ข้อคิดเพื่อการเป็นพ่อแม่รุ่งอรุณ: สร้าง GRIT ให้ลูกอย่างไร? โดย รศ.ประภาภัทร นิยม
จากเรื่อง Growth mindset และ Fixed mindset คุณครูและพ่อแม่คงจะพอจินตนาการได้ว่าจะต้องพัฒนาลูกอย่างไร การพัฒนาเด็กๆ เบื้องต้นนั้น เริ่มต้นง่ายๆ ที่จะพัฒนา Growth mindset โดยให้บอกลาคำว่า “ทำไม่ได้ – I Can’t” ให้ตัดเหลือเป็น “I Can” ทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรที่มนุษย์ทำไม่ได้ ไม่มี…ไม่มี…ไม่มี… ทุกอย่างทำได้ ขอแต่ลองพยายาม ขอลงมือทำก่อน มันจะไม่มีความคิดอย่างนี้อยู่ในสมองเลย เจออะไรก็ลองทำก่อน ทำดูก่อน มีแต่คำว่าทำได้มาก ทำได้น้อย ไม่มีคำว่าทำไม่ได้ ถ้าเราเข้าสู่โหมดของการทำได้มาก ทำได้น้อย โดยไม่มีจิตใจที่ขุ่นมัว กลัว หลายคนติดอยู่กับความกลัว ไม่ยอมออกมาจากตรงนั้น กลัวว่าจะผิดพลาด กลัวว่าจะไม่ดี ซึ่งเป็นเหตุที่สำคัญมาก
เด็กที่มีบุคลิกแบบนี้เพราะเจอมาจากเงื่อนไขหรือสิ่งแวดล้อมที่ผู้ใหญ่มอบให้มาทั้งนั้น ผู้ใหญ่มักชอบทำเอง ทำแทน หรือพูดว่า “อย่า…ไม่ใช่” พูดไม่ใช่ไว้ก่อน ซึ่งก็จะทำให้เด็กกลัว ไม่กล้า ไม่กล้าที่จะผิดพลาด ไม่กล้าที่จะทำอะไรแล้วไม่ดี… คนมักคิดว่าการที่มีความกลัว ไม่กล้าผิดพลาดเป็นเรื่องดี เป็นความเข้าใจผิดมายาวนาน จนคิดว่าเรื่องนั้นเป็นเรื่องดี ความระมัดระวัง รอบคอบ ไม่ประมาท ก็ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ความกลัวจะผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเดียวกับความระมัดระวัง…ไม่ใช่เรื่องเดียวกับความไม่ประมาท เป็นคนละเรื่องกัน เพราะฉะนั้นเงื่อนไขของผู้ใหญ่ที่มีต่อเด็กๆ นั้น จงจำไว้เลยว่าผู้ใหญ่อย่าไปบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งความกลัวที่จะทำผิดพลาด…ที่จะทำไม่ดี ไม่สมบูรณ์แบบเอาไว้ในใจของเด็กๆ ปล่อยให้เด็กได้ผิดพลาด.. พ่อแม่เด็กไทยมักจะป้อนข้าว ไม่ปล่อยให้ลูกรับประทานข้าวเอง ต้องป้อนเพราะตัดรำคาญ ไม่อยากให้ลูกเลอะเทอะ ต่างจากการเลี้ยงดูลูกของฝรั่งที่ปล่อยให้ลูกรับประทานอาหารเองตั้งแต่ยังเล็กๆ”
อาจารย์ประภาภัทรได้เล่าถึงคลิปเด็กฝรั่งกินทุเรียน “จากคลิปเราได้เห็นเด็กเรียนรู้ ทดลองกินทุเรียนด้วยวิธีการต่างๆ ด้วยตนเอง เด็กจะรู้วิธีการของตนเองโดยพ่อแม่ไม่ได้ไปยุ่งกับลูก ในขณะที่พ่อแม่ไทยเป็นนักจัดการ ชอบจัดการ ยุ่งกับลูก และเป็นเรื่องที่ควรเลิกได้แล้ว เพราะพ่อแม่จะไปสร้างความกลัวให้กับลูก เรื่องของความขี้อิจฉา ความกลัวเป็นเรื่องจริงที่ซ่อนอยู่ เมื่อนำมาคิดเชื่อมโยงกับวิธีการเลี้ยงลูกของคนไทยสมัยก่อนที่พ่อแม่ไว้ใจเด็ก ปล่อยให้เด็กทำอะไรๆ มากกว่าสมัยนี้ เด็กสมัยก่อนอายุประมาณ ๖-๗ ขวบก็ได้รับมอบหมายเรื่องงานบ้าน หุงข้าว แต่เด็กสมัยนี้ไม่ได้ทำอะไรเลย ไม่ได้รับความไว้วางใจให้ทำ หรือรับผิดชอบอะไรแทนที่ผู้ใหญ่ได้บ้าง จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายมากๆ ความสามารถและศักยภาพของเด็กจึงไม่ถูกใช้ ไม่ได้ถูกฝึกขึ้นมา เป็นการปิดกั้นโอกาสของการพัฒนาสมองอย่างยิ่ง พ่อแม่ควรกลับไปคิดหางานให้เด็กทำ ให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบความเป็นอยู่ มีวิถีชีวิตเคียงบ่าเคียงไหล่กับพ่อแม่ อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญ”
และอาจารย์ยังได้เล่าถึงชีวิตวัยเด็กของอาจารย์ที่พ่อแม่ให้โอกาสลูกๆ ดูแลคุณปู่ที่อยู่ในบ้านเดียวกัน ซึ่งเป็นภาระที่เป็นเรื่องสนุกสนานมาก ดังนั้นสำหรับเด็ก การรับภาระเป็นเรื่องสนุกไม่ใช่เรื่องยากลำบากอะไร แต่พ่อแม่มักปกป้องเลี้ยงดูลูกอย่างดี และอาจารย์ได้เล่าถึงคลิปเรื่องนกเหยี่ยวที่เลี้ยงลูกโดยการให้ลูกนกเรียนรู้การหากิน การบิน ด้วยวิธีการต่างๆ ของพ่อแม่นกที่รู้จังหวะ รู้วิธีเลี้ยงลูกให้เข้มแข็ง เพื่อให้ลูกหัดใช้ศักยภาพของตนเอง ดึงออกมาใช้ให้ได้ทันที จากการนำสภาพแวดล้อม เอาสถานการณ์มาบังคับให้เป็นไปตามนั้น