สสวท.แลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่อง STEM ที่รุ่งอรุณ
วันศุกร์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นำโดย John R. Stiles, Ph.D. ที่ปรึกษา สสวท. (STEM) มาเยี่ยมชมการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (Science Technology Engineering and Mathematics Education; STEM) ระดับมัธยมศึกษาของโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยมีคุณครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข (คุณครูโม) ผู้อำนวยการโรงเรียน คุณครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ (คุณครูต้อย) รักษาการครูใหญ่มัธยม และคุณครูเสมอแข พัวภูมิเจริญ (คุณครูจุ๋ม) หัวหน้าส่วนสำนักงานกลาง ร่วมด้วยคุณครูวิชาวิทยาศาสตร์ระดับมัธยม และตัวแทนนักเรียนห้องวิทยาศาสตร์ชั้น ม.๕ และ ม.๖ ให้การต้อนรับ
การเยี่ยมชมในครั้งนี้ นักเรียนชั้นมัธยมปลายได้นำเสนอโครงงานวิทยาศาสตร์ ๒ โครงงาน ประกอบด้วย โครงงานเรื่องระบบบำบัดน้ำเสียในโรงเรียนรุ่งอรุณ จากการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำโดยชุมชน นักเรียนนำความรู้วิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์คิดค้นทดลองจนเกิดเป็นระบบบำบัดน้ำในอาคารเรียนมัธยมและโรงครัว เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง โดยนายกิตตินันท์ ธนิสสรานนท์ (นันท์) นายทองไท เถาทอง (โป้ง) นายมณเฑียร อธิวรกุล (อั่งเปา) ชั้น ม.๖/๒ และโครงงานเรื่องรถยนต์ ที่นำซากรถยนต์เก่าจากเซียงกงมาศึกษาและซ่อมจนใช้งานได้ โดยนายธีรภาพ เศวตสมภพ (เอี๋ยว) และนายตุลย์ ตุลยาภรณ์โชต์ (ตุลย์) และนายสรธร ติยะวัชรพงศ์ (สรณ์) ชั้น ม.๕/๒
การนำเสนอของนักเรียนไม่ได้เป็นเพียงการบอกเล่าให้ผู้มาเยี่ยมชมเข้าใจกระบวนการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของนักเรียนรุ่งอรุณเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน ที่จะต้องจัดการความรู้ จัดทำสื่อนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษ (PowerPoint) แล้วนำเสนอให้ผู้อื่นเข้าใจ ทั้งที่มาของโครงงาน กระบวนการทำโครงงาน ชุดความรู้ที่ต้องใช้ อุปสรรคปัญหา ผลของโครงงาน สิ่งที่นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนา รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในตัวนักเรียนที่เกิดจากการทำโครงงานในครั้งนี้ นับเป็น “ความรู้ขาออก” ที่นักเรียนได้ถ่ายเทออกมา ได้ทวนซ้ำย้ำความเข้าใจ จากการนำเสนอและตอบข้อซักถามของผู้เยี่ยมชม ซึ่งนักเรียนสามารถอธิบายและตอบคำถามได้อย่างชัดเจน นั่นเพราะพวกเขาได้ลงมือทำจนเกิดความรู้ความเข้าใจด้วยตัวของเขานั่นเอง