หยดน้ำ ม.๒/๓ : ป่าต้นน้ำกับคนเมือง
“เราต้องมองว่าเขื่อนมีประโยชน์ ทั้งการผลิตไฟฟ้า กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร และป้องกันน้ำท่วม แต่ประเทศเรามีเขื่อนมากพอแล้ว แล้วเราก็ใช้ทรัพยากรเหล่านั้น (ไฟฟ้า น้ำ) บนความเสียสละของคนจำนวนมากที่ต้องจากบ้าน เสียพื้นที่ทำกิน ประสบความลำบาก ประเทศเราพัฒนามาขนาดนี้ เราไม่จำเป็นต้องมีเขื่อนในทุกเขา แต่เราสามารถใช้ความรู้ใหม่มาจัดการน้ำได้ เช่น การใช้ประโยชน์จากน้ำใต้ดิน การขุดบ่อเล็กๆ รอบชุมชน การใช้ประโยชน์จากลำน้ำ ซึ่งมูลนิธิสืบฯ ศึกษาแล้วว่าทำได้ ใช้งบประมาณน้อยกว่าและสร้างผลกระทบน้อยกว่าการสร้างเขื่อน… มาถึงวันนี้ผมว่าเราข้ามผ่านประเด็นว่าเขื่อนดีหรือไม่ดีแล้ว แต่เราต้องมาคุยกันว่าจะจัดการน้ำอย่างไร ช่วยกันผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายให้ได้”
อ.ศศิน เฉลิมลาภ เลขาธิการมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร กล่าวในเวทีเสวนา “ป่าต้นน้ำกับคนเมือง” เมื่อวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ ณ โรงเรียนรุ่งอรุณ จัดโดยนักเรียนชั้น ม.๒/๓ โดยมีตัวแทนนักเรียนมัธยม ได้แก่ นางสาริศา เลิศวัฒนากิจกุล (เฟอร์) นักเรียนชั้น ม.๕/๑ และ ด.ญ.กรชญา คงสวัสดิ์เกียรติ (จีน) นักเรียนชั้น ม.๒/๓ ร่วมพูดคุย
เวทีเสวนานี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการออกภาคสนามของนักเรียนชั้น ม.๒/๓ ณ บ้านธารมะยม อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ ซึ่งเป็นชุมชนที่ร่วมกันฟื้นฟูป่า คืนน้ำให้กับป่า และมีการจัดการน้ำอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน เช่น การทำประปาภูเขา ทั้งยังเป็นชุมชนหนึ่งที่ออกมาคัดค้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ร่วมกับมูลนิธิสืบ นาคะเสถียร และชุมชนต่างๆ เพราะมองว่าไม่คุ้มค่าที่จะสร้าง แต่นักเรียนก็พบว่ามีชาวบ้านในหลายพื้นที่เช่นกันที่ต้องการเขื่อนแม่วงก์ เพราะเชื่อว่าเขื่อนจะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม และช่วยเพิ่มน้ำในการทำการเกษตร นักเรียนจึงจัดเวทีเสวนานี้ขึ้นในงานหยดน้ำแห่งความรู้ ประจำภาคเรียนที่ ๓ ปีการศึกษา ๒๕๕๗ เพื่อพูดคุยถึงประเด็นดังกล่าว พร้อมทั้งเชิญคุณครู ผู้ปกครอง และนักเรียนรุ่งอรุณ มาร่วมฟังและพูดคุยในฐานะคนเมืองผู้บริโภคทรัพยากรจากป่าและน้ำ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ และร่วมกันช่วยเหลือดูแลป่าและทรัพยากรของประเทศตามกำลังความสามารถของแต่ละคน