รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

ศิษย์เก่าเล่าเรื่องรุ่งอรุณ

alumni01

ผ่านไปแล้วอย่างสนุกสนาน อบอุ่น และเป็นกันเอง กับงาน “เรียนรู้และเติบโต”  ที่จัดขึ้นเมื่ออังคารที่ ๔ สิงหาคมที่ผ่านมา ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ งานนี้มีศิษย์เก่าทั้งรุ่น ๑๒ และรุ่น ๑๓ (RA12, RA13) ที่กำลังเรียนรู้อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย กลับมาบอกเล่าวิถีชีวิตมัธยมในรุ่งอรุณ ประสบการณ์การสอบเข้ามหาวิทยาลัย และวิถีชีวิตนอกรั้วรุ่งอรุณในมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งตอบคำถามของผู้ปกครองที่มาร่วมรับฟังกันจนเต็มห้องประชุม… นำบางส่วนจากวงสนทนาในวันนั้นมาฝากกันค่ะ

“เพื่อนจะช่วยกันตลอด ไม่มีใครเอาตัวรอดไปคนเดียว ข้อสอบที่จะเข้าไปในมหาวิทยาลัย มันเป็นข้อสอบที่ไม่ได้ออกแบบมาให้พวกเราที่เรียนมาแบบรุ่งอรุณ การเรียนแบบรุ่งอรุณมันจะเห็นผลตอนเราข้ามกำแพงข้อสอบเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้แล้ว มันจะเห็นตอนที่เราไปทำงานกับเด็กจากโรงเรียนอื่น จะเห็นชัดว่าชั่วโมงการทำงานเราต่างกันมาก แต่ก่อนที่เราจะเข้าไปสัมผัสประสบการณ์ที่ว่า เฮ้ย เรานี่มันก็เก่งนะ เราต้องผ่านกำแพงที่เรียกว่าการสอบเข้าไปก่อน ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องขวนขวายเอาเอง ยอมรับว่าโรงเรียนอื่นเขาค่อนข้างเน้นวิชาการมากกว่าโรงเรียนเรา ก็มีชั่วโมงเรียนที่เน้นเนื้อหา เน้นข้อสอบ ต่างกับเราที่เน้นการลงมือทำ เน้นการทำงาน แต่โรงเรียนอื่นเขาจะเห็นผลแค่ตอนสอบเข้า… โรงเรียนรุ่งอรุณเป็นเหมือนปลาว่ายน้ำทวนกระแส โรงเรียนมอบโอกาสให้เราได้ลงมือทำงาน อยากขอบคุณโรงเรียน โรงเรียนนี้ไม่สอนวิชาการอย่างเดียว แต่ยังสอนให้เราเป็นมนุษย์ คิดเป็น มีสติ ควบคุมตัวเองได้ รู้ว่าเรากำลังทำอะไร มอบมิตรภาพที่ดีให้กับเรา” นางสาวฟ้าใส กิตติจิตต์ (ฟ้าใส) RA13 คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

“ก่อนสอบก็มานั่งดูว่าอะไรที่จำเป็น อะไรไม่จำเป็น ก็จะเห็นแล้วว่าอะไรที่มันพอ อะไรไม่พอ อย่างฟิสิกส์ เราเห็นว่าเรายังไม่พอ โรงเรียนไม่ได้สอนให้ทำข้อสอบ แต่สอนให้คิดเป็น มันเป็นคนละเรื่อง ก็เลยไปเรียนฟิสิกส์เพิ่ม แต่ก็พบว่าเรียนแล้วไม่ได้อะไร ที่ได้คือตอนมานั่งทำเอง คือต่อให้เรียนพิเศษเยอะแค่ไหนก็ไม่ได้ ถ้าไม่มานั่งทำเอง พอทำเองก็จะเริ่มติด แล้วก็จะหาทางออกเอง ค่อยๆ พัฒนาจากตรงนั้นมากกว่า” นายทองไท เถาทอง (โป้ง) RA13 คณะวิศวกรรมศาสตร์ (ไฟฟ้ าอิเลกทรอนิกส์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ผมจบรุ่งอรุณด้วยเกรดเฉลี่ย ๒.๕ ซึ่งถือว่าต่ำพอสมควร ผมชอบวาดรูป ไม่ชอบวิชาการ การสอบเข้าเป็นเหมือนการเอาตัวรอด ที่รุ่งอรุณเพื่อนจะช่วยกัน ไม่ทิ้งกัน ผมสอบ ๒ ที่ คือที่จุฬาฯ กับบางมด ก็ติดทั้งสองที่ ไม่ใช่ว่าเก่งนะครับ คือไม่เก่งวิชาการ สิ่งที่อยากจะพูดคือว่าสังคมที่นี่ เพื่อนไม่ทิ้งกัน เราช่วยเหลือกัน ไม่ได้แข่งให้ตัวเองติดคนเดียว ถ้าเราติด เพื่อนก็ต้องติดไปด้วยกัน” นายรัฐโรจน์ พิธาเจริญธรณ์ (ไนท์) RA13 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) ออกแบบภายใน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ถ้าลูกคุณแม่ไม่มั่นใจว่าที่เรียนมาพอไหม แหล่งข้อมูลที่เขาสามารถเช็คได้ง่ายที่สุดคือคุณครู เพราะคุณครูจะรู้ว่าแต่ละปีต้องสอบอะไร คุณครูจะช่วยติวให้ได้ คุณครูจะเป็นแหล่งคอนเนกชั่นที่ดี เพราะเด็กรุ่งอรุณเรียนหลายสาขามาก พี่ๆ หลายคนจะหอบหนังสือเอามาให้น้องๆ ฟรี มาช่วยสอน ช่วยติว มีอะไรพยายามปรึกษาคุณครู ถ้ารู้จักรุ่นพี่ก็ปรึกษารุ่นพี่ พวกเรามีคลังหนังสือพร้อมที่จะมาช่วยน้องๆ คุณครูก็พร้อมจะช่วยน้องอยู่แล้ว” นางสาวรพีพร มโนรัตน์ (ฟ้าใส) RA12 คณะศิลปศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“หนูโชคดีที่รู้ว่าอยากเรียนอะไรตั้งแต่แรก แล้วโรงเรียนให้ทำงานที่เกี่ยวกับหนังสือเยอะ อย่างงานของครูปุ๊ ต้องไปหาข้อมูลภาคสนาม ต้องลงพื้นที่ ต้องทำหนังสือ ต้องทำงาน นอนดึกถึงตีสาม หรือแทบจะไม่ได้นอน ทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้วเราชอบอะไร เราอยู่กับมันได้จริงๆ หรือเปล่า เพราะมันเป็นงานจริงที่ต้องลงไปทำกับคนจริงๆ ซึ่งถ้าไม่ชอบจริงๆ จะอยู่ไม่ได้ แต่หนูทำแล้วมีความสุข ก็โชคดีที่ค้นเจอตัวเองเร็ว” นางสาวเอม มฤคทัต (เอมหมี) RA13  คณะนิเทศศาสตร์ เอกวารสาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“ผมเป็นตัวอย่างของคนที่จบไปแล้วแต่ยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร ตอนที่เรียนก็ไม่รู้หรอกว่าเราอยากเป็นวิศวกรหรืออะไร แต่ก็ดูว่าวิชาไหนที่เราได้ อย่างเต้อถ้าเป็นพวกสังคมนี่ไม่เอาเลย ก็มาสายวิทย์ ฟิสิกส์ เลขนี่จะชอบ อังกฤษก็ได้ ก็ดูวิศวะว่าน่าสนใจ ก็มาดูรายละเอียดแต่ละภาควิชาว่ามีอะไรบ้าง มีคุณครูมาช่วยอธิบาย ก็คุยกับครูว่ามันมีเรื่องพลังงาน แล้วเรียนสายวิทย์มา หัวข้อในการทำโครงงานจะเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน เราก็รู้ว่าหัวข้อนี้มันเป็นเรื่องสำคัญ มันเป็นปัญหา ถ้าเรียนไปได้ใช้แน่นอน ตอนนี้เพิ่งเปิดเทอม ผมยังไม่รู้ว่าจะชอบเป็นวิศวกรหรือเปล่า แต่ตอนนี้ผมมีความสุขกับเพื่อน กับอาจารย์ กับชีวิตในมหาวิทยาลัย” นายภควัต ขจิตวิชยานุกูล (เต้อ) RA13 คณะวิศวกรรมศาสตร์เครื่องกล (พลังงาน เศรษฐศาสตร์และสิ่งแวดล้อม) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี

“ขึ้น ม .๔ มาเป็นคนไม่ตั้งใจเรียน เรียนไปเรื่อยๆ เย็นก็เตะบอล เล่นกับเพื่อน กลับบ้านเล่นเกม พอขึ้น ม.๕ เลือกสาย ผมก็ยังทำตัวแย่เหมือนเดิม แต่พอได้ไปภาคสนามธรรมยาตราและปกาเกอะญอ ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าเราตั้งใจสายไปหรือเปล่า หลังไปภาคสนาม ๒ รอบนี้กลับมา ผมรู้สึกว่าผมพัฒนาขึ้นเยอะมาก อาจจะไม่ใช่ความรู้ แต่เป็นเรื่องความคิด การเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เป็นทักษะการใช้ชีวิตและการทำงาน ได้มาเรื่อยๆ โดยที่ผมไม่รู้ตัวเลย ทั้งๆ ที่ผมไม่ได้ตั้งใจด้วยซ้ำ หลังจากนั้นผมก็เต็มที่กับการเรียนและกิจกรรม ก็กลับไปธรรมยาตรากับปกาเกอะญออีกอย่างละรอบ รู้สึกดีมาก ทุกครั้งที่ไปก็ได้สิ่งตอบแทนกลับมาทุกครั้ง” นายณัชพล นวมงคล (วิน) RA13 คณะวิทยาศาสตร์ (เอกสถิติประยุกต์) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี