หยดน้ำแห่งความรู้…หยดน้ำแห่งปัญญา ๑/๒๕๕๗
การจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนรุ่งอรุณมุ่งหมายให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้และสามารเรียนรู้ในเรื่องนั้น ได้จริงด้วยตัวเอง ช่วงแรกรับรู้ก่อน คือศึกษาจนเกิดความเข้าใจแจ่มแจ้ง เรียกว่า “สุตมยปัญญา” หรือปัญญาที่เกิดจกการฟัง ต่อมาคือเริ่มคิดพิจารณาเรื่องที่ฟัง นำไปเชื่อมโยงเปรียบเทียบ นำไปใช้กับเหตุการณ์อื่นๆ ก็จะเกิดความเข้าใจขึ้นมาอีกระดับ เรียกว่า “จินตมยปัญญา” ขั้นต่อมาคือนำสิ่งที่รู้และเข้าใจจากสองขั้นแรกมาเป็นตัวเอง หรือเปลี่ยนพฤติกรรม คือทำแล้วสังเกตตัวเองได้จนถึงสามารถระบุตนเองได้ และบอกคนอื่นได้ อธิบายได้ เรียกว่า “ภาวนามยปัญญา”
ทุกช่วงปลายภาคเรียนรุ่งอรุณจึงสร้างเงื่อนไขให้นักเรียนได้นำสิ่งที่รู้ไปภาวนา ประมวล แล้วนำเสนอเพื่ออธิบายให้คนอื่นเข้าใจได้ เป็นการกลั่นสิ่งที่ตนเองรู้แล้วออกมาเป็นความรู้ขาออก เปรียบเหมือนการกลั่นน้ำบริสุทธิ์ที่ต้องใช้วิธีกลั่นทีละหยด ทีละหยด รุ่งอรุณจึงเรียกงานที่นักเรียนต้องทำนี้ว่า “หยดน้ำแห่งความรู้”
ภายใต้แนวคิดเดียวกัน แต่สาระและวิธีการนำเสนอ “หยดน้ำแห่งความรู้” จะแตกต่างกันไปในแต่ละระดับชั้น ตามการรับรู้และความเข้าใจของนักเรียนแต่ละวัย ในเด็กเล็กๆ เขายังไม่มีภาษามากพอจะอธิบายโดยการบรรยาย เขาจะใช้ความรู้ในจิตใต้สำนึกแล้วแสดงออกด้วยตัวเขาเองด้วยอาการ เช่น ละคร การเล่นเกม เมื่อโตขึ้นเขาจะบอกสิ่งที่คิดอยู่ในใจได้มากขึ้น ก็สามารถใช้วิธีอื่นๆ ได้ เริ่มชี้แจง บรรยาย หรือสร้างสื่อที่สามารถบอกเล่าหรืออธิบายสิ่งที่เขารู้ให้ผู้อื่นเข้าใจได้
ตัวอย่างงานหยดน้ำฯ ของนักเรียนชั้น ป.๑ นำเสนอโครงงานเรื่องพืชและสัตว์ในโรงเรียนที่นักเรียนสนใจ
งานหยดน้ำฯ ของนักเรียนชั้น ป.๕ นำเสนอโครงงานเรื่องข้าวไทย-วิถีไทย บอกเล่าการทำนาปลูกข้าวที่นักเรียนได้เรียนรู้มาตลอดภาคเรียน พร้อมทั้งเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่มาสวมบทบาทเป็นชาวนา ช่วยกันลงแขกถอนกล้า (ที่นักเรียนและคุณครูช่วยกันไถหว่านไว้ก่อนหน้า) ทำเทือกนา และดำนา เพื่อเรียนรู้วิธีการทำนา และสัมผัสวิถีชีวิตชาวนาที่แสนเหน็ดเหนื่อย ต้องทนทั้งความร้อน ความเหนื่อย และดินโคลนเลอะเทอะ เมื่อได้รู้ก็จะทำให้เรากินข้าวอย่างรู้คุณค่ามากยิ่งขึ้น ทั้งคุณค่าของข้าว และคุณของชาวนาที่ปลูกข้าวให้เรากิน
งานหยดน้ำฯ ของนักเรียนชั้น ม.๑ หัวข้อ “เสน่ห์เมืองกรุง” จำลอง ๔ ย่านในเมืองกรุงที่นักเรียนทั้ง ๔ ห้อง ออกศึกษาภาคสนาม ได้แก่ เยาวราช ตลาดน้อย บางลำพู และสามแพร่ง มาให้ผู้ปกครองได้เดินเที่ยวชมและศึกษาเรียนรู้ ประกอบด้วยนิทรรศการประวัติศาสตร์ แผนผัง และซุ้มอาหารอร่อยของแต่ละย่าน
งานหยดน้ำฯ ของนักเรียนชั้น ม.๓ หัวข้อ “ภาคเหนือ : ผู้คนและวัฒนธรรมแห่งขุนเขา” นำเสนอความรู้จากการออกภาคสนาม ๓ พื้นที่ในภาคเหนือ (ห้องละ ๑ พื้นที่) ได้แก่ ชุมชนชาวไทใหญ่ บ้านต่อแพ ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ชุมชนชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน และบ้านห้วยหินลาดนอก ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่มีวิถีชีวิตแบบพอเพียง พึ่งพิงและเกื้อกูลธรรมชาติ
คลิปวิดีโอสั้นบอกเล่าวิถีการกินที่เกื้อกูลธรรมชาติของชาวปกาเกอะญอบ้านห้วยหินลาดนอก อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ที่ “กินทุกอย่างที่ปลูก และปลูกทุกอย่างที่กิน” จัดทำโดย เม็ดทราย หิมะ และข้าวตัง นักเรียนชั้น ม.๓/๒ จากประสบการณ์การออกภาคสนามที่หมู่บ้านดังกล่าวเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ แล้วสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้เป็นคลิปวิดีโอสั้นให้เข้าใจง่าย เพื่อนำเสนอในงานหยดน้ำแห่งความรู้
Infographic บอกเล่าภูมิปัญญาและวิถีชีวิตปกาเกอะญอ อาทิ ไร่หมุนเวียน ป่า ไผ่ น้ำผึ้ง ชาธรรมชาติ นิทาน และความเชื่อ ที่สะท้อนให้เห็นถึงวิถีที่พึ่งพิงและเกื้อกูลธรรมชาติของชาวบ้านห้วยหินลาดใน ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย จัดทำโดยนักเรียนชั้น ม.๓/๓