โรงเรียนรุ่งอรุณ

รร.รุ่งอรุณร่วมเรียนรู้ในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ ๙

580314MabEung01

“เราทุกคนมีความสามารถเป็นอัจฉริยะได้ ถ้าเรามีโอกาส แต่เราใช้ไม่เต็มศักยภาพที่เรามี เพราะระบบการศึกษาเราไม่เปิดโอกาสตรงนี้ เราเรียนเพื่อสอบแล้วก็ลืมไป แท้จริงมนุษย์มีศักยภาพมากกว่านั้น ถ้าเราสร้างโอกาส เปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้มนุษย์ดึงศักยภาพมาใช้เต็มที่ เขาจะเรียนรู้ได้เอง…ทุกวันนี้เราจัดการศึกษาแบบอุตสาหกรรม คือจัดการศึกษาแบบเดียว แล้วก็หวังว่าทุกคนจะได้เหมือนกันและได้เท่ากัน เป็นการศึกษาแบบ “อุตส่าห์หากรรม” ที่ทำให้ผู้เรียนเป็นทุกข์ เพราะเป็นผู้ถูกสอน แต่ไม่ได้ใช้ความสามารถในการเรียนรู้อย่างแท้จริง”

รศ.ประภาภัทร นิยม กล่าวในเวทีเสวนา “การศึกษา (แบบไหน) คือทางรอดของมวลมนุษยชาติ”

วันเสาร์ที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๘ ครูและนักเรียนรุ่งอรุณไปร่วมเรียนรู้และจัดเวทีพูดคุยในงานมหกรรมคืนชีวิตให้แผ่นดิน ครั้งที่ ๙ “การศึกษาสร้างฅน ศิษย์องค์ภูมิพล รวมพลสร้างชาติ” ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ มาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

ในช่วงบ่ายนักเรียนชั้น ม.๖ สายศิลป์ จัดเวทีพูดคุย “ขอถามพี่ป้าน้าอา…เรื่องอ่าวระยองของเรา” ในรูปแบบของชั้นเรียนที่นักเรียนมาหาความรู้ต่อ ภายหลังกลับจากภาคสนามที่อ่าวระยอง โดยมีนักวิชาการ แกนนำชาวบ้าน และชาวประมง ร่วมพูดคุย ได้แก่

  • ผศ.ดร.เพ็ญใจ สมพงษ์ชัยกุล ภาควิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก
  • นายสมยศ เฉียวกุล สมาชิกสภาเทศบาลนครแหลมฉบัง
  • คุณอมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี ประธานกลุ่มประมงต้นแบบบ้านอ่าวอุดม อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

การพูดคุยในครั้งนี้ทำให้นักเรียนได้ข้อมูลความรู้เพิ่มเติมในประเด็นความขัดแย้งที่ที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรม จากกรณีน้ำมันรั่วในอ่าวระยองเมื่อสองปีก่อน โดยผู้ประกอบการมองว่าได้แก้ไขปัญหาและฟื้นฟูทะเลเรียบร้อยแล้ว ขณะที่ชาวประมงและชุมชนไม่มั่นใจวิธีการแก้ปัญหาของผู้ประกอบการ จึงไม่เชื่อว่าน้ำทะเลและสัตว์น้ำปลอดภัยเหมือนเดิม ซึ่งนักเรียนจะนำข้อมูลที่ได้จ่ากการออกภาคสนาม การพูดคุยในครั้งนี้ และการศึกษาเพิ่มเติม มาจัดทำเอกสารเพื่อเสนอกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติต่อไป

ดร.สมนึก จงมีวศิน นักวิชาการภาคประชาสังคมด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาวะ ภาคตะวันออก กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นว่าเป็นเพราะต่างฝ่ายต่างมีอคติและไม่ไว้วางใจกัน พูดคุยกันด้วยความรู้ ๒ ชุด คือ ความรู้เชิงวิชาการ (Technical Knowledge) และความรู้เชิงพื้นที่ (Situated Knowledge) ซึ่งเป็นภูมิปัญญาและองค์ความรู้ดั้งเดิมของชุมชนที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์ชีวิต ซึ่งความรู้ทั้งสองชุดนี้ไม่เหมือน การจะหาว่าความรู้ชุดไหนถูกต้องนั้นต้องทำการศึกษาร่วมกัน โดยเอาความรู้เชิงพื้นที่เป็นตัวตั้ง แล้วเอาความรู้เชิงวิชาการไปทดสอบ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ทุกฝ่ายต้องหันหน้ามาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน