เรียนรู้วิถีปกาเกอะญอ ณ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
วันที่หนึ่ง : สร้างความสัมพันธ์
วันแรกที่เดินทางมาถึงเชียงใหม่ ก่อนเดินทางขึ้นดอยไปบ้านสบลาน นักเรียนแวะพูดคุยกับชาวบ้านในละแวกวัดศรีอุดม ต.น้ำบ่อหลวง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมพื้นราบที่จะได้ประโยชน์จากการสร้างเขื่อนแม่ขาน ว่าคิดเห็นอย่างไรกับโครงการเขื่อน โดยแบ่งกลุ่มไปสอบถามความเห็นตามบ้านและร้านค้าในชุมชน
เมื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกัน นักเรียนพบว่าชาวบ้านมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน กลุ่มที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่าน้ำไม่พอทำนาทำไร่ โดยเฉพาะในช่วงหน้าแล้ง (เดือนมีนาคม-เมษายน) ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง กลุ่มตรงกลางรู้สึกเห็นใจคนบนดอยที่จะต้องอพยพหากมีการสร้างเขื่อน แต่อีกใจหนึ่งก็อยากได้น้ำมาทำการเกษตร ขณะที่ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งซึ่งไม่ได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลักไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อน เพราะเห็นใจคนบนดอยที่จะได้รับผลกระทบ และมองว่าที่นำไม่พอทำการเกษตรเพราะชาวบ้านทำนาปีละ ๓ ครั้ง
นอกจากได้ข้อมูลแล้ว นักเรียนยังได้เรียนรู้ทักษะการสัมภาษณ์ข้อมูลในพื้นที่ที่มีขัดแย้ง ที่นักเรียนจะสอบถามตรงๆ ไม่ได้ แต่ต้องใช้ศิลปะการพูดคุยสร้างความสัมพันธ์ก่อน โดยอาจเริ่มจากเรื่องการเกษตรที่เป็นอาชีพหลัก ผลผลิต การใช้น้ำเพื่อการเกษตร แล้วค่อยโยงเข้าสู่เรื่องเขื่อนที่เป็นประเด็นหลัก ให้การพูดคุยเป็นธรรมชาติ ผู้ถูกสัมภาษณ์สบายใจที่จะพูดคุยและให้ข้อมูล
“สิ่งที่สำคัญกว่าข้อมูลความรู้ คือความสัมพันธ์ อย่ามุ่งอยู่แต่กับคำถามและคำตอบที่เราต้องการ โดยเฉพาะในกรณีที่มีความขัดแย้งอยู่ เราเป็นคนกลางที่เข้ามาศึกษาเรื่องนี้ เราไม่ได้เป็นฝ่ายไหน สิ่งหนึ่งที่ต้องทำคู่ไปกับการหาความรู้ คือการสร้างความสัมพันธ์” ครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ ครูประจำวิชาโครงงานฯ กล่าวกับนักเรียน
จากสันป่าตองมาถึงบ้านสบลานในช่วงบ่าย นักเรียนแบ่งกลุ่มแยกพักอาศัยกับชาวบ้าน บ้านละ ๒-๓ คน ให้นักเรียนได้ฝึกใช้ชีวิตแบบชาวปกาเกอะญอ ฝึกนิสัยอยู่ง่าย กินง่าย เรียนรู้การปรับตัวอยู่ร่วมกับสิ่งไม่คุ้นเคย ผู้คนที่ไม่คุ้นเคย ความไม่สะดวกสบายต่างๆ เผชิญปัญหาที่ไม่อาจคาดเดา แล้วผ่านพ้นอุปสรรคเหล่านั้นด้วยมุมมองเชิงบวก
“เมื่อไปถึงบ้าน ให้นักเรียนฝากตัวเป็นลูกเป็นหลานของโม (แม่) ปา (พ่อ) หรือพะตี่ (ลุง) แต่ละบ้าน สังเกตสิ่งรอบตัว ดูว่าเขาทำอะไร แล้วเข้าไปหยิบจับช่วยเหลือในสิ่งที่เราทำได้ เพราะเราไม่ใช่นักวิจัยที่จะมาเอาข้อมูลความรู้แล้วจากไป แต่เรามาที่นี่เพื่อเรียนรู้และฝึกทักษะชีวิต” ครูเปรมปรีติพูดคุยสร้างความเข้าใจร่วมกันกับนักเรียน ก่อนจะแยกย้ายกันไปพักตามบ้านที่ผู้นำหมู่บ้านจัดสรรไว้ให้