“การแห่จุลกฐิน” วัฒนธรรมสร้างความสามัคคี
วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๖๕ นักเรียนชั้น ม.๓/๔ จัดขบวนแห่จุลกฐินบอกบุญชาวชุมชนรุ่งอรุณ เพื่อนำปัจจัยไปร่วมทำบุญงานจุลกฐิน วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ในวันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักเรียนจะลงพื้นที่ภาคสนามเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาที่อำเภอแม่แจ่มพอดี
จากการศึกษาข้อมูลก่อนออกภาคสนาม นักเรียนพบว่าการแห่จุลกฐินเป็นวัฒนธรรมล้านนาที่มีความหมายแตกต่างจากมหากฐิน กล่าวคือ ผ้าไตรจีวรที่นำมาถวายนั้นจะต้องมาจากการเก็บฝ้าย กรอฝ้าย ทอผ้า ตัดเย็บ ย้อม และถวาย ที่ต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน ๑ วัน อันสะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริง การร่วมแรงร่วมใจ และความสามัคคีของผู้คนในชุมชนเป็นอย่างมาก
นักเรียนจึงนำเอาความหมายของความสามัคคีมาออกแบบกิจกรรม “การแห่จุลกฐิน” เพื่อให้ชุมชนชาวรุ่งอรุณได้ร่วมแรงร่วมใจ “สมัครสมานสามัคคี” พร้อมทั้งเรียนรู้วัฒนธรรมล้านนาผ่านการเตรียมงานในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสืบค้นหาข้อมูลความรู้ การลงมือทำชิ้นงานต่างๆ ที่ใช้ในขบวนแห่ อันได้แก่ ดอกเทียน ตุงชัย ต้นกฐิน ตุงมะโหวต ตุงจระเข้ และการแต่งตายตามแบบชาวล้านนา รวมถึงการเล่นเครื่องดนตรี กลองสะบัดชัย โหม่ง ฉาบ โดยมีครูศิลปะและครูดนตรีไทยเป็นผู้ให้ความรู้ทั้งวิธีการทำ การเข้าใจความหมายที่ซ่อนอยู่ และการย้อนมองสะท้อนตนเองผ่านการทำงาน
จากนั้นจึงประชาสัมพันธ์งานเชิญชวนเพื่อนๆ พี่ๆ และน้องๆ ในโรงเรียนประถมและมัธยม ร่วมบุญจุลกฐินในช่วงโฮมรูม โดยให้แต่ละห้องเรียนร่วมกันเขียนความหมายดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับความสามัคคีลงในตุงช่อที่ใช้ประดับในต้นกฐิน และจัดขบวนแห่จุลกฐินไปตามส่วนต่างๆ ในโรงเรียน เพื่อเชิญชวนชาวชุมชนรุ่งอรุณร่วมบุญจุลกฐินด้วยกัน โดยเริ่มตั้งขบวนที่โรงช้าง แล้วแห่ไปยังสนามฟุตบอลประถม โรงเรียนนานาชาติรุ่งอรุณ สำนักงานเรือนไทย สถาบันอาศรมศิลป์ และจุดสุดท้ายที่อาคารเรียนมัธยมศึกษา โดยมีคุณครู บุคลากร และนักเรียน ร่วมทำบุญกับขบวนแห่มาตลอดทาง
หลังจบงานนักเรียนล้อมวงสะท้อนการเรียนรู้ว่า การจัดงานแห่จุลกฐินทำให้เข้าใจเกี่ยวกับความสามัคคีมากขึ้น และได้ค้นพบศักยภาพของตนเองที่สามารถทำงานใหญ่ร่วมกันได้ จนเกิดสิ่งดีๆ ที่ได้ค้นพบในตัวเอง และจากเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน
“ตอนแรกรู้สึกท้าทาย แต่ยังมองงานไม่ออก พอค่อยๆ ทำก็อยากทำงานให้สำเร็จ พองานเสร็จก็รู้สึกภูมิใจ ชอบเสียงดนตรีในพิธีแห่จุลกฐิน เหมือนเสียงมันทำให้พวกเรามีพลัง จากขบวนที่เดินกันไม่เข้าที่เข้าทาง ก็ดูเป็นระเบียบ” รินรดา วชิรโรจน์ไพศาล นักเรียนชั้น ม.๓/๔
“กังวลบางช่วง กลัวทำไม่ทัน แต่สนุก ภูมิใจที่เห็นเพื่อนๆ ทำงานด้วยกันสำเร็จ” อัญญา โพธิ์รุ่ง นักเรียนชั้น ม.๓/๔
“ไม่คิดว่าห้องเราที่ดูเล่นๆ จะทำงานจริงจังออกมาได้” ปุณภูมิ ปุณโณทก นักเรียนชั้น ม.๓/๔
“สิ่งดีๆ สำหรับหนูคือการได้เห็นการทำงานแบบทั้งห้องเป็นครั้งแรก ทำให้รู้สึกว่าพวกเราได้สามัคคี ได้พูดคุย และได้ทำงานเป็นทีมเดียวกัน โดยมีจุดหมายร่วมกัน และทำให้ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ไปกับเพื่อนๆ ทั้งห้อง” ณปภา ธงสินธุศักดิ์ นักเรียนชั้น ม.๓/๔
ขออนุโมทนาบุญกับทุกท่านมา ณ โอกาสนี้