เติบโตจากโรงเรียน เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ลีโอ – ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย
“ภาพจำของเด็กโรงเรียนนี้ ข้อดีก็คือเป็นเด็กที่มีความคิดความอ่าน มีความเป็นตัวของตัวเอง กล้าแสดงออก ทำงานเก่ง แต่อีกฝั่งหนึ่งก็จะมีเสียงที่บอกว่า เด็กรุ่งอรุณดื้อ แรง และไม่อยู่ในกฎระเบียบ”
“ลีโอ – ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย” บอกกับ Mappa ขณะที่นั่งสนทนากันในร้านกาแฟแห่งหนึ่ง หากจะบอกว่าลีโอคือ pure blood แห่งโรงเรียนรุ่งอรุณก็คงไม่ผิดนัก จากน้องอ.1 จนเป็นพี่ ม.6 ของโรงเรียนทางเลือกแห่งความหวังของพ่อแม่ สู่ศิษย์เก่าด้านสถาปัตยกรรมของ University College London วันนี้ลีโอคือนักออกแบบรุ่นใหม่ที่กลับมารันวงการออกแบบของไทยอย่างเต็มตัว และสิ่งที่โรงเรียนรุ่งอรุณได้บ่มเพาะนักออกแบบคนนี้ คือการรู้จักตัวเอง รู้จักคนอื่น และรู้จักสังคม ซึ่งเขาบอกว่าเป็นคุณลักษณะสำคัญของการเป็นมนุษย์ในสังคม
“เวลาเราพูดถึงพุทธ เราพูดถึงคุณลักษณะของคน เราพูดว่ามนุษย์คนหนึ่งต้องมีคุณลักษณะอะไรบ้างในการเติบโต เราต้องเลือกว่าเราจะเป็นคนอย่างไร เราต้องเลือกว่าเราจะประพฤติตัวอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไร”
แม้จะได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกวิถีพุทธ แต่สิ่งที่อยู่ลึกลงไปกว่าพฤติกรรมและวิถีธรรมเนียมปฏิบัติแบบพุทธศาสนา คือหลักปรัชญาที่ถูกนำมาปรับใช้กับการเรียนรู้โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อสร้างการเติบโตของมนุษย์คนหนึ่งในสังคมที่มีความหลากหลาย
“ถ้าเรามองว่าพุทธเป็นธรรมชาติของมนุษย์ เป็นลักษณะของมนุษย์ เป็นการเข้าใจตัวเอง เป็นการเห็นตัวเอง เป็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เป็นความช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสังคม ผมคิดว่าโรงเรียนก็แทรกวิถีพุทธลงมาในการสร้างสังคมบางอย่างในโรงเรียน เป็นสังคมที่มีความถูกต้อง ทุกคนต้องเท่าเทียมกันหมด เรามีความหลากหลายของนักเรียนที่เข้ามาเรียนในชั้น แต่ทุกคนยอมรับความหลากหลายซึ่งกันและกัน ทุกคนอยู่ร่วมกัน ช่วยเหลือกัน”
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่ เติบโตจากโรงเรียน เรื่องเล่าจากศิษย์เก่า “โรงเรียนรุ่งอรุณ” ลีโอ – ศุภวุฒิ ธีระวัฒนชัย