ลองผิดลองถูกในงานครัว
เล่าเรื่องโดย : ครูอ๋อ-ศิริสกุล สุขเกษม ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ
“งานครัว” เป็นพื้นที่การเรียนรู้ในชีวิตประจำวันที่จำเป็นสำหรับเด็ก เพราะเด็กต้องกินอาหารเป็นประจำทุกวัน งานครัวจึงเป็นโจทย์จริงที่สนุกและท้าทายสำหรับเด็ก เพราะวัยนี้อยากทำเหมือนผู้ใหญ่อยู่แล้ว เป็นการงานที่พาให้เด็กกินเป็น รู้จักเลือกกินอาหารที่เป็นประโยชน์กับร่างกาย รวมถึงการระลึกถึงคุณของอาหารและผู้ทำ
หลังจากฟังนิทานวงกลมยามเช้าเรื่องกุริกุระ เรื่องของหนูสองตัวที่ไปพบไข่แล้วนำมาทำอาหาร เด็กๆ ก็อยากทำอาหารเมนูไข่เหมือนกุริกุระบ้าง ครูจึงชวนเด็กๆ ทบทวนถึงผักในแปลงที่ไปสำรวจกันวันก่อน มีใบกะเพรา ถั่วฝักยาว และดอกอัญชัน แล้วตั้งคำถามชวนคิดว่าเราจะนำผักเหล่านี้มาทำอาหารจานไข่อะไรได้บ้าง หลังจากพูดคุยกันพักใหญ่ เด็กๆ ได้ข้อสรุปร่วมกันว่าจะทำ “ไข่เจียวผัก” โดยให้คุณครูช่วยสั่งไข่ไก่มา ๒๕ ฟอง ตามจำนวนเด็กในห้อง (ทุกคนจะกินคนละฟอง)
เมื่อถึงวันเข้าครัว เด็กๆ แบ่งกลุ่มทำงานตามที่เลือกไว้ น้องอนุบาล ๑ ไปเก็บผักกับคุณครู พี่อนุบาล ๒ และ ๓ หั่นผักและเจียวไข่ให้ทุกคน เพราะเป็นงานที่ต้องใช้ความระมัดระวัง ทั้งมีดที่คมและกระทะที่ร้อน แต่ทุกคนได้ตอกไข่ใส่ถ้วยและเติมผักตามที่ตัวเองชอบ ใครไม่ชอบกินผักก็ใส่น้อยหน่อย ใครชอบมากก็ใส่มาก บรรยากาศการทำอาหารอบอวลไปด้วยความสนุกและการลุ้น โดยมีพี่อนุบาล ๓ สวมบทบาทพ่อครัวแม่ครัว ใช้มือจับด้ามกระทะอย่างทะมัดทะแมง เพื่อไม่ให้กระทะเลื่อนขณะเจียวไข่ (ประสบการณ์เดิมจากตอนเป็นพี่ อ.๒) ชวนกันสังเกตว่าไข่สุกหรือยัง ก่อนจะตักใส่จานแล้วนำมารับประทานร่วมกันอย่างเอร็ดอร่อย จนไข่เจียวหมดอย่างรวดเร็ว
“อร่อยมาก” เด็กๆ ส่วนใหญ่บอกเป็นเสียงเดียวกันในวงสะท้อนการเรียนรู้ก่อนกลับบ้าน
“หน้าตาน่ากลัว แต่มันอร่อย” น้อง อ.๑ พูดถึงไข่เจียวดอกอัญชันที่สีเปลี่ยนไปหลังโดนความร้อน
“มันเค็มไป แต่กินกับข้าวก็พอดีนะ” เสียงสะท้อนของพี่ อ.๒
ไข่เจียวผักที่ทุกคนช่วยกันทำครั้งแรกออกมาเป็นที่น่าพอใจ เด็กๆ จึงอยากทำอีก พร้อมทั้งขอให้ครูสั่งไข่เพิ่ม เพราะครั้งนี้ไข่เจียวหมดเร็ว บางคนบอกว่ายังกินไม่อิ่ม ครั้งต่อมาครูจึงสั่งไข่เพิ่มเป็น ๓๐ ฟอง เด็กๆ เก็บผักมามากขึ้น ทั้งยังเก็บดอกแคและชะอมที่อยู่ข้างแปลงผักเพิ่มมาด้วย คนที่ชอบกินผักก็ใส่ผักมากขึ้น ไข่เจียวผักในวันนี้จึงหลากหลายและมีปริมาณมากกว่าครั้งก่อนสมความตั้งใจของเด็กๆ แต่พอนั่งกินร่วมกัน บางคนกลับรู้สึกว่าไข่เจียวผักในวันนี้อร่อยน้อยกว่าครั้งแรก เป็นเพราะอะไรกันนะ
“ผมว่าผักมันเยอะไป ครั้งแรกอร่อยกว่า”
“ผมก็ว่าผักมันเยอะไปนะ”
งานครัวเป็นพื้นที่เรียนรู้จากการลงมือทำจริง ลองผิดลองถูก และพบคำตอบด้วยตนเอง จากที่คาดเดาว่าถ้าใส่ผักเยอะขึ้น จะยิ่งอร่อย เมื่อลงมือทำจริง จึงรู้ว่าไม่เป็นอย่างที่คิด ทำบ่อยๆ เด็กจะค้นพบอัตราส่วนที่เหมาะสม รู้ว่าต้องใส่ผักปริมาณเท่าไร ไข่เจียวของเขาจึงจะอร่อย
เมื่อครูวางใจว่างานครัวเป็นพื้นที่การเรียนรู้ของเด็ก เป็นงานของเด็ก ไม่ใช่งานครู ครูจะเปิดโอกาสให้เด็กทำเองในทุกขั้นตอน ครูเพียงบอกกล่าวข้อควรระวังเรื่องความปลอดภัย คอยดูอยู่ใกล้ๆ และทำไปด้วยกัน เด็กจะรับรู้ถึงการเป็นเจ้าของงาน เขาจึงกระตือรือร้นเสนอความคิดเห็น อยากมีส่วนร่วม สนุกที่จะลงมือทำ ทำอย่างตั้งใจ และภาคภูมิใจเมื่อทำสำเร็จ
ไข่เจียวผักจานเล็กๆ นี้คือความภาคภูมิใจที่ทำให้เด็กรับรู้ถึงการเติบโตของตนเอง รู้สึกว่าเขาทำการงานได้เหมือนผู้ใหญ่ (ได้หยิบจับและใช้อุปกรณ์ครัวของจริง ทำอาหารที่กินได้จริง ช่วยกันเก็บล้าง) รู้ว่าเขาทำอะไรได้ และรู้ว่าเขาทำอะไรได้ดี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเรียนรู้และทำสิ่งต่างๆ อย่างมั่นคงและมั่นใจ