้อย่างเป็นธรรมชาติ