“ตุงช่อน้อยรุ่งอรุณ” ตัวแทนความสามัคคีของชุมชนรุ่งอรุณ
สืบเนื่องจากโครงงานศึกษาวัฒนธรรมล้านนาของนักเรียนชั้น ม.๓/๔ ที่ได้จัดขบวนแห่จุลกฐินบอกบุญชาวชุมชนรุ่งอรุณ เพื่อนำปัจจัยไปร่วมทำบุญงานจุลกฐิน วัดยางหลวง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ไปก่อนหน้านี้ ใครที่ได้ร่วมบุญในวันนั้นคงจะสังเกตเห็นกระดาษสีที่มีข้อความเขียนปักอยู่บนต้นกฐินร่วมกับปัจจัยที่ทุกคนร่วมทำบุญ กระดาษสีๆ เหล่านี้คือ “ตุงช่อน้อยรุ่งอรุณ” ที่นักเรียนจัดทำขึ้นเพื่อสื่อถึงความสามัคคีของชาวชุมชนรุ่งอรุณ อันเป็นคุณค่าสำคัญของงานจุลกฐินของชาวล้านนา
“ตุงช่อน้อยรุ่งอรุณ” คือตุงที่นักเรียนชั้น ม.๓/๔ ร่วมกันออกแบบต่อยอดจากตุงช่อน้อยที่ใช้ในพิธีมงคลของวัฒนธรรมล้านนา จากเดิมที่เพียงฉลุลายลงบนกระดาษ นักเรียนได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นการเขียนข้อความลงบนตุง โดยยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิมด้วยการตัดขอบตุงเป็นขั้นบันไดตามความเชื่อของชาวล้านนาที่หมายถึงการสั่งสมความดีไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวขึ้นสู่สวรรค์
นักเรียนได้นำ “ตุงช่อน้อยรุ่งอรุณ” แจกจ่ายบอกบุญไปตามห้องเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา เพื่อให้คุณครูและนักเรียนแต่ละห้องได้มีส่วนร่วมในงานบุญจุลกฐินวัดยางหลวง ประจำปี ๒๕๖๕ ณ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ ที่นักเรียนจะลงพื้นที่ภาคสนามศึกษาวัฒนธรรมล้านนา ซึ่งนอกจากบอกบุญร่วมปัจจัยแล้ว นักเรียนยังได้ชวนทุกคนทบทวนความสำคัญของคำว่า “ความสามัคคี” อันเป็นหัวใจสำคัญของงานจุลกฐิน เช่น ความสามัคคีคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร นักเรียนแต่ละห้องเคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับความสามัคคีร่วมกันในเรื่องใดบ้าง แล้วเขียนคำตอบลงใน “ตุงช่อน้อยรุ่งอรุณ” ก่อนจะนำไปติดบนต้นกฐิน และนำแห่บอกบุญไปรอบโรงเรียนรุ่งอรุณ รวมถึงชุมชนใกล้เคียง รวมทั้งตั้งต้นกฐินไว้ที่โรงช้างเพื่อบอกบุญไปยังผู้ปกครองและชาวชุมชนรุ่งอรุณ
วันที่ ๕-๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ครูและนักเรียนชั้น ม.๓/๔ ได้นำต้นกฐินของชาวชุมชนรุ่งอรุณ ยอดบุญจำนวน ๖๒,๑๑๔ บาท ไปร่วมทำบุญในงานจุลกฐิน ประจำปี ๒๕๖๕ ณ วัดยางหลวง ต้นกฐินที่ประดับด้วยปัจจัยที่ชาวชุมชนรุ่งอรุณมีศรัทธาร่วมบุญ และ “ตุงช่อน้อยรุ่งอรุณ” นับเป็นตัวแทนความสามัคคีของนักเรียน ครู บุคลากร ผู้ปกครอง และชาวชุมชนรุ่งอรุณ ซึ่งเป็นชุมชนหนึ่งในกรุงเทพฯ เดินทางไปรวมพลังความสามัคคีกับชาวชุมชนแม่แจ่มในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อเกิดเป็นความงดงามของพลังแห่งศรัทธาที่ช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป