สัมมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ การขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธ
การสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ครั้งที่ ๒ การขับเคลื่อนโรงเรียนวิถีพุทธต้นแบบ สำหรับกลุ่มที่ ๑ เมื่อวันที่ ๒๓-๒๔ มกราคม ๒๕๕๙ และกลุ่มที่ ๒ เมื่อ ๑๒-๑๓ มีนาคม ๒๕๕๙ นับเป็นอีกก้าวย่างสำคัญที่ผู้บริหารและตัวแทนคณะครูจากโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๘ จำนวน ๒๗ แห่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนต้นแบบในโครงการวิจัยและพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธเป็นฐานไปสู่ความเป็นชุมชนบวร ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อหาเครื่องมือการวิจัยที่เหมาะสมกับแต่ละโรงเรียนในชุมชนบวร ที่มีการใช้สติในชีวิตจริงในทุกขณะ ใน ๓ องค์ประกอบ ได้แก่
- โรงเรียน คือ การจัดการห้องเรียนแห่งสติ
- บ้านที่มีความสัมพันธ์แห่งสติ
- วัดที่เป็นสถานที่ของการฝึกเจริญสติ การปฏิบัติภาวนากับครูอาจารย์
นอกจากนี้คณะครูผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้ทำความเข้าใจเครื่องมือการเรียนรู้ต่างๆ ที่ถอดบทเรียนจากการปฏิบัติของโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยเฉพาะที่โรงเรียนส่วนใหญ่สนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม คือ การประชุมสะท้อนผลก่อนและหลังการสอนอย่างมีสติ (Value BAR-AAR ; After Action Review)
ผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ร่วมเรียนรู้ผ่านกิจกรรม อาทิ การสนทนาธรรมโดยอาจารย์อมรา สาขากร ซึ่งได้แนะนำเรื่องการน้อมนำจิตใจให้พร้อมด้วยสติ ด้วยการกราบพระให้เสมือนกราบบาทของพระพุทธเจ้า และการมีสัมมาสติในกิจวัตร เช่น แปรงฟัน ลมหายใจ ยืนเดินนั่งนอน การมีสัมมาวาจา (เลิกบ่น) และการฝึก “ทำให้ดีกว่าเดิม”
การชมวิดีโอและสนทนาเรื่องจิตวิญญาณความเป็นครูของ ม.ร.ว.รุจีสมร สุขสวัสดิ์ ครูใหญ่โรงเรียนวรรณวิทย์ และวิดิโอของครูผู้เป็นกัลยาณมิตรจากโรงเรียนรุ่งอรุณ โดยวิเคราะห์ใคร่ครวญถึงประเด็นบุคลิก วิธีการจัดการห้องเรียน ระบบบริหารที่ทำให้ครูเป็นเจ้าของงาน วงประชุมที่เน้นประเด็นการพัฒนานักเรียนและการจัดการเรียนการสอน
ในการสัมมนาครั้งนี้มีการถอดบทเรียนความเป็นชุมชนบวรของโรงเรียนรุ่งอรุณที่มีองค์ประกอบที่หลากหลาย เช่น การจัดการห้องเรียนแห่งสติที่ประกอบด้วยการจัดหลักสูตรบูรณาการสู่คุณค่า ด้วยแผนการสอนที่กำหนดเป้าหมายทั้งด้านความรู้ ทักษะ และคุณค่าไว้อย่างชัดเจน จึงทำให้นักเรียนเป็นเจ้าของการเรียนรู้ และจัดการการประชุมสะท้อนผลแบบ AAR
จากนั้นผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ออกแบบแผนการนำเครื่องมือวิจัยที่เหมาะสมไปใช้ในโรงเรียนของตน ซึ่งส่วนใหญ่พอใจในเครื่องมือการประชุมสะท้อนผลห้องเรียนแห่งสติ และห้องเรียนพ่อแม่แห่งสติ ซึ่งผู้เข้าร่วมสัมมนามีโอกาสลงมือเรียนรู้จากการร่วมประชุมสะท้อนผล (AAR) ด้วยตนเอง ด้วยรูปแบบของวงสนทนาแห่งสติที่มีการใช้คำถามจากความจริงที่ปรากฏ การอธิบายอย่างหมดจดและสามารถถอดรหัส ทำให้เกิดการวิเคราะห์ตามและเกิดการทบทวนตนเอง เกิดความเข้าใจ (โยนิโสมนสิการ) อย่างแท้จริง ผู้เข้าสัมมนาจึงเข้าใจความแตกต่างของการประชุมโดยทั่วไป และการประชุมแบบ “วงสนทนาแห่งสติ” ทั้งยังเข้าใจถึงวิธีการนำไปใช้
ทั้งนี้ โรงเรียนวิถีพุทธพระราชทาน ประจำปี ๒๕๕๘ จำนวน ๒๗ แห่งนับเป็นโรงเรียนต้นแบบในการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนวิถีพุทธเป็นฐานไปสู่ความเป็นชุมชนบวร ในโครงการวิจัย “การปฏิรูปโรงเรียนวิถีพุทธเป็นฐานไปสู่ความเป็นชุมชนบวร” โดยโรงเรียนรุ่งอรุณและเครือข่ายคณะวิจัยได้ทำการวิจัยแบบมีส่วนร่วม มีระยะเวลาดำเนินการต่อเนื่อง ๒ ปี ๖ เดือน โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อศึกษาวิเคราะห์และสังเคราะห์รูปแบบการพัฒนาชุมชนบวรของโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานและนำผลการพัฒนาไปขยายผลในโรงเรียนเครือข่ายที่จะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดโรงเรียนวิถีพุทธในด้านปัญญาปฏิบัติ ทาน ศีล ภาวนา เพื่อบ่มเพาะคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กและเยาวชนให้ยิ่งขึ้นไป