การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ,  โรงเรียนอนุบาล

ความสัมพันธ์ที่ดีทำให้เราวางใจกัน ก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ดีในทุกๆ ที่

#เรื่องเล่าจากห้องเรียน
เล่าเรื่องโดย : ครูแพรว-พิมพ์ชนก นิยมาภา ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ

หลังจากเรียนรู้หน่วยบูรณาการ คุณครูและเด็กๆ พากันออกไปวิ่งเล่นกลางแจ้ง วันนี้เด็กๆ ขอให้ครูแพรวมาเล่นด้วย ให้เป็นหมาป่าวิ่งไล่เด็กๆ ครูแพรวไม่รอช้า สวมบทบาทหมาป่าวิ่งไล่เด็กๆ อย่างสนุกสนาน วิ่งไปสักพักทุกคนเริ่มเหนื่อย เลยพากันมานั่งพักใต้ร่มไม้ ระหว่างนั้นเด็กอนุบาล ๑ คนหนึ่งหยิบกระติกน้ำของครูมายื่นให้ ครูแพรวรับมาและกล่าวขอบคุณ

ครูแพรว “ขอบคุณนะ … แล้วทำไมถึงหยิบน้ำมาให้ครูคะ”
เด็ก อ.๑ “ก็ผมเห็นครูแพรวเหนื่อยไง ก็เลยหยิบน้ำมาให้ ผมอยากหยิบมาให้ครูแพรว”

น้องเล็กคนนี้เพิ่งมาโรงเรียนได้ไม่นาน เพิ่งเริ่มปรับตัวกับสภาพแวดล้อมและบริบทรอบตัวที่ยังใหม่สำหรับเขา ยังไม่ได้สนิทกับครูเท่ากับพี่ อ.๒ อ.๓ ที่มักจะมาช่วยครูทำสิ่งต่างๆ แบบรู้ใจกัน เมื่อได้ยินคำตอบ ครูจึงรู้ว่า การที่ครูคอยอยู่ข้างๆ อย่างใกล้ชิด ใส่ใจรับฟังและทำทุกอย่างไปด้วยกันตั้งแต่เริ่มแรก หรือการสวมบทบาทเป็นหมาป่าบ้าง ซอมบี้บ้าง ตามแต่เด็กๆ จะร้องขอ แล้วเป็นเพื่อนเล่นกับเด็กๆ ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็กๆ (Positive relationships) อย่างเป็นธรมชาติ จนเกิดการวางใจกันและกัน และอยากจะทำสิ่งดี ๆ ให้แก่กัน

ระหว่างที่ครูพูดคุยกับน้องเล็กอยู่นั้น เด็กๆ ที่อยู่ใกล้ๆ เริ่มเดินเข้ามาหาครู แล้วชวนกันคุย

“ถ้าเหนื่อยก็ต้องกินน้ำ ครูแพรวรู้ไหม หนูพับกระดาษเป็นด้วยนะ แค่พับกลับไปกลับมา กลับไปกลับมา (ทำมือประกอบ) แล้วก็ผูกตรงปลาย มันทำเป็นลมได้นะ ทำให้เราหายร้อน” เด็กอนุบาล ๒ พูดขึ้น ครูแพรวรู้แล้วว่าพี่กลางกำลังพูดถึงการพับพัดกระดาษนั่นเอง

เด็กอีกคนที่อยู่ไม่ไกลก็เข้ามาพร้อมด้วยใบไม้ในมือ แล้วโบกใบไม้ไปมาตรงหน้าครู “เย็นไหมๆๆ” พอครูตอบว่า “เย็นนะ” เขาจึงส่งใบไม้ให้ครู ครูนำไปพัดให้น้องเล็กที่นั่งอยู่ข้างๆ แล้วถามบ้างว่า “เย็นไหมๆ” หลังจากนั้นทุกคนก็เก็บใบไม้มาพัดคลายร้อนกันอย่างสนุกสนาน พร้อมส่งเสียง “เย็นๆ” “เย็นจังๆ” ไปด้วย

“รู้ไหม ถ้าเราไม่มีอากาศ เราก็สามารถใช้ใบไม้มาพัดได้นะ” เด็กคนหนึ่งพูดขึ้น

“อ๋อ ถ้าไม่มีลม เราใช้ใบไม้พัดให้เกิดลมได้ หรือจะทำพัดกระดาษมาทำให้เกิดลมก็ได้ โห ดีจังเลย ถึงไม่มีอากาศพวกเราก็ยังหาทางรอดได้ แบบนี้พวกเราก็แก้ปัญหากันได้แล้วสิ” ครูช่วยสรุปและทบทวนสิ่งที่เด็ก ๆ กำลังถ่ายทอดความเข้าใจของตนเอง

“งั้นเราต้องปลูกต้นไม้นะ” เด็กอีกคนกล่าว
“ทำไมเราต้องปลูกต้นไม้ล่ะ” คุณครูถาม
“ถ้าเราไม่ปลูกต้นไม้ เราก็ไม่มีใบไม้ร่วงลงมาไว้พัดไง” เด็กคนเดิมตอบ
“ต้นไม้เป็นร่มได้ด้วยนะ” เด็กอีกคนช่วยเสริม

บทสนทนาใต้ร่มไม้ในวันนั้นดำเนินต่อไปด้วยเรื่องประโยชน์ของต้นไม้ เด็กๆ ผลัดกันบอกเล่า รับฟังและต่อบทสนทนากันอย่างลื่นไหล ครูเองก็ร่วมสนทนาด้วย คอยตั้งคำถามเพื่อให้เด็กคิดต่อ และค่อยๆ เรียบเรียงสิ่งที่เขาอยากจะสื่อสารอย่างเป็นระบบมากขึ้น เป็นช่วงเวลาที่เด็กๆ ได้สื่อสารความรู้ความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์จากการสังเกตธรรมชาติ และได้พัฒนาทักษะภาษาเพื่อการสื่อสารอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะเป็นเรื่องที่พวกเขากำลังสนใจ ในสถานที่จริงที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้น

เด็กเล็กๆ วัยอนุบาลต้องการความอบอุ่นเป็นพื้นฐาน ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครูและเด็กจึงเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนรู้ เมื่อครูร่วมเล่นสนุกไปกับเขาเหมือนเพื่อนคนหนึ่ง เปิดโอกาสให้เขาได้พูด ได้บอกเล่าความคิด ความรู้สึก รับฟังอย่างตั้งใจ และพูดคุยไปกับเขา เด็กจะรู้สึกวางใจ กล้าสื่อสารความคิดของเขาออกมา จนเกิดบรรยากาศการเรียนร่วมกันอย่างเป็นธรรมชาติ