ข่าวสารแวดวงห้องสมุด,  ห้องสมุด

เปิดโลกห้องสมุดสู่ประชาคมอาเซียน

8176เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.ค. 2557 บรรณารักษ์ห้องสมุดกลางและห้องสมุดประถม ได้เข้าร่วม การประชุมเพื่อเตรียมการจัดงานสัปดาห์ห้องสมุด ครั้งที่ 38 พุทธศักราช 2557 ในหัวข้อเรื่อง “เปิดโลกห้องสมุดสู่ประชาคมอาเซียน” จัดโดยสมาคมห้องสมุดแห่งประเทศไทย ณ ห้องเพชรไพลิน ชั้น 11 โรงแรมวินด์เซอร์ สวีท แอนด์ คอนเวนชั่น

ในงานนี้ได้รับเกียรติจาก คุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ให้ความรู้เรื่อง วรรณกรรมอาเซียน ซึ่งเกิดขึ้นมานานกว่า 33 ปี โดยจัดประชุมคณะกรรมการอาเซียนฝ่ายวัฒนธรรมและสารสนเทศของอาเซียน ซึ่งมีประเทศในอาเซียน รวม 6 ประเทศ เข้าร่วมโครงการ แต่ละประเทศได้คัดเลือกวรรณกรรมซึ่งเป็นตัวแทนประเทศของตน จัดแปลและจัดพิมพ์ รวมชุดกันทุกประเทศ เรียกว่า Anthology of Asean Literature โดยประเทศไทยได้คัดเลือกวรรณคดีตามลำดับยุคสมัย คือ สุโขทัย อยุธยา ธนบุรี และรัตนโกสินทร์มาจัดแปล ได้แก่ ไตรภูมิกถา, โองการแช่งน้ำ, มหาชาติคำหลวง กลอนเพลงยาวรบพม่าที่ท่าดินแดง, บทละครเรื่องอิเหนา ตอนลมหอบ, ลิลิตตะเลงพ่าย ฯลฯ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แสดงถึงอัตลักษณ์ ขนบธรรมเนียมประเพณี วิถีชีวิต วัฒนธรรมของชาติไทย

วิทยากรท่านต่อมาคือ อ.ศิริกันยา นาคะวิสุทธิ์ บรรยายเรื่อง ภาษาอังกฤษกับการอ่านเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน อ.ศิริกันยาได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ ทุกประเทศในกลุ่มอาเซียน จะต้องรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ดังนั้นภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญต่อการสื่อสารระหว่างกันอย่างยิ่ง อาจารย์ให้ความสำคัญกับการฟังเป็นอันดับแรก มนุษย์พูดสื่อสารได้เพราะใช้การฟัง ท่านให้คำแนะนำวิธีลัดสั้นที่สุดในการเรียนภาษาอังกฤษ คือการดูภาพยนตร์ต่างประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ โดยให้เวลากับการดูหลายๆครั้ง ในตอนแรกให้ดูภาพยนตร์โดยมีคำบรรยายเป็นภาษาไทย เพื่อให้เราเข้าใจเรื่องราวและบทสนทนา ครั้งที่ 2 ให้ดูโดยมีคำบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เพื่อให้ทราบรายละเอียดของประโยคสนทนา ครั้งที่ 3 ดูโดยไม่ต้องมีคำบรรยายใดๆ และลองพูดออกเสียงตาม โดยเน้นว่าภาพยนตร์เก่าๆ จะมีบทสนทนาที่ไม่เร็วมากนัก เหมาะกับการนำมาฝึกหัดด้วยตัวเอง ทำอย่างนี้เรื่อยๆ รับรองว่าเราสามารถพัฒนาภาษาอังกฤษได้อย่างแน่นอน

วิทยากรท่านต่อมาคือ ศาสตราจารย์พิเศษ คุณหญิงแม้นมาศ ชวลิต ได้ขึ้นเสวนาวรรณกรรมแปลคลาสสิคเรื่อง “วิมานลอย : 75 ปี แห่งความทรงจำ ” ใครจะรู้ว่า รอย โรจนานนท์ ผู้แปล วิมานลอย แท้ที่จริงแล้ว คือศ.พิเศษ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต ซึ่งแปลผลงานเล่มนี้ตั้งแต่อายุเพียง 19 ปี แม้เวลาจะผ่านกาลเวลามาถึง 75 ปี แต่ผลงานแปลวรรณกรรมเล่มนี้ยังคงครองใจผู้อ่านไม่เสื่อมคลาย ด้วยวัย 93 ปี คุณหญิงแม้นมาสมีความกระฉับกระเฉง และมีความจำเป็นเลิศ บอกเล่าเรื่องราวถึงที่มาของนามปากกา รอย โรจนานนท์ ว่ามาจากพระเอกหนังคาวบอยที่ท่านชื่นชอบในสมัยเป็นเด็ก นามว่า รอย โรเจอร์ มาเป็นนามปากกา รอย โรจนานนท์ ท่านวิเคราะห์ประวัติศาสตร์อเมริกาผ่านวรรณกรรมเรื่องนี้ได้อย่างน่าสนใจ ในวาระที่ วิมานลอย มีอายุถึง 75ปี สำนักพิมพ์แสงดาว จึงนำมาพิมพ์ใหม่ ซึ่งเป็นการพิมพ์ตามจำนวนที่มีการสั่งซื้อเท่านั้น ท่านที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สำนักพิมพ์แสงดาว

วิทยากรอีกท่านคือ อ.อังสนา เกิดบุญส่ง จากโรงเรียนมหรรณพาราม ท่านเป็นผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน กิจกรรมห้องสมุดมีชีวิต การจัดค่ายรักการอ่าน ฯลฯ โดยมีรางวัลและเกียรติบัตรจากกิจกรรมดังกล่าวมากมาย โดยท่านได้ให้คำแนะนำเรื่องการจัดกิจกรรมห้องสมุดว่าต้องสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้งองค์กร โดยมีนักเรียนเป็นผู้ขับเคลื่อนสำคัญ การกำหนดหัวข้อ การออกแบบกิจกรรม เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความสนใจได้อย่างมาก พร้อมกับท่านยังได้แนะนำวิธีการหาข้อมูล และแหล่งที่บรรณารักษ์สามารถไปยืมสื่อต่างๆมาทำกิจกรรม โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน สามารถขอการสนับสนุนได้จากกรมอาเซียนและกรมประชาสัมพันธ์

ในการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ได้เปิดโลกทัศน์และสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องการอ่าน และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้แก่บรรณารักษ์เป็นอย่างมาก ซึ่งบรรณารักษ์จะได้นำความรู้ที่ได้มาต่อยอดในการกิจกรรมส่งเสริมการอ่านเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในโอกาสต่อไป