คนสายน้ำเดียวกัน : หยดน้ำแห่งความรู้ ชั้น ม.๕
“คนต้นน้ำกับคนปลายน้ำพี่น้องกัน เราใช้น้ำก็นึกถึงคนข้างล่าง น้ำนี้นะคือมรดก”
ข้อความสั้นๆ ของ “พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ” ผู้นำชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านสบลาน อ.สะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ที่กล่าวในงาน “คนสายน้ำเดียว” สร้างความประทับใจให้กับใครหลายคนที่มาร่วมงานในวันนั้น
“คนสายน้ำเดียวกัน” เป็นงานประมวลความรู้หรือที่ชาวรุ่งอรุณเรียกกันว่า “งานหยดน้ำแห่งความรู้” ของนักเรียนชั้น ม.๕ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม โรงเรียนรุ่งอรุณ ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอกระบวนการศึกษาโครงงาน “การศึกษาวิถีพึ่งพิงและภูมิปัญญาการจัดการทรัพยากรป่าและน้ำ กรณีศึกษา บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่” ประจำภาคเรียนที่ ๑-๒ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ โดยจัดขึ้นเมื่อช่วงเย็นวันพุธที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ (โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์งาน)
ภายในงานประกอบด้วยบอร์ดนิทรรศการนำเสนอเรื่องราวของคนต้นน้ำบ้านสบลาน “ไกลแค่ไหนก็ใกล้กัน” ในรูปแบบ Infographic รายงานเอชไอเอชุมชน-โอมื่อโชเปอ ภาพยนตร์สารคดี THE JOURNEY OF US บอกเล่ากระบวนการศึกษาโครงงานตั้งแต่ภาคเรียนที่ ๑-๒ และภาพยนตร์สั้น The Sneaker นำเสนอชีวิตของผู้คน ๔ กลุ่มเกี่ยวข้องกับทรัพยากรป่าและน้ำ และการสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียนแต่ละคนจากการทำโครงงานในครั้งนี้
ปิดท้ายงานด้วยเวทีสนทนา “คุยกันประสาคนปลายน้ำ” โดยมีตัวแทนคนต้นน้ำและคนปลายน้ำร่วมพูดคุย ได้แก่ พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้นำชาวปกาเกอะญอแห่งบ้านสบลาน ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการอิสระ ด.ญ.วนา ภูษิตาศัย และ ด.ญ.สิรภัทร ปานเคลือบทอง นักเรียนชั้น ม.๓ รร.รุ่งอรุณ ร่วมพูดคุย
บางส่วนบางตอนจากเวทีสนทนา…
“ทรัพยากรมันเพียงพอ ถ้าเรารู้จักใช้ รู้จักดูแล
“พะตี่เป็นห่วงเรื่องสารเคมี ที่ต้นน้ำมันไหลลงมาที่กรุงเทพฯ เป็นห่วงคนข้างล่าง ฝากบอกคนจำหน่ายสารเคมีให้ลดลงบ้าง มันทำลายป่าเยอะ กลัวอนาคตเด็กๆ สารเคมีตกค้างในร่างกายไม่น้อยนะ การปลูกพืชเชิงเดี่ยวก็เป็นหนี้เป็นสิน”
“เราต้องช่วยกัน มันวิกฤติแล้ว ไม่งั้นมันจะไม่ทัน โอมื่อโชเปอ… (อยู่ดีมีสุข)”
– พะตี่ตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ
“คนกรุงเป็นคนปลายน้ำ มองว่าน้ำคือต้นทุนหาเงินของเขา…”
“เขื่อนในบ้านเราไม่ได้มีอยู่เพื่อการผลิตอาหารให้คนทั้งประเทศเลย แต่มีไว้รับใช้โรงงานของคนกลุ่มเดียวและต่างชาติ”
– ดร. เดชรัตน์ สุขกำเนิด
“ไม่ว่าจะคนต้นน้ำ กลางน้ำ หรือปลายน้ำ ก็ต้องเจอปัญหาเรื่องน้ำเหมือนกัน ๓ น้ำ คือ น้ำท่วม น้ำแล้ง และน้ำเสีย ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าทั้ง ๓ น้ำ เป็นภัยของพวกเราทุกคน จะแก้ที่ใดที่หนึ่งไม่ได้ แต่ต้องร่วมกันทำทั้งหมด”
– ดร.สมนึก จงมีวศิน
กระบวนการศึกษาโครงงานในครั้งนี้ คือเวทีและโอกาสที่นักเรียนได้เรียนรู้ ฝึกฝน และพัฒนาในด้านต่างๆ จากการศึกษาโจทย์ปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในสังคมและลงมือทำงานจริงด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้เรียนและสังคมไปพร้อมกัน ซึ่งจะสร้างให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อตนเองและโลก ปลูกจิตสำนึกให้ตระหนักรู้คุณค่าแท้-คุณค่าเทียม และเติบโตเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม ไม่นิ่งดูดายกับปัญหาของสังคมส่วนรวม
เวทีสนทนา “คุยกันประสาคนปลายน้ำ” ตอนที่ ๑
เวทีสนทนา “คุยกันประสาคนปลายน้ำ” ตอนที่ ๒
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
+++ เรียนรู้วิถีปกาเกอะญอ ณ บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่
+++ บทความ “เพราะพึ่งพิง จึงต้องดูแล” ในเซกชั่นจุดประกาย หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
+++ เวทีเสวนา “จับต้น(น้ำ) ชนปลาย(น้ำ)” วันที่ ๑๗ ต.ค.๕๗ ณ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่…คลิก