ค่ายศิลปะ Public Art
“…การทำงานศิลปะเพื่อคนอื่น เราต้องหาจุดพอดีระหว่าง Inside out (การออกแบบจากความข้อมูลภายในของศิลปิน) กับ Outside in (การออกแบบจากข้อมูลภายนอก เช่น พื้นที่ ผู้คน) และทำประชาพิจารณ์…อยากให้พวกเราเติบโตเป็นคนออกแบบที่รอบคอบ แล้วเราจะรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร และดีงามอย่างไร” พ่อโหน่ง ศิลปินรับเชิญคนคุ้นเคยของชุมชนรุ่งอรุณกล่าวกับนักเรียนที่มาเข้าค่ายศิลปะในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ในภาคเรียนนี้นักเรียนชั้นมัธยมปลาย สำนักศิลปะการออกแบบและคุณภาพชีวิต จะต้องทำโครงงานศิลปะบนพื้นที่จริงในชุมชนรุ่งอรุณ (Public Art) ทีมครูศิลปะจึงชักชวนนักเรียนกว่า ๓๐ คน มาเข้าค่ายในวันที่ ๕-๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ เพื่อเรียนรู้และจุดประกายแรงบันดาลใจจากศิลปินรับเชิญ สร้างชิ้นงานจากเงื่อนไขที่ครูกำหนด ทดลองออกแบบชิ้นงานบนพื้นที่จริงแล้วนำเสนอ โดยมีพ่อโต้ง พ่อโหน่ง อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ มารับฟังการนำเสนอ ตั้งคำถาม และให้คำแนะนำเพื่อการพัฒนาต่อยอด
คุณวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ นักออกแบบกราฟิก หนึ่งในศิลปินรับเชิญได้มาบอกเล่าประสบการณ์การใช้ศิลปะมาจัดการกับพื้นที่ ผ่านผลงานการออกแบทั้งในระดับประเทศและระดับสากล พร้อมให้มุมมองที่น่าสนใจ อาทิ
- no concepts, just ideas ดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง ทำได้ดีแค่ไหน แล้วเราจะทำต่อไปไหม ถ้าเราทำทุกอย่างเป็น concept เราจะมุ่งไปสู่ความเป็นเลิศ แต่ถ้าเป็น idea มันแตกยอดไปได้อีกเยอะ ให้หาความเป็นไปได้อื่นๆ
- ให้ทำงานสะสมไปเรื่อยๆ เป็นการสะสมประสบการณ์ เป็น Library ที่เราจะดึงมาใช้ตอนทำงาน/เมื่อเจอปัญหา
- งานทุกงานไม่มีสมบูรณ์แบบ ปัญหาที่พบ/ข้อติดขัดในงานหนึ่ง จะนำไปสู่การแก้ไข/“แก้แค้น”/พัฒนางานชิ้นต่อๆ มา
- การจัดการกับพื้นที่ขนาดใหญ่/งานสเกลใหญ่ หลายๆ อย่างต้องง่าย (Simple) ที่สุด
อาจารย์พิษณุ นำศิริโยธิน ศิลปินงานไม้ที่เคยเป็นคุณครูของรุ่งอรุณ และกำลังมีผลงานจัดแสดงอยู่ที่ TCDC มาแบ่งปันบทเรียนจากการทำงานไม้ อาทิ
- งานทุกงานถ้าใส่ใจรายละเอียด (detail) โอกาสสำเร็จสูง เหมือนภาษิตฝรั่งที่ว่า God is in the details
- หาจุดพอดีระหว่างวางแผนและลงมือทำ
- ต้องรู้จักวัสดุ รู้จักเครื่องมือ รู้วิธีการ และตั้งใจเรียนรู้ระหว่างทำ
- เวลาเริ่มทำอะไร อย่าโหดร้ายกับตัวเองมากนัก เริ่มจากพื้นฐานง่ายๆ ก่อน แล้วค่อยต่อยอด เพิ่มความยาก ความซับซ้อน
ก่อนจบค่าย นักเรียนช่วยกันจัดแสดงผลงานการเรียนรู้และการออกแบบของพวกเขาไว้ที่บริเวณโถงเรือนรับอรุณ (โรงช้าง) เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากชาวชุมชนรุ่งอรุณ ก่อนจะนำไปออกแบบและพัฒนางานต่อไป ขอเชิญแวะไปชมและเขียนแสดงความเห็นกันค่ะ
ขอขอบคุณ…คุณวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ พ่อโหน่ง พ่อโต้ง อาจารย์พิษณุ นำศิริโยธิน และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันอาศรมศิลป์ ที่มาร่วมสร้างแรงบันดาล สร้างการเรียนรู้ และสร้างมุมมองใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานออกแบบของนักเรียนในครั้งนี้