ความสุขจากการเรียนรู้
เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีความสุขที่จะเรียนรู้
เคยสังเกตหรือเปล่าว่า ขณะที่เรากำลังเรียนรู้ทำอะไรใหม่ๆ เช่น เรียนทำอาหาร ทอผ้า เล่นกีฬาชนิดใหม่ ศึกษาการใช้งานอุปกรณ์สื่อสาร เรียนภาษาเพื่อนบ้าน ขับรถเส้นทางใหม่ ฯลฯ ความสุขกำลังเกิดขึ้นระหว่างที่เราจดจ่อกับการเรียนรู้ ยิ่งเมื่อได้แจ่มแจ้งความรู้ จะเพิ่มพูนความพึงพอใจ การเรียนรู้ได้ชื่อว่าเป็นหนทางอันยอดเยี่ยมของการเข้าหาความรื่นรมย์ แม้ว่ามันอาจหมายถึงการผ่านช่วงเวลาของความเหน็ดเหนื่อย อดทน และท้อแท้
ข้อสังเกตนี้ รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้บุกเบิกแนวการศึกษาที่เน้นให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ได้จากการมองเห็นเด็กที่กำลังเรียนรู้จากการเล่น
“เด็กๆ ชอบเล่น เล่นเพราะกำลังเรียนรู้ เขากำลังปรับร่างกาย ปรับสายตา ปรับกล้ามเนื้อ ปรับอะไรต่ออะไร เขาต้องเอาตัวเองไปวัดกับสิ่งต่างๆ ไปทาบกับสิ่งต่างๆ ไปท้าทายสิ่งที่อยู่รอบตัว อันนี้คือการเรียนรู้ของเขา ถ้าหากคุณแม่บอกว่า ‘อย่า’ เด็กจะหงุดหงิด ขัดความสุข เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีความสุขอยู่แล้วที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่ผู้ใหญ่มักลืมว่า ตอนเด็กๆ ก็เป็นอย่างนี้”
“มันน่าคิดนะว่าเราเคยระลึกถึงความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้ไหม บางทีเราไม่เคยมอง เพราะมันไม่หวือหวา ไม่ฉูดฉาด แต่เป็นความสุขที่หล่อเลี้ยงเราอยู่ลึกๆ ทำให้เรามีจิตใจเข้มแข็ง และมั่นคงขึ้น สามารถอดทนกับสิ่งต่างๆได้มากขึ้น เมื่ออดทนกับความยากลำบาก เราจะไม่ทุกข์ง่าย ซึ่งต่างจากความสุขแบบหวือหวา ที่ไม่ได้เข้าไปหล่อหลอมคุณภาพทางใจของเรา”
ยิ่งเรียนรู้ยิ่งมั่นใจ
“ตอนที่เด็กขี่จักรยานเป็นครั้งแรก ตอนฝึกขี่จักรยาน มันยาก ต้องเจ็บ ล้มแล้วล้มอีก แต่ไม่เลิก จนเมื่อขี่ได้แล้วมีความสุข แต่เด็กไม่สังเกตหรอกว่า ความสุขตรงนั้นมันมาจากการที่เขาได้ผ่านและได้สะสมความอดทน…
อ.ประภาภัทร ยกตัวอย่างประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กจนเกิดคุณภาพทางใจว่า
“เวลาเด็กๆ เรียนรู้ เขาได้รับความสุข ได้ฉันทะ และได้ความมั่นคงในใจ เหมือนอย่างตอนที่เด็กขี่จักรยานเป็นครั้งแรก ตอนฝึกขี่จักรยาน มันยาก ต้องเจ็บ ล้มแล้วล้มอีก แต่ไม่เลิก จนเมื่อขี่ได้แล้วมีความสุข แต่เด็กไม่สังเกตหรอกว่า ความสุขตรงนั้นมันมาจากการที่เขาได้ผ่านและได้สะสมความอดทน ความแข็งแกร่งบางอย่างมันเกิดขึ้นแล้วในใจเขา ซึ่งเขาไม่รู้หรอก แต่ถ้าเขาไปคุยทับกับเพื่อน ‘เธอขี่เป็นหรือยัง’ มันจะมีความภูมิใจ เพราะเขาผ่านการสะสมคุณสมบัติบางอย่างมาแล้ว”
เป็นคุณสมบัติที่มาจากการเรียนรู้ประสบการณ์ ล้ม เจ็บ แล้วลุกขึ้นทำใหม่ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนทำสำเร็จได้ในที่สุด ความเบิกบานใจเกิดขึ้นขณะสองเท้าปั่นมุ่งตรงไปข้างหน้าอย่างอิสระ ลมเบาๆ ผัดผ่านผิว ผ่อนคลายสบายใจ และเกิดความมั่นใจที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ ต่อไป
หากเราระลึกได้ถึงความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้ในวัยเด็ก อ.ประภาภัทร เชื่อมั่นว่า “เราจะยิ่งชอบทำเรื่องยากๆ ขึ้นเรื่อยๆ และจะไม่กลัวความย่อท้อ มีแต่ความองอาจและผึ่งผายที่จะทำอะไรก็ได้ โดยไม่กลัวแม้ความล้มเหลว ไม่คิดด้วยซ้ำว่าเรื่องนี้จะสำเร็จอย่างไร หรือถ้าไม่สำเร็จก็ไม่กลัว แต่ขอให้ได้ทำ นี่แหละที่เป็นความสุขที่มันหล่อเลี้ยงเราอยู่นะ แต่เราไม่ค่อยรู้ตัว”
การเรียนรู้อาจพบกับความเหนื่อยยากและท้อใจ “บางครั้งตอนทำอาจจะไม่สุขเท่าไหร่ แต่ไม่ได้ทุกข์ ไม่มีภาระทางใจ ถ้าต้องเอาชนะความยากลำบาก ต้องอดทน อยู่กับสิ่งที่ยังไม่ลงตัว ยังคิดไม่ออก เราก็ต้องฝ่าฟันไปให้ได้ แต่พอเสร็จออกมาแล้ว ผลงานดี มีความสุขไหม เพราะฉะนั้น ความสุขจากการเรียนรู้ อาจต้องฝืนใจที่จะอยู่กับสิ่งซึ่งยาก เหมือนเด็กๆ เวลาเขาทำอะไรกว่าจะทำเป็น เขาทำซ้ำอยู่นั่นแหละ ตรงนี้เรียกว่าเป็นฉันทะ ทำด้วยความพอใจ แม้มันยากลำบาก ฉันก็จะทำ เมื่อทำเสร็จแล้ว มันภูมิใจ เป็นความสุขอีกขั้นหนึ่ง”
การเรียนรู้จะดีมากถ้าได้ทำสิ่งที่สนใจ แต่ถ้าต้องทำในสิ่งที่เลือกไม่ได้ เราต้องเห็นประโยชน์จากสิ่งที่ทำ การมองหาประโยชน์เป็นปัญญา ความสุขในระดับนี้ต้องภาวนา (มีสติรู้) ด้วย มิเช่นนั้นเราจะอยู่กับเรื่องนั้นไม่ค่อยได้ ส่วนใหญ่ประโยชน์ที่เห็นไม่ใช่ประโยชน์แค่เฉพาะหน้า ไม่ใช่ประโยชน์เฉพาะตัวเรา แต่เป็นประโยชน์สำหรับผู้อื่น หรือเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในภายภาคหน้า และแม้ว่าเราจะยังทำไม่สำเร็จ เราเห็นประโยชน์ มันก็เกิดประโยชน์แล้วในตอนที่ทำ
เรียนรู้อย่างมีความสุขและมีคุณค่า
“ความสุขขาออกนั้น เกิดขึ้นจากการให้ การให้สิ่งของ การให้โอกาส การให้อภัย การนำเอาสิ่งที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น
อ.ประภาภัทร ยังได้อธิบายถึงวิธีการเข้าถึงความสุขของคนเรา เพื่อให้เห็นความแตกต่างในเชิงคุณค่าของความสุข และนำไปปรับใช้ทั้งในครอบครัวและการศึกษาว่า
“ความสุขของคนเรานั้นเกิดขึ้นได้ 2 วิถีทาง ซึ่งอยู่ตรงข้ามกัน พูดง่ายๆ ได้แก่ ความสุขแบบขาเข้า และความสุขแบบขาออก ความสุขขาเข้านั้น เรามักประสพพบง่าย เช่น ความสุขความพอใจที่ได้ทานอาหารอร่อยๆ ถูกปาก การดูภาพยนตร์ ฟังเพลงไพเราะ ได้ยินคำชมเชย ได้กลิ่นหอมถูกใจ อยู่ในที่อากาศเย็นสบาย หรือได้รับของขวัญถูกใจ เป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่าเป็นความสุขจากการเสพ ซึ่งรับได้อย่างง่ายไม่ต้องใช้ความพยายาม แต่ความสุขนี้มักอยู่ไม่นาน และไม่รู้สึกเพียงพอ จะต้องเติมบ่อยๆ หากไม่ได้อย่างใจจะเป็นทุกข์ทันที
ในทางตรงข้าม ความสุขขาออกนั้น เกิดขึ้นจากการให้ การให้สิ่งของ การให้โอกาส การให้อภัย การนำเอาสิ่งที่มีอยู่ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ทั้งต่อตนเองและผู้อื่น แม้แต่การใช้ความพยายามที่จะทำอะไรสักอย่างจนประสพความสำเร็จ ความสุขที่เกิดขึ้นแบบขาออกนี้ เป็นความอิ่มอกอิ่มใจ ความภาคภูมิใจ ความโปร่งโล่งใจ พอเพียงและไม่ไขว่คว้า และแน่นอนการที่เราทำเช่นนั้นเรากำลังเกิดการเรียนรู้จากภายในตัวของเราเอง เราเรียนรู้ว่ามีผู้อื่นที่ลำบากยากแค้นกว่าเรา รู้จักความเห็นอกเห็นใจ หรือเอ็นดู อยากช่วยเหลือ รู้ว่าแม้ตัวเราเองก็อาจต้องพึ่งพาผู้อื่นเช่นกัน เราจึงลดความทระนงและเห็นความสำคัญของผู้อื่นเป็น ตลอดจนการรู้จักเผชิญกับภาวะความยากลำบากได้โดยไม่สะทกสะท้าน สามารถใช้ปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้
ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยที่รากศัพท์ของคำว่า Educate นั้นหมายถึงการนำออก กระบวนการเรียนที่ครบถ้วน แม้แต่การเรียนในโรงเรียนก็เช่นกัน จึงมิใช่มีเพียงการรับ(ความรู้)เข้า แต่ต้องมีการให้ความหมายเชิงคุณค่าบางอย่างที่สำคัญต่อชีวิตจิตใจของเราเอง แล้วจึงมีพลังที่จะนำ(ความรู้)สิ่งที่มีออกมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ เช่นเดียวกันคำว่า สิกขาหรือที่เรารู้จักกันว่าศึกษานั้น ก็หมายถึงการลงมือปฏิบัติที่ต้องใช้ความพยายาม สติปัญญา กายใจ ของเราเอง เพื่อที่จะลด ละ เลิก ภาระและความยึดถือทั้งปวงออกไปด้วยกระบวนการ ศีล สมาธิ ปัญญา เพื่อสัมผัสถึงอิสรภาพและสันติสุข การเรียนรู้จึงเกิดขึ้นได้เสมอ ทุกขณะในชีวิตประจำวัน ทุกสถานที่ และเกิดความสุขที่ไม่ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขหรือปัจจัยภายนอกมากนัก
ความสุขนั้นฝึก (ให้เกิดขึ้น)ได้ เริ่มต้นปฏิบัติ กลับมาที่ตัวเอง
การเริ่มต้นปฏิบัติที่จะเข้าถึงความสุข ที่แท้จริงนั้น เป็นคติพื้นฐานของสังคมไทยอยู่แล้ว ซึ่งได้แก่ การกลับมาที่ตัวเอง และพยายามฝึกฝนนิสัยที่จะไม่พึ่งพาความสุขจากข้างนอก ถ้าย้อนกลับมาสังเกตที่ตัวเองได้บ่อยๆ เราจะเริ่มใส่ใจตัวเองมากขึ้น ดูแลกาย ดูแลใจของตนเป็น รู้ว่าตัวเองถูกพันธนาการด้วยความทุกข์ และการไขว่คว้าหาความสุขจากสิ่งเสพภายนอกมากเกินไป ในที่สุดก็จะสามารถปรับความพอดีในการบริโภคได้ จึงไม่ทุกข์เพราะเงื่อนไขเหล่านั้น
ทาน คือการให้ การเข้าใจคนอื่น การให้อภัย ไม่เบียดเบียนกัน เพื่อชำระใจให้บริสุทธิ์ ชำระความตระหนี่ถี่เหนียวของตัวเอง เมื่อให้ทานแล้วก็ไม่หลงบุญนั้น พอใจแค่ได้ทำแล้วใจจะสุข เป็นความสุขอีกแบบหนึ่งที่ต่างจากการพึ่งพา และเมื่อให้ทานไปเรื่อยๆ ใจจะอ่อนโยนลง และน้อมเข้าหาสิ่งดีง่าย
รักษาศีล เป็นการชำระจิตใจให้ผ่องใส คนส่วนใหญ่อาจรักษาศีลได้ยาก ต้องฝืนตัวเองให้ได้ แล้วจะเข้าสู่ความเห็นที่ตรง เกิดปัญญา รู้ว่าอะไรควร ไม่ควร อะไรดี อะไรไม่เป็นประโยชน์ เมื่อทำดีแล้วต้องไปให้พ้นดีด้วย ไม่เพ่งโทษคนอื่น จะไม่เป็นภาระทางใจ
การภาวนา คือการมีสติรู้ตัว รู้สึกที่กาย และที่ใจของเราเอง เมื่อรู้แล้วเราจะไม่ยึดถือกับมัน นั่นคือความสุข
แม้คนที่ยังติดเหล้า และสูบบุหรี่ ก็ฝึกปฏิบัติได้ เพราะเมื่อทำความรู้สึกตัวไปเรื่อยๆ จิตใจจะเปลี่ยน เริ่มเห็นว่าอะไรคือคุณค่าแท้ และคุณค่าเทียม เพราะธรรมชาติมนุษย์ทุกคนฝึกได้ และการเป็นมนุษย์คือ ผู้มีใจสูง แต่กิเลสหุ้มเอาไว้ ต้องรู้วิธีเจาะกิเลสที่หุ้มใจเข้าไปจะถึงชั้นที่เป็นกุศล
ดังนั้น เราจึงต้องมารู้จักตัวเอง ไม่ต้องไปไขว่คว้าข้างนอก ทำตรงหน้า ณ ปัจจุบัน รู้สึกตัว รู้กาย รู้ใจ ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา จะเป็นการหล่อเลี้ยงจิตใจ และสร้างความสมบูรณ์ให้จิตใจตัวเอง เมื่อนั้น เราจะว่างจากมลทิน เป็นอิสระ เกิดความโปร่ง โล่ง สบาย
การเรียนรู้ที่จะมีสติรู้ตัว จึงเป็นความสุขที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
. . .
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ เริ่มเข้าสู่การปฏิบัติภาวนา และบุกเบิกการเรียนแบบใหม่ที่ให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง หลังจากที่อาจารย์ได้ทดลองจัดการเรียนรู้กับลูกของท่านเองจนประสบความสำเร็จ โดยใช้การภาวนาเป็นเครื่องมือสำคัญในการฝึกตนให้เรียนรู้จากลูก ครูจึงต้องฝึกเรียนรู้จากลูกศิษย์จึงจะมีความสุข
ขอบคุณบทความจากเว็บไซต์ความสุขประเทศไทย www.happinessisthailand.com