แนวคิดการศึกษาแนวพุทธ โดยท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก
สนทนาธรรมกับ ท่านเจ้าคุณอาจารย์ พระธรรมปิฏก (ป.อ.ปยุตฺโต) ที่ปรึกษาสูงสุดของโรงเรียน
สนทนากับผู้อำนวยการ และคณะอาจารย์ ร.ร.รุ่งอรุณ ที่วัดญาณเวศกวัน 20 พฤศจิกายน 2544
วินัยชาวพุทธ
ไม่ว่าพระสงฆ์หรือใครก็ต้องมีวินัย
พระธรรมปิฎก : เรื่องวินัยชาวพุทธ ตอนนี้เน้นมาก เพราะสังคมชาวพุทธเดี๋ยวนี้เหมือนไม่มีวินัย คนทั่วไปรู้จักแต่วินัยของพระ ไม่รู้ว่าตัวเองก็ต้องมีวินัย เลยลืมดูวินัยตัวเอง แล้วพอวินัยเสื่อม วิถีชีวิตก็ไม่ดี
วินัยคือวิถีชีวิตของชาวพุทธ ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสไว้ จึงเป็นเรื่องสำคัญ แต่ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เลือนลางไปได้อย่างไร ก็เลยอยากรื้อฟื้นขึ้นมา ตอนนี้มีการจัดระเบียบสังคมกัน ซึ่งก็อยู่ในวินัยชาวพุทธนี่เอง ถ้ารื้อฟื้นขึ้นมาได้สังคมก็จะมั่นคง ชีวิตก็ดีงาม ระยะนี้ก็จึงย้ำและฝากเรื่อง วินัยชาวพุทธ ให้กับพระที่ลาสิกขา เพื่อให้ช่วยกัน โดยให้ปฏิบัติเอง และแนะนำผู้อื่น ช่วยกันฟื้นวิถีชาวพุทธให้คืนมา
วินัยไม่ใช่บังคับ
อ.ประภาภัทร : คนสมัยนี้ได้ยินคำว่า “วินัย” ก็ตกใจ เพราะคิดว่าเป็นคนละเรื่องกับวิถีชีวิตของเขา แม้แต่ครูบางส่วนก็คิดว่าวินัยเพลาๆ หน่อยก็ดี
พระธรรมปิฎก : การที่คิดอย่างนั้น ก็เพราะไปมองวินัยว่าเป็นการบังคับ ซึ่งผิด “วินัย” ตามภาษาพระแปลว่า การนำไปให้วิเศษ หมายถึงว่ามนุษย์ต้องมีการฝึก ชีวิตจึงจะดีงาม คนเรานี้ถ้าไม่มีการฝึกวินัย ชีวิตจะเอาอะไรดีไม่ได้ เพราะมนุษย์นั้น โดยสัญชาตญาณแพ้สัตว์ชนิดอื่น
ธรรมชาติของมนุษย์คือเป็นสัตว์ที่ต้องฝึก ต้องศึกษา ดังนั้นจึงอยู่ที่มนุษย์ว่าจะใช้ธรรมชาติของตัวเองให้เป็นประโยชน์หรือไม่ ถ้าไม่ใช้ ธรรมชาติที่เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ให้เป็นประโยชน์ มนุษย์ก็แย่กว่าสัตว์ชนิดอื่น ถ้าเกิดมาแล้วไม่เรียนรู้ก็อยู่ไม่รอด แล้วจะดำเนินชีวิตที่ดีไม่ได้เลย แม้แต่จะช่วยตัวเองก็ไม่ไหว
นกบินเป็นฝูงอย่างมีระเบียบ มดเดินเป็นแถวได้ตามสัญชาตญาณ แล้วมันก็อยู่กันได้ให้ทุกตัวอยู่ดี แต่คนเรานี้จะอยู่ดีมีระเบียบ ต้องฝึกขึ้นมา
มนุษย์มีคุณสมบัติพิเศษเหนือสัตว์ชนิดอื่น ตรงที่ฝึกได้ พระพุทธเจ้าทรงนำเอาหลักความจริงนี้มาใช้ จึงตรัสว่ามนุษย์ที่ฝึกแล้วประเสริฐ
วินัยคือการจัดสรรให้เกิดโอกาส
พระธรรมปิฎก : วินัยนี้ ถ้ามองในแง่ของชีวิตส่วนรวม ที่อยู่ร่วมกัน ก็เป็นการจัดสรรโอกาส วินัยคือการจัดสรรโอกาส ทำให้พร้อมและทำอะไรได้สะดวก ได้คล่องตัว ถ้าไม่มีวินัยก็วุ่นวายสับสน จะทำอะไรก็ติดขัด เหมือนกับญาติโยมนั่งอยู่ที่นี้ คนหนึ่งลุก คนหนึ่งนั่ง คนหนึ่งจะพูด อีกคนก็พูดเลยไม่รู้เรื่อง แต่พอเรามีวินัย มีการตกลงจัดลำดับกันเป็นระเบียบขึ้นมา ก็ทำให้จัดกิจกรรมอะไรๆ ได้ผลตามความมุ่งหมาย
ยกตัวอย่างเช่น อยู่ในบ้าน ทางเดินไม่รู้ว่าเป็นทางเดิน เอาโต๊ะมาวาง เอาเก้าอี้มาวาง เอาของโน่นนี่มาวางไม่เป็นที่ กว่าจะเดินผ่านออกประตูไปได้ก็นานเหนื่อย ชนนู่นชนนี่ เจ็บ แต่ถ้าเราจัดของทุกอย่างให้เข้าที่ เป็นทางโล่ง เราก็เดินสะดวก
ในสังคมกว้างออกไป ถ้าเต็มไปด้วยการเบียดเบียน ไม่มีวินัยพื้นฐาน คนก็หวาดระแวงกลัวเรื่องการจะถูกทำร้ายร่างกายหรือทำลายชีวิต หวาดระแวงเรื่องการจะถูกแย่งชิงทรัพย์สิน ฯลฯ จะเดินทางไปไหนก็ไม่ค่อยกล้าจะไป แม้แต่ในถนนการจราจรไม่มีวินัย ก็ไม่สะดวก ทำให้การงาน ไม่เดินหน้า และแต่ละคนไม่สามารถพัฒนาชีวิตของตนได้ดี เพราะฉะนั้นวินัยจึงเป็นเรื่องของการจัดสรรให้เกิดโอกาส
ถ้าจัดวินัยดีก็จะเกิดโอกาสที่ดี สามารถทำกิจต่างๆ ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายได้ วินัยจึงเป็นการเตรียมการขั้นพื้นฐาน นั่นเองที่จะทำให้เรา ทำกิจที่เหนือจากนั้นขึ้นไปเราจึงต้องมีวินัยเพื่อวางพื้นฐานสังคมให้พร้อม เพื่อให้คนในสังคมสามารถ ทำกิจต่างๆ ที่จะเป็นการพัฒนาชีวิต หรือการสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป
ถ้าเรามองวินัยเป็นเรื่องของการจัดสรรโอกาส ก็จะรู้สึกดี ไม่ใช่รู้สึกเหมือนถูกบีบคั้นบังคับ
คนมองวินัยตามระดับการพัฒนาของตน
พระธรรมปิฎก : ท่าทีต่อวินัยนี้คนจะต่างกันไปตามระดับการพัฒนาหรือตามระดับของการศึกษา ซึ่งสามารถแบ่งคนเป็น 3 ระดับ คือ
1. คนที่ยังไม่มีปัญญา ไม่รู้ไม่เข้าใจ มีแต่ความต้องการของตัวเอง เอาแต่ใจตัว เห็นแก่ตัว เมื่อมีการจัดสรรวางระเบียบหรือมีวินัย ก็คิดว่าจะทำไม่ได้ตามใจตัวเอง ไม่เห็นคุณค่า ไม่พร้อมใจจะทำ ก็ขัดใจ ฝืนใจ ก็มองเห็นวินัยเป็นเครื่องบังคับ
2. พวกที่เข้าใจ มีเหตุผลมีปัญญา รู้ว่าวินัยที่จัดขึ้นนั้นเพื่อประโยชน์แก่ชีวิตของเรา เพื่อการอยู่ร่วมกันได้ดี และเพื่อช่วยเกื้อหนุน การทำกิจเพื่อจุดหมายที่สูงขึ้นไป เมื่อเข้าใจแล้วเขาก็เห็นคุณค่า มีฉันทะ พร้อมที่จะปฏิบัติตาม ใจก็ชุ่มชื่น มีความสุข แม้จะรู้ว่าไม่ถูกใจ หรือ ไม่ได้ตามใจในบางเรื่อง ก็รู้ว่าต้องฝึก รู้ว่าวินัยเป็นการฝึก เราต้องฝึกตัวเอง พอมองวินัยว่าเป็นการฝึก ก็พร้อมใจ ทำด้วยความสุข
3. ผู้ที่ฝึกตัวดีแล้ว วินัยเป็นเพียงเครื่องหมายรู้ ว่าในการอยู่ร่วมกัน เราจะทำอะไรอย่างไร เหมือนกับพระอรหันต์ เมื่ออยู่ร่วมกัน ก็ต้องมีวินัย เช่น มีกติกาหรือข้อตกลงกันว่า เมื่อเราอยู่ร่วมกัน จะดำเนินชีวิตของหมู่คณะอย่างไร วันหนึ่งๆ จะพบกันกี่ครั้งด้วยเรื่องอะไร ฯลฯ มีการตกลงว่าจะใช้สัญญาณ เช่น ตีระฆังว่าตีเท่านั้นครั้งหมายถึงว่ามีการให้มาพบกันด้วยเหตุนั้นๆ
ชุมชนจะอยู่ดีก็ต้องอาศัยวินัย ถ้าเป็นวินัยของคนที่มีการศึกษา ก็จะเป็นเพียงเครื่องหมายรู้สำหรับการอยู่ร่วมกัน ให้อยู่ด้วยกันอย่างดีงาม และเป็นสุข วินัยมองในแง่ที่สัมพันธ์กับการพัฒนาของบุคคลก็เลยมี 3 ระดับ ดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
ถูกบังคับจริง หรือเพียงไม่ถูกใจ
พระธรรมปิฎก : เป็นอันว่าวินัยเป็นสิ่งจำเป็นของมนุษย์ แต่เราจะเกิดปัญหา ก็เพราะไม่เข้าใจคำว่า วินัย และปฏิบัติตัวไม่ถูก ก็ทำให้รู้สึกว่าเป็นการบังคับ
วินัยที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกลายเป็นการบังคับจริงๆ ก็มี คือ
1. วินัยที่ไม่เกิดจากเจตนาที่ดี คนจัดตั้งวินัยไม่มีความปรารถนาดี ต่อชีวิตและต่อชุมชน แต่ตั้งวินัยเพื่อสนองความเห็นแก่ตัวของบางคน ทำให้เกิดวินัยที่ไม่เป็นธรรม เช่น กฎหมายที่เกิดจากเจตนาไม่ดี
2. วินัยที่ไม่เกิดจากปัญญา ไม่รู้เข้าใจเหตุผล ทำให้ร่างกฎหมายขึ้นมาให้กลายเป็นเครื่องบีบคั้นอย่างแท้จริง ไม่ใช่บีบคั้นเพราะขัดต่อความรู้สึกของคนที่ไม่พร้อม ซึ่งมีจิตใจยังไม่พัฒนา
รวมความว่า การจัดตั้งวินัยต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการ คือ
1. เจตนาดี ต้องการให้เกิดผลดีแก่ชีวิตและสังคม โดยใจบริสุทธิ์ สุจริต ไม่ใช่มุ่งจะหาประโยชน์แก่ตน หรือบีบคั้น คนอื่น
2. มีปัญญา ความรู้ความเข้าใจ ตั้งแต่เข้าใจความมุ่งหมาย
เวลานี้วินัยกลายเป็นเรื่องฝืนใจกันมาก เพราะคนส่วนใหญ่เป็นไปตามกระแสค่านิยม เอาแต่ใจตัวเอง เห็นแก่การเสพ บริโภค ขาดจิตสำนึกต่อสังคม ไม่คิดในทางรับผิดชอบ ไม่มีจิตสำนึกที่จะพัฒนาตน ไม่เห็นคุณค่าของการศึกษา และอ่อนแอ ก็เลยกลายเป็นฝืนใจ เราก็ต้องพยายามให้ความรู้ความเข้าใจเท่าที่ทำได้
ถ้าคนเห็นคุณค่า เข้าใจเหตุผล รู้ประโยชน์ ก็จะเกิดฉันทะขึ้นมา พอมีฉันทะก็เต็มใจทันที และความสุขก็มาด้วยในการปฏิบัติ
แต่ไม่ว่าใครจะเต็มใจหรือไม่เต็มใจ วินัยที่ดีก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น เพราะเมื่อสังคมดีไม่เบียดเบียนกันแล้ว แต่ละคนก็จะมีชีวิตที่ปราศจาก เวรภัย ไม่ต้องหวาดระแวง ทำให้เป็นสุข จะไปไหน จะทำอะไร ก็คล่องสะดวก เป็นอานิสงส์ร่วมกัน
วินัยหรือระเบียบสังคมขั้นพื้นฐาน บอกให้รู้ว่าสังคมจะอยู่ดีได้ต้องไม่เบียดเบียนกัน คนต้องไม่จมอยู่ใต้อบายมุข ต้องมีความเป็นธรรม ต่อจากนั้นบนพื้นฐานนี้ก็มีระเบียบกติกาในเรื่องการหาเลี้ยงชีพหาเงินหาทอง วางแผนเรื่องการจัดสรรทางเศรษฐกิจ การจัดการเรื่องคน และให้มีความสัมพันธ์ในการทำหน้าที่ต่อกันอย่างถูกต้องระหว่างมนุษย์ที่อยู่ในสถานะต่างๆ กัน เช่นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ฯลฯ แล้วไปจบที่สังคหวัตถุ 4 เพื่อช่วยให้สังคมอยู่กันอย่างประสานกลมกลืน และมีความสามัคคีมั่นคง มีเอกภาพ การจัดระเบียบสังคมและระเบียบชีวิตอยู่ในขอบเขตนี้ ถ้ามีวินัยชาวพุทธอย่างนี้ก็น่าจะพอ แต่เวลานี้ไม่มีวินัยจึงเป็นปัญหาอย่างหนัก
ฝืนใจไม่ใช่อยู่ที่ “ยาก” แต่อยู่ที่ “อยาก”หรือไม่
อ.ประภาภัทร : ในขณะนี้โรงเรียนเผชิญกระแสความไม่มีวินัยเยอะเหมือนกัน ต้องพยายามให้วินัยเกิดขึ้นในหมู่นักเรียน เพราะพ่อแม่คิดว่าการฝืนใจเป็นเรื่องไม่ควรทำ ไม่ปล่อยให้เด็กเผชิญกับการฝืนใจของตัวเองที่ต้องพยายามทำเรื่องที่ถูกต้อง ก็เลยเป็นความอ่อนแอ เมื่อต้องอดทนทำสิ่งถูกต้อง
พระธรรมปิฎก : โดยมากคนจะเอาความฝืนใจไปโยงกับความยาก ถ้าจะทำอะไรที่ยาก ก็บอกว่าฝืนใจ เคยถามย้อนไปว่า “ปีนเขายากไหม?” ตอบว่า “ยาก” แล้วนักปีนเขาฝืนใจไหม เปล่า ไม่ฝืนใจ กลับแย่งกันจะขอไปก่อน นี่แหละ จะฝืนใจหรือไม่ ไม่ใช่อยู่ที่ยากง่าย แต่อยู่ที่ใจเอาหรือไม่ พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่อยู่ที่ยากหรือไม่ แต่อยู่ที่อยากหรือไม่
อย่างเช่นการเที่ยวเสเพล พวกที่ชอบ อยากไป ก็เอาเลย แต่เด็กที่เขาหัดคิด เข้าใจเหตุผล มองเห็นโทษว่าเป็นอย่างไร ๆ แล้ว ใจไม่เอาแล้ว ทั้งที่ทำได้แสนจะง่าย ถ้าจะต้องไป กลับกลายเป็นฝืนใจ
เรื่องนี้แหละเป็นงานของการศึกษา เพราะการศึกษาจะสำเร็จผล เมื่อทำให้คนพัฒนา คือเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนความอยาก เปลี่ยนท่าที ต่อสิ่งทั้งหลายได้ จากทัศนคติที่เกิดจากโมหะ มาเป็นทัศนคติที่เกิดจากปัญญา
เรื่องวินัยนี้ต้องเปลี่ยนทัศนคติจากการฝืนเป็นการฝึก เรื่องนี้อยู่ที่สภาพจิต เมื่อใดเราเห็นคุณค่า เราพร้อมใจ ก็จะเกิดความอยากฝึกขึ้นมา จึงต้องเปลี่ยนความอยาก
คนเรานี้ตอนแรกก็มีความอยากทำตามใจตัว เช่น อยากได้นู่นได้นี่ ซึ่งเป็นความอยากพื้นฐาน ถือเป็นความอยากตามความรู้สึก เป็นความอยาก ที่ไม่ประกอบด้วยปัญญา
ทีนี้พอคนมีปัญญา เริ่มเห็นโทษว่า การทำแบบนั้นไม่ดี ที่เคยอยากก็จะไม่อยาก สิ่งที่ตัวเองเคยไม่ชอบ แต่เห็นว่ามีคุณประโยชน์ ก็ชักจะอยาก เมื่อปัญญามา พอเห็นคุณค่า ความอยากอย่างใหม่ก็จะเกิด ตอนนี้สิ่งที่เคยอยาก และชอบที่จะทำ พอมองเห็นว่าไม่ดี กลับไม่อยากทำ ถ้าจะต้องทำก็กลายเป็นฝืนใจ
คนที่พัฒนามีการศึกษาขึ้นมา ถ้าจะทำอะไรที่ไม่ดี ที่เคยอยากทำ ตอนนี้กลายเป็นฝืนใจ แต่ความอยากอย่างใหม่นี้ยังไม่ตรงกับความเคยชิน ก็เลยต้องฝึก พออยากฝึกก็จะเข้มแข็งเอง เมื่อใจพร้อมที่จะทำก็มีความสุข ก็เรื่องเดียวกันนั่นแหละ เมื่อท่าทีของจิตใจเปลี่ยนไป ที่ฝืนใจก็กลายเป็นอยากฝึก
สไตล์อเมริกันว่า คนยอดเยี่ยม คือคนเอาชนะสิ่งที่ยาก
พระธรรมปิฎก : สำหรับคนทั่วไปส่วนมาก ความชอบใจพอใจ ความอยาก และความสุข ขึ้นอยู่กับกระแสสังคม โดยเฉพาะค่านิยม เช่น ในสังคมที่คนมี ค่านิยม ชอบความฟุ้งเฟ้อโก้เก๋ มองว่าใครมีอะไรหรูหราโก้เสพบริโภคมากก็เป็นคนยอดเยี่ยม คนก็ชอบโก้เก๋หรูหรา เอาแต่เพลิดเพลินเสพบริโภค จะทำอะไรก็ฝืนใจ
แต่ในบางสังคม คนมีค่านิยมว่าใครทำอะไรที่ยากได้สำเร็จ ก็ชื่นชม น่าภูมิใจ คนที่ยอดเยี่ยม คือคนเอาชนะสิ่งที่ยาก เมื่อสังคมมีกระแสนิยม อย่างนี้ คนก็ชอบทำสิ่งที่ยาก ไม่รู้สึกฝืนใจ แต่แข่งแย่งกันทำสิ่งที่ยากนั้น
ยกตัวอย่าง สังคมอเมริกันตามวิถีชีวิตเดิม (แบบ traditional) มีค่านิยมแบบหลัง คือ ยกย่องคนผู้เอาชนะสิ่งที่ยาก ตามคต frontier (คติบุกฝ่าขยายพรมแดน) และระบบแข่งขันก็หนุนให้เข้มข้น
คนไทยไม่อยากเอาอย่างอเมริกันในแง่เอาชนะความยาก เพราะกลัวเด็กเครียด ที่จริงเข้าใจผิด
คนที่พยายามเอาชนะความยาก คือคนมีวิริยะ ถ้าเกิดจากปัจจัยภายใน เขาเต็มใจทำสิ่งที่ยากนั้น ไม่ฝืนใจ จึงไม่เครียด แต่มีความสุข ในการทำให้สำเร็จ
จุดอ่อนหรือจุดพลาดของอเมริกันอยู่ที่ว่า เขาใช้แรงจูงใจตามระบบสัญชาตญาณมาบีบคนให้แข่งกัน แล้วใช้ระบบอารยธรรมด้านกฎกติกา ของสังคม เช่น กฎหมายมาคุมคน แทนที่จะเน้นการเอาชนะงาน ก็มามองที่การเอาชนะคน หรือเอาชนะคู่แข่ง ทำให้เกิดความหวาดระแวง ความหวั่นกลัว กลัวแพ้ จะเอาเปรียบเสียเปรียบ ตรงนี้ต่างหากเป็นที่มาของความเครียด
เพราะฉะนั้น จับจุดอเมริกันให้ถูก ที่ดีก็เอามา ที่ไม่ดีก็ทิ้งไป คนที่มีความสุขในการทำสิ่งที่ยาก เป็นความสุขของคนเข้มแข็ง จึงเป็นความสุข ที่มั่นคงยืนนาน และแสดงถึงการพัฒนาหรือมีการศึกษา และในแง่สังคมก็สร้างสรรค์
ส่วนคนที่มีความสุขจากการตามใจบำรุงบำเรอ จะมีความสุขแบบเปราะบาง เป็นความสุขของคนอ่อนแอ ที่เหยาะแหยะแตกสลายง่าย และใน แง่สังคม ก็จะนำไปสู่ความเละเทะเสื่อมโทรม
ยิ่งกว่านั้น คนเข้มแข็งจะเป็นคนที่ทุกข์ได้ยาก แต่สุขได้ง่าย แถมยังเก่งในการแปรทุกข์ให้เป็นสุข ส่วนคนที่อ่อนแอ จะทุกข์ได้ง่าย แต่สุขได้ยาก และความสุขของเขาก็เปลี่ยนไปเป็นความทุกข์ได้ง่าย
เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างสัมมาทิฏฐิ คือทำให้เกิดปัญญา ให้มีความเข้าใจที่ถูกต้อง ให้รู้จักมองเห็นประโยชน์ของสิ่งทั้งหลาย และให้เกิดความอยากแบบฉันทะ แล้วก็อยากทำสิ่งที่ดีที่เป็นประโยชน์
เอาการจัดตั้งข้างนอกเป็นสื่อ พาสู่การปรับเปลี่ยนภายใน
พระธรรมปิฎก : ตอนนี้อยู่ที่ว่าทำอย่างไรเราจะสร้างความอยากอย่างใหม่ขึ้นมาได้ คือพัฒนาความต้องการ จึงต้องเน้นว่า การศึกษา คือการพัฒนาความต้องการ เพราะความต้องการของคนพัฒนาได้ พอเราพัฒนาความต้องการแล้ว ก็พัฒนาอะไรได้ทุกอย่าง
ความต้องการเป็นคุณสมบัติสำคัญ เหมือนเป็นกุญแจไขสู่ความสำเร็จ เมื่อเกิดความต้องการหรือความอยากทางไหน ใจก็จะไปทางนั้น มันเปลี่ยนทิศทาง เปลี่ยนความสุข เปลี่ยนทุกอย่าง โดยเฉพาะความสุข เมื่อเรามีความต้องการอย่างไร ความสุขก็เปลี่ยนไปตามอย่างนั้น
เช่นเมื่อเราเกิดความอยากรู้ อยากฝึก ความสุขก็จะเกิดสนองขึ้นมา พอได้เรียนรู้ก็เกิดความสุข พอทำแบบฝึกหัดได้ก็สุข
บางทีเราเน้นแต่เรื่องภายนอกว่า ให้ครูอาจารย์จัดกิจกรรมที่จะเรียนให้สนุก และจัดบรรยากาศชั้นเรียนให้มีความสุข อย่างนี้เรียกว่าความสุข ที่อาศัยปัจจัยภายนอก เป็นความสุขแบบจัดตั้ง ซึ่งเราใช้เป็นวิธีการที่จะนำเข้าสู่จุดหมายเท่านั้น แต่ถ้าเราอยู่แค่นี้จะเกิดโทษได้ เด็กจะมีความสุขแบบ พึ่งพา ต้องอาศัยปัจจัยภายนอก ต้องมีผู้จัดกิจกรรมสนุกและจัดบรรยากาศแห่งความสุขให้
แต่ในโลกของความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอย่างนั้น เมื่อเขาอยู่กับชีวิตที่เป็นจริง ไม่มีใครมาจัดอะไรให้ โลกและชีวิตที่เป็นจริง และกฎธรรมชาติ มันไม่เข้าใครออกใคร เขาต้องสามารถสร้างความสุขได้เอง เพราะฉะนั้นการอาศัยปัจจัยภายนอกจากกัลยาณมิตร มาช่วยจัดบรรยากาศให้การเรียน มีความสุขนี้ เป็นเพียงข้อปฏิบัติขั้นต้นที่จะนำไปสู่การสร้างปัจจัยภายในของเขา
เด็กจะมีความสุขด้วยตัวเองจากปัจจัยภายในได้ เมื่อมีฉันทะ ความสุขก็เกิดเอง เขาก็เปลี่ยน สิ่งที่เป็นทุกข์ก็เปลี่ยนเป็นสุขตรงนี้คือการพัฒนาที่ แท้จริง สิ่งที่ต้องระวัง คือเรื่องปัจจัยภายนอก ความสุขแบบพึ่งพา ความสุขจัดตั้ง
ถ้าหากครูสามารถเชื่อมต่อให้การจัดตั้งโยงเข้าไปหาปัจจัยภายใน นั่นจึงจะสำเร็จ เป็นการศึกษาที่แท้จริง เด็กจะสร้างความสุขได้เองต่อไป ไม่ว่า จะ อยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไร เขาก็สามารถสร้างความสุขขึ้นได้
เรื่องเรียนอย่างมีความสุข บางทีมองกันแค่บรรยากาศในห้องเรียน และกิจกรรมที่ครูจัด กลายเป็นว่าครูเป็นคนเอาใจเด็ก เด็กจะอ่อนแอ
การเล่น การเรียนอย่างสนุกนั้นดี แต่ต้องระวัง มันเป็นความสุขขั้นต้น สุขแบบแทรกแบบเสริมเท่านั้น
เด็กจะเติบโต ต้องให้ความสุขพัฒนา
พระธรรมปิฎก : ในความหมายหนึ่ง การศึกษา คือการพัฒนาความสุข พอพัฒนาความสุข การพัฒนาด้านอื่นก็จะก้าวไปเอง เหมือนที่พระพุทธเจ้าตรัส เรื่องวิธีปฏิบัติต่อความสุข 4 อย่าง คือ
1. ไม่เอาทุกข์ทับถมตน
2. ไม่ละทิ้งความสุขที่ชอบธรรม
3. แม้ในสุขที่ชอบธรรมก็ไม่สยบมัวเมา ไม่ติดจมหมกมุ่น
4. ก้าวขึ้นสู่ความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป
ข้อสุดท้ายนี้จะทำให้คนพัฒนา นี่แหละเป็นการศึกษา เพราะทำให้ต้องพัฒนาจิตใจ พัฒนาปัญญา ฯลฯ โดยเฉพาะเป็นความสุขที่เน้น ด้านปัญญา เรื่องนี้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งหมด
การศึกษาตอนนี้มักมองความสุขในแง่เดียว เน้นกันอยู่แค่เสพบริโภค และการอาศัยปัจจัยภายนอก ถ้าเราไม่สามารถแก้ไขความเข้าใจของคน ในเรื่องความสุข ให้ก้าวไปสู่ความสุขที่ประณีตยิ่งขึ้น ก็แก้ปัญหาชีวิตและสังคมไม่ได้ เพราะคนไทยและคนในโลกจำนวนมาก ตอนนี้ต้องการ ความสุขจากการเสพบริโภคอย่างเดียว จนกระทั่งลืมพื้นฐานความสุขเดิมคือ
1. ความสุขจากเมตตาไมตรีในการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์
2. ความสุขจากความชื่นชมความงดงามท่ามกลางสิ่งแวดล้อม คือธรรมชาติ
3. ความสุขจากความพอใจในการทำกิจกรรมทุกๆ ขณะของชีวิต
ทั้งสามนี้คือ ความสุขพื้นฐานของมนุษย์ที่เรามีอยู่แล้วประจำชีวิต
พอมนุษย์ได้ความสุขในเรื่องเสพบริโภค ก็เหมือนเสริมให้มนุษย์มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกด้านหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่รู้ตัวหลงไป มันจะมาบั่นทอน ความสุขอื่น เริ่มตั้งแต่มีความหวาดระแวงระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ความสุขด้านไมตรีเริ่มเสียไป ทั้งที่อยู่กลางธรรมชาติ ก็ไม่ได้สัมผัสความงาม ของ มัน เพราะใจกังวลเรื่องการแข่งขันแย่งชิง หวั่นกลัว จะทำอะไรก็เพราะเป็นเงื่อนไขทางเศรษฐกิจ ทำให้ทำกิจกรรมอย่างฝืนใจ ความสุขจาก
การเสพบริโภคจึงกลายเป็นเครื่องบั่นทอนความสุขพื้นฐานของชีวิตไป
ถ้าดำเนินชีวิตถูกต้อง ความสุขพื้นฐานจะต้องมากขึ้น ลึกซึ้งขึ้น ชัดเจน และยิ่งพัฒนาจนมีความสุขมากมาย สำหรับพระอรหันต์ท่านพัฒนา จนมีแต่ความสุขอย่างเดียว และไม่ต้องหาความสุขอีก คือมีความสุขเป็นคุณสมบัติประจำชีวิต เมื่อไม่ต้องหาความสุข ก็ไม่ต้องทำอะไรเพื่อตนเอง ไม่ต้องไปแย่งชิงอะไรกับใคร ก็มีแต่จะไปแพร่ขยายความสุข
แต่ตอนนี้เราไม่มองว่าการศึกษาคือการพัฒนาความสุข ไม่ได้โยงการศึกษาเข้ากับความสุข
ทำอย่างไรถึงจะพัฒนาความสุขที่แท้จริงของเด็กขึ้นมาได้ และหนุนให้เด็กก้าวขึ้นสู่ความสุขขั้นต่อๆ ไป ก็ต้องเข้าใจตั้งแต่เรื่องความสุข พื้นฐานและพัฒนาความต้องการขึ้นมาด้วยการศึกษาที่ถูกต้อง
เรียนสนุกในชั้นแล้ว ต้องให้ไปเรียนเองอย่างมีความสุขด้วย
พระธรรมปิฎก : การสอนให้สนุก เรียนอย่างมีความร่าเริงสนุกนั้น จะเห็นได้ในหลักการสอนของพระพุทธเจ้า ด้านบรรยากาศทั่วไป พระองค์จะทรงสอนอย่าง ให้เกิดความร่าเริงบันเทิงใจด้วย ตามหลักที่เรียกว่าลีลาการสอน 4 อย่าง
1. สันทัสสนา ชี้แจงให้เห็นชัดเจนแจ่มแจ้ง
2. สมาทปนา สอนอย่างมีเหตุผลเป็นต้น ทำให้เห็นด้วย ใจยอมรับและอยากนำไปปฏิบัติ
3. สมุตเตชนา ทำให้เกิดความคึกคักมีกำลังใจที่จะลงมือทำ
4. สัมปหังสนา ให้ร่าเริงเบิกบานใจ
เมื่อกี๊มีท่านหนึ่งถามเกี่ยวกับการช่วยเด็กพิเศษ สำหรับเด็กพิเศษนั้น เขาต้องการพึ่งพาคนอื่นมาก เราต้องยอมรับความจริงด้วยว่า การพึ่งพา นั้นมีมากน้อยไม่เท่ากัน อยู่ที่เด็กมีความบกพร่องแค่ไหน ในขั้นต้นเด็กจะมีความสุขจากกัลยาณมิตรมาก โดยต้องอาศัยตัวช่วยคือศรัทธา ครูอาจารย์ที่เป็นกัลยาณมิตรจึงต้องทำให้เด็กเกิดศรัทธา
เด็กจะมีความสุขเมื่ออยู่กับกัลยาณมิตร เพราะศรัทธาเป็นตัวสำคัญที่ทำให้เขาอุ่นใจ มีกำลังใจ จิตใจผ่องใส ศรัทธามีลักษณะที่จิตใจผ่องใส หายขุ่นมัว หายเศร้าหมอง เกิดกำลังในการทำ เราต้องอาศัยศรัทธาช่วยนำเขาไปสู่สิ่งที่ดีงาม เมื่อเด็กมีศรัทธา เขาก็พร้อมที่จะฟัง และอยากทำตาม
ต่อจากนี้ก็อยู่ที่ว่ามีอะไรให้เขาทำ ถ้าบางอย่างยาก เราก็ต้องช่วยหาสิ่งที่เขาทำได้สะดวก สำหรับเด็กพิเศษแบบนี้ควรมุ่งไปที่ให้เขามี การกระทำ หรือกิจกรรมแบบเคยชิน บางคนเราทำให้เขาเกิดความก้าวหน้าต่อไปเองได้ยาก แต่เขาทำได้ขั้นหนึ่งคือ กิจกรรมเคยชิน แต่ความ เคยชินก็เป็นประโยชน์ต่อชีวิตอยู่แล้ว เมื่อเขาทำบ่อยๆ ให้ชินแล้วก็ทำได้ เราก็ให้เขาชินจนทำได้ดี ตอนนี้ถึงไม่มีกัลยาณมิตรอยู่ด้วย เขาก็สุขอยู่กับการทำสิ่งนั้น ซึ่งเขาชอบและทำได้สำเร็จเพราะเคยชิน แล้วก็เป็นประโยชน์แก่เขาด้วย
คนในระดับหนึ่งอยู่ได้แค่ความเคยชิน เราก็หาอะไรที่ทำไม่ยากให้เขาชอบและทำจนเกิดความเคยชิน แล้วเขาก็จะอยู่ได้กับสิ่งที่เขาทำได้ด้วย ความเคยชินนั้น เขาก็จะอยู่กับตัวเองอย่างมีความสุขได้ในระดับหนึ่ง ก็อยู่ที่ครูช่วยเขาเลือก ทำเป็นชิ้นๆ ทำไปเรื่อยๆ หมายความว่าเด็กระดับนี้ ยังหนีไม่พ้นการพึ่งพา แต่เราใช้การพึ่งพานั้นช่วยให้ตัวเขามีสิ่งที่เขาทำได้เอง แล้วมีตัวเชื่อมที่ทำให้เขามีจิตใจผูกพันในทางที่ดีเป็นสุข
อย่างในทางจิตใจ การท่องบทสวดมนต์ ก็เป็นวิธีหนึ่ง แม้เด็กจะสวดโดยไม่รู้เข้าใจเนื้อหาสาระ เขาได้แค่ตัวหนังสือหรือตัวบท เมื่อเขาสวดไปโดยเคยชินตามทำนองที่ดี ก็เป็นกิจกรรมที่ทำให้เขาอยู่กับตัวเองได้และมีความสุข ครูก็แนะนำในขั้นพื้นๆ ให้เขาได้บรรยากาศและเชื่อมโยงคุณค่าทางจิตใจด้วยศรัทธา
Pages: 1 2