เล่นอย่างรู้คุณค่าน้ำ
การเล่นของเด็ก ๆ ที่สนามเด็กเล่นมักมีน้ำเป็นส่วนประกอบอยู่เสมอ เด็ก ๆ ชอบนำน้ำมาเล่นร่วมกับดอกไม้ ใบไม้ กิ่งไม้ หิน ดิน ทราย ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติที่หาได้ง่ายบริเวณสนามเด็กเล่น ทั้งเล่นขุดสระน้ำ เล่นทำอาหาร เล่นก่อกองทราย การเล่นเหล่านี้แฝงไปด้วยทักษะและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เด็ก ๆ ได้ “สังเกต ตั้งสมมติฐาน ทดลอง สรุป” เมื่อเล่นซ้ำ ๆ เด็กจะเกิดกระบวนการคิดรวบยอดจนเป็นความเข้าใจของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการไหลของน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ การละลายของดินในตัวทำละลายอย่างน้ำ การดูดซับน้ำของทราย เป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการทดลองเล่นตามธรรมชาติของวัยอนุบาล
บ่อยครั้งคุณครูเห็นเด็ก ๆ นำอุปกรณ์ของเล่นมารองน้ำจากก๊อกน้ำไปเล่นสนุกจนเกินความจำเป็น บางครั้งสาดน้ำเล่นกัน และบางครั้งเผลอเปิดก๊อกน้ำทิ้งไว้ ครูจึงชวนเด็ก ๆ พูดคุยและสร้างข้อตกลงร่วมกันในการเล่นน้ำอย่างรู้คุณค่า โดยได้ข้อสรุปของห้องว่า ถ้ามาเล่นที่สนามเด็กเล่นแล้วเด็ก ๆ ต้องการใช้น้ำ ทุกคนจะช่วยกันนำกะละมังใบใหญ่ที่ครูเตรียมไว้ให้มารองน้ำจากก๊อก แล้วนำไปใช้เล่นร่วมกัน โดยการเล่นแต่ละครั้งจะใช้น้ำไม่เกิน ๑ กะละมัง
วันต่อมาเมื่อมาเล่นที่สนามเด็กเล่น ครูจึงปล่อยให้เด็ก ๆ ลงมือทำตามกติกาที่ตกลงกันไว้ แล้วคอยสังเกตอยู่ใกล้ ๆ หลากหลายการกระทบกระทั่งกันเกิดขึ้นรอบกะละมังน้ำใบใหญ่ ช่วงแรก ๆ เด็ก ๆ กรูเข้ามาเบียดแย่งกันตักน้ำจนน้ำในกะละมังกระฉอกและลดปริมาณลงไป เด็ก ๆ โทษกันไปมา ครูจึงเข้ามาพูดคุยชวนเด็ก ๆ ทบทวนเหตุการณ์และช่วยกันหาทางแก้ไข เด็ก ๆ เห็นร่วมกันว่า คนที่มาก่อนควรได้ตักน้ำก่อน ส่วนคนที่มาทีหลังให้รอตักน้ำในลำดับถัดไป
เด็ก ๆ เวียนกันตักน้ำจนน้ำในกะละมังเปลี่ยนเป็นสีโคลนจากทรายที่หล่นลงไป การพูดคุยกันของเด็ก ๆ เริ่มขึ้นอีกครั้ง โดยครั้งนี้ครูเพียงเฝ้ามองดู ปล่อยให้เด็ก ๆ คิดแก้ไขปัญหาร่วมกัน เด็ก ๆ สังเกตเห็นว่าภาชนะที่แต่ละคนนำมาตักน้ำนั้นมีทรายเปื้อนอยู่ พี่โตอนุบาล ๓ จึงแนะนำให้ใช้ภาชนะที่ไม่เปื้อนทรายมาตักน้ำ พี่กลางอนุบาล ๒ อาสาใช้ภาชนะที่ไม่เปื้อนทรายคอยตักน้ำให้กับทุกคน การเล่นจึงดำเนินต่อไป
ไม่นานนักเด็ก ๆ เดินมาบอกครูว่าน้ำในกะละมังกำลังจะหมด ครูไม่พูดอะไร เพียงพยักหน้ารับคำ
“บอกแล้วครูให้ใช้น้ำแค่กะละมังเดียว ตักกันไม่แบ่ง น้ำเลยหมดเร็ว ครั้งหน้าต้องแบ่ง ๆ กัน”
เสียงของเด็ก ๆ พูดคุยกันระหว่างเดินกลับไปที่กะละมังน้ำ ก่อนจะช่วยกันเอียงกะละมังและตักน้ำที่เหลือก้นกะละมังไปใช้เล่นจนหมด ช่วงเวลาเล่นที่เหลือเด็ก ๆ เล่นน้ำเท่าที่แต่ละคนมี คนไหนน้ำหมดก็ขอแบ่งปันจากเพื่อน
หมดเวลาเล่นครูชวนเด็ก ๆ นำกะละมังมารองน้ำจากก๊อกน้ำเพิ่มเพื่อให้เด็ก ๆ หยิบหม้อ กระทะ ตะหลิว กระบวย และบรรดาอุปกรณ์ของเล่นที่เปื้อนโคลนมาจุ่มล้างน้ำ แล้วนำไปเก็บที่ชั้นเก็บของเล่นข้างสนามเด็กเล่น หลังจากล้างเสร็จแล้ว พี่โตอนุบาล ๓ เสนอให้นำน้ำที่เหลือในกะละมังไปรดน้ำต้นไม้ที่อยู่ข้างสนามเด็กเล่น น้องเล็กอนุบาล ๑ ขอช่วยพี่ ๆ ด้วยอีกแรง เด็ก ๆ ช่วยกันขนน้ำล้างของเล่นไปเทรดต้นไม้
“กินน้ำเยอะ ๆ นะ จะได้โต” เด็ก ๆ พูดกับต้นไม้ จากนั้นจึงช่วยกันล้างกะละมังแล้วนำไปเก็บที่ชั้นวาง รอให้เพื่อนห้องอื่นมาใช้ต่อ
การเล่นโดยใช้น้ำไม่เกิน ๑ กะละมัง เป็นโจทย์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของเด็ก ๆ จึงนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาที่เด็กเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของเขาเอง เด็ก ๆ ได้พูดคุยกันเพื่อหาวิธีการจัดการดูแลน้ำซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด และทุกคนมีส่วนเกี่ยวข้อง ทำให้เด็กเห็นถึงคุณค่าของน้ำ รู้จักแบ่งปัน และเรียนรู้ความรับผิดชอบในการช่วยกันดูแลทรัพยากรส่วนรวม
…
เรื่องเล่าจากห้องเรียน โดย ครูเอ-อรทัย โรจนดุล
ฝ่ายอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ