การเรียนวิทยาศาสตร์: จากธรรมชาติภายนอก สู่ธรรมชาติภายใน
ปลายเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ นักเรียนชั้น ม.๔ สายวิทยาศาสตร์ทั้ง ๓ สำนัก (สำนักวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักวิทยาศาสตร์การช่าง และสำนักวิทยาการศาสตร์การอาหารและสิ่งแวดล้อม) ออกภาคสนามไปเรียนรู้ธรรมชาติยังพื้นที่ต้นน้ำ ณ หมู่บ้านสบลาน อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ เพื่อศึกษาระบบนิเวศ สภาพดิน ป่า น้ำ และสภาพทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ ตลอดจนศึกษาวิถีชีวิตของชาวปกาเกอะญอบ้านสบลานที่กลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ตรวจวัดคุณภาพดิน ป่า และน้ำตามเส้นทางลำน้ำขาน แล้ววิเคราะห์หาความสัมพันธ์ของวิถีปกาเกอะญอกับการอนุรักษ์ป่าและน้ำ รวมถึงปัจจัยที่เป็นตัวทำลายและอนุรักษ์ลำน้ำขาน
การออกภาคสนามในครั้งนี้เป็นการสร้างเวทีให้นักเรียนได้ทำงานจากโจทย์จริงและลงมือทำด้วยตัวเอง ทั้งยังเป็นเวทีพัฒนาทักษะชีวิตที่นักเรียนต้องก้าวออกจากความเคยชินเดิม เพื่อปรับตัวใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมหรือเงื่อนไขใหม่ที่ไม่คุ้นเคย การฝึกความอดทนจนสามารถทะลุขีดจำกัดของตัวเอง เช่น การแบกเป้เดินทางไกล ๓๐-๔๐ กิโลเมตร ท่ามกลางอากาศร้อนและเส้นทางที่ลำบาก ที่นักเรียนหลายคนไม่คิดว่าตนจะทำได้ แต่ทุกคนก็อดทน พยายาม และก้าวผ่านมาได้
ในช่วงหนึ่งของการเดินทางศึกษาธรรมชาติไปตามลำน้ำขาน ครูชาลี มโนรมย์ ครูหัวหน้าหน่วยวิชาวิทยาศาสตร์ซึ่งนำนักเรียนออกภาคสนามในครั้งนี้ ชวนนักเรียนแวะพักศึกษาธรรมชาติภายในตัวกับกิจกรรม “นิเวศภาวนา” โดยให้นักเรียนแต่ละคนปลีกวิเวกใช้ชีวิตเพียงลำพังกับธรรมชาติเป็นเวลา ๒๔ ชั่วโมง เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับสภาวะภายในของตน อยู่กับธรรมชาติและทำความรู้จักสภาพธรรมชาติตรงหน้า ป่าและน้ำที่โอบล้อมช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้ใคร่ครวญถึงความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง ดิน ป่า น้ำ สัตว์น้อยใหญ่ อยู่และสัมพันธ์กันอย่างไร แล้วตัวเราจะเข้ามาอยู่และสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้อย่างไร กลับมาย้อนมองและทำความเข้าใจธรรมชาติภายในของตัวเรา
ระยะเวลา ๑ สัปดาห์ ตลอดเส้นทางลำน้ำขาน คือเส้นทางแห่งการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่เพียงความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ แต่เป็นกระบวนการที่นักเรียนได้สร้างความเข้าใจในตัวเอง มองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองกับธรรมชาติ และสามารถใช้ความรู้ไปอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ ซึ่งจะสร้างความตระหนัก และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองต่อไป
หมายเหตุ: ขอบคุณภาพจากเพจโจ๊ะมาโลลือหล่า
จากธรรมชาติภายนอก สู่ธรรมชาติภายใน (ภาคสนามวิทยาศาสตร์) วิดีโอบอกเล่าการเรียนรู้โดยนายวิถี ภูศิตาศัย นักเรียนชั้น ม.๖ โรงเรียนรุ่งอรุณ ปีการศึกษา ๒๕๕๗