เรียนรู้วิถีปกาเกอะญอ ณ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
วันที่ห้า : นำเสนอความรู้สู่ชุมชน
วันนี้เป็นวันสุดท้ายที่จะใช้ชีวิตและเรียนรู้อยู่ในชุมชน นักเรียนร่วมกันจัดเวทีนำเสนอความรู้สู่ชุมชน ในประเด็นที่ว่า หนึ่ง ทำไมนักเรียนถึงเลือกทำหัวข้อนี้ สอง เรื่องนี้สะท้อนชีวิตที่พึ่งพิงทรัพยากรป่าและน้ำอย่างไร ถือเป็นภูมิปัญญาที่สำคัญอย่างไร และสาม บอกเล่าข้อมูล/ความรู้ของเรื่องนั้นที่นักเรียนได้รู้มา โดยมีผู้นำหมู่บ้าน ผู้เฒ่าผู้แก่ที่นักเรียนไปขอความรู้ โมและปา รวมทั้งเด็กๆ ในชุมชนมาร่วมรับฟัง ให้ชุมชนได้รู้ว่าพวกเขาได้เรียนรู้อะไรบ้าง แล้วรู้สึกหรือเห็นคุณค่าอะไรในเรื่องที่ได้รู้ ขณะเดียวกันเชาวบ้านสบลานที่เป็นเจ้าของเรื่องราวก็ช่วยแก้ไขส่วนที่นักเรียนเข้าใจคลาดเคลื่อน ช่วยเสริมในประเด็นที่ตกหล่น ทำให้ข้อมูลมีความถูกต้องและครบถ้วนยิ่งขึ้น
ตัวอย่างความรู้ที่นักเรียนนำเสนอสู่ชุมชน
“ผังชุมชนสะท้อนให้เห็นว่าชาวปกาเกอะญอมีวิธีคิดและวิถีชีวิตที่พึ่งพาป่าอยู่ตลอดเวลา แม้แต่ในชุมชน รอบๆ บ้านของตัวเองก็อุดมไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นทั้งอาหาร สมุนไพร สิ่งศักดิ์สิทธิ์ และร่มเงา ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน” กลุ่มศึกษาเรื่องผังชุมชน
“ไร่หมุนเวียนเป็นภูมิปัญญาของชาวปกาเกอะญอที่ต่างกับการทำไร่เลื่อนลอย วิธีการทำไร่หมุนเวียน คือ หลังจากทำไร่เสร็จแล้วจะพักไร่นั้นเป็นเวลา ๗ ปี เพื่อฟื้นฟูสภาพดินและรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติให้ยังคงอยู่อุดมสมบูรณ์เหมือนตอนก่อนจะทำไร่ ในปีถัดไปจะเวียนไปทำไร่ในอีกพื้นที่ที่มีการพักมาแล้ว ๗ ปีเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดระบบนิเวศน์ที่หลากหลาย และเป็นการรักษาทรัพยากรไว้ให้อุดมสมบูรณ์ดังเดิม โดยไร่หมุนเวียนจะใช้น้ำฝนเท่านั้น เป็นการทำการเกษตรด้วยระบบธรรมชาติ ปลูกพืชที่หลากหลาย เปรียบเหมือนตู้กับข้าวของชาวปกาเกอะญอ เป็นการทำไร่ที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ต่างกับการทำไร่เลื่อนลอยที่คิดแต่จะเอาอย่างเดียว นึกถึงแต่ตัวเอง และไม่ยั่งยืน” กลุ่มศึกษาเรื่องภูมิปัญญาไร่หมุนเวียน
“ชาวบ้านที่นี่อาจไม่จำเป็นต้องใช้เงินมากมาย เขาก็อยู่ได้ แต่ในความเป็นจริง ชาวบ้านยังต้องใช้เงินอยู่บ้าง เช่น ในการลงทุนทำเกษตร ชาวบ้านที่นี่จึงเลี้ยงสัตว์เป็นกระปุกออมสิน เช่นการเลี้ยงหมู ที่ได้ลูกหมูมาฟรีจากพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ อาหารหมูก็ฟรีเพราะใช้อาหารเหลือจากคนและแกลบ การเยงหมูจึงแทบไม่มีต้นทุนและมีแต่กำไร เมื่อต้องการเงิน ก็เหมือนการทุบกระปุกออมสินเอาเงินมาใช้ คือการเอาหมูไปขาย” กลุ่มศึกษาเรื่องวิถีการเลี้ยงสัตว์
“ชาวปกาเกอะญอผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำ ใช้น้ำอย่างประหยัด ไม่สิ้นเปลือง พอเพียง ด้วยแนวคิดที่ว่า “น้ำไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง” ทำให้ชาวปกาเกอะญอผู้อาศัยอยู่ใกล้ทรัพยากรน้ำอันล้ำค่า ใช้น้ำอย่างรักษาและรู้คุณค่าอยู่เสมอ นอกจากนี้พวกเขายังใช้น้ำโดยคิดถึงคนปลายน้ำว่าจะได้ใช้น้ำที่สะอาดและเพียงพอหรือไม่” กลุ่มศึกษาเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ
ก่อนเดินทางกลับ ชาวบ้านสบลานได้จัดพิธีบายศรีผูกข้อมือเรียกขวัญให้กับนักเรียนและคุณครู ตามประเพณีความเชื่อของชาวปกาเกอะญอ ที่จะเรียกขวัญลูกหลานเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมกล่าวเชิญชวนให้กลับมาเยือนชุมชนบ้านสบลานอีกครั้งเมื่อมีโอกาส
การเรียนรู้จากโจทย์จริง ในพื้นที่จริง ได้สัมผัสและพูดคุยกับผู้คนจริงๆ ในชุมชนนั้นๆ นอกจากจะได้ความรู้ที่มากกว่า (และบางครั้งอาจจริงกว่า) จากพื้นที่แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเสมอคือความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับผู้คน ชุมชน ทั้งความเข้าใจ ความเคารพนับถือ ความเห็นอกเห็นใจ และการเห็นคุณค่าของกันและกัน
หลังจากนี้นักเรียนจะนำข้อมูล/ชุดความรู้ที่ได้จากภาคสนามมาประมวล หาข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้อื่นๆ วิเคราะห์ สรุป แล้วจัดทำเป็นรายงาน HIA วิดีโอสารคดี และการจัดเวทีสาธารณะเพื่อสื่อสารเรื่องราวของชุมชนบ้านสบลานสู่สังคมวงกว้างต่อไป