ข้อคิดเพื่อการเป็นพ่อแม่รุ่งอรุณ: สร้าง GRIT ให้ลูกอย่างไร? โดย รศ.ประภาภัทร นิยม
“พ่อแม่ของเราก็ควรจะเข้มแข็ง ยอมไว้วางใจลูกว่าสามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง คำว่าทำไม่ได้ให้บอกลาไปเลย ทำได้หมด และต้องท้าทายสมองด้วยของยาก ในห้องเรียนครูจะเตรียมการสอนมาเยอะมาก เตรียมโจทย์ที่ยาก เตรียมคำถามที่ท้าทายเด็กมากขึ้น สมองของคนเราไม่ต้องการอะไรแบบเดิมๆ แบบเดิมๆ นั้นไม่พอ สมองต้องการของยาก ลับสมอง ต้องท้าทาย และให้ชินกับเรื่องที่ว่าความผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดี เช่น การที่ลูกทำแก้วน้ำแตก พ่อแม่ควรตั้งสติ แล้วพาลูกมาดูว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะแก้จะเก็บอย่างไร ด้วยอาการที่สอนให้ลูกเรียนรู้จากสิ่งที่ผิดพลาด เขาก็จะไม่รังเกียจสิ่งที่ผิดพลาด ไม่กลัวความผิดพลาด และจะเผชิญมันได้อย่างปกติ เรียนรู้วิธีที่จะแก้ไขด้วยทักษะการเผชิญปัญหา ซึ่งเป็นทักษะสำคัญในศตวรรษที่ ๒๑ ที่ต้องยอมรับและอยู่กับความผิดพลาดให้เป็น หัดให้เปลี่ยนความกลัวเป็นความท้าทาย เช่นที่โรงเรียนรุ่งอรุณ ครูเปลี่ยนความกลัวในการปีนต้นไม้ของเด็กด้วยกุศโลบายต่างๆ จนทำให้เด็กเปลี่ยนความกลัวเป็นความท้าทาย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ทำได้เช่นกัน”
“อีกเรื่องหนึ่งคือ การหัดให้เด็กจับผิดสมองที่คิดขี้อิจฉา ตัวอิจฉาที่อยู่ในตัวเราเองเป็นตัวอันตรายทำให้ไม่เกิดการเรียนรู้อะไรเลย ไม่เมตตาตัวเอง วิธีที่จะหาสิ่งที่มาทดแทนเมื่อเห็นความอิจฉาเกิดขึ้นมาคือ การแทนด้วยมุทิตา-การพลอยยินดีกับผู้อื่นที่ทำอะไรสำเร็จ ก็จะทำให้ตัวอิจฉาไม่มี เราต้องหัดเด็ก หัดตัวเองให้มุทิตาเป็น ซึ่งเป็นเรื่องที่คนไทยมักไม่มี ไม่รู้วิธีชื่นชมผู้อื่น ไม่เห็นว่าคุณค่าของผู้อื่นอยู่ตรงไหน และเห็นแต่ข้อผิดพลาดของกัน แต่ไม่สามารถระบุข้อผิดพลาดของคนอย่างตรงไปตรงมา ไม่กล้าเผชิญ การที่เด็กทำผิด ส่วนใหญ่ทำเพราะไม่รู้ เราควรบอกให้เขารู้ อย่าไปหลบเลี่ยงไม่บอก และหัดให้เขาชื่นชมคนที่ดี ที่มีอะไรที่เราน่าเรียนรู้
เพราะฉะนั้น Growth mindset แบบนี้ อาจารย์ขอแปลว่า สัมมาทิฏฐิ ในมรรคมีองค์แปด สัมมาทิฏฐิคือมรรคองค์แรก อยู่ในหมวดปัญญา พระพุทธเจ้าทรงแนะนำเราว่าให้กลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก แล้วที่เหลือจะถูกเอง จำไว้ว่าสัมมาทิฏฐิคือการกลัดกระดุมเม็ดแรกให้ถูก สัมมาทิฏฐิตั้งอยู่ที่จิตใจ ความเห็นชอบ ความเห็นตรง ความเห็นว่าอะไรควร อะไรไม่ควร อะไรถูก..ควรทำ และที่อยู่ในหมวดปัญญาเพราะเราต้องมีความรู้อยู่เบื้องหลัง มิฉะนั้นแล้วเราจะไม่สามารถตัดสินได้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เราต้องอ่านหนังสือ ต้องเพียรศึกษาว่าองค์ความรู้อะไรเป็นความรู้สูงสุดของโลกนี้ อะไรเป็นความรู้ที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วเราจะเข้าใจ เราจะมีคำอธิบายกับทุกๆ เรื่องได้ว่าควรเพราะอะไร ไม่ควรเพราะอะไร”
ในช่วงท้ายของการสนทนา อาจารย์ประภาภัทรได้กล่าวทิ้งท้ายว่า
“พ่อแม่ พอมีลูกแล้วต้องฉลาดขึ้นเยอะ เพื่อที่จะสามารถดูแลมนุษย์คนหนึ่งให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุดได้ ไม่ใช่งานง่ายๆ เป็นงานที่มีเกียรติสูงส่งมาก และเป็นงานที่ต้องทำอย่างประณีต ต้องทำด้วยสติปัญญา สติสัมปชัญญะเต็มบริบูรณ์ จากงานวิจัยของฝรั่งพบคำนี้ ซึ่งคนไทยเราอยู่กันในวัฒนธรรม คือคำว่า สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ก็คือ การตั้งเจตจำนงที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่พวกเราต้องเรียนรู้กัน ทั้งศาสตร์ตะวันตกและศาสตร์ตะวันออกในเรื่องของการพัฒนามนุษย์ก็ไม่มีความแตกต่างกัน ขอให้คุณพ่อคุณแม่ทุกคนรำลึกเสมอว่าเรากำลังทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของโลกนี้ การพัฒนามนุษย์เป็นเรื่องที่ดีที่สุด…ที่ควรทำ เป็นงานที่ดีที่สุด…ที่ควรทำ ครูเองมีหน้าที่ที่ดีที่สุดในโลกนี้แล้วที่ได้มาเป็นครู ที่ได้ทำบุญทุกวัน อย่าให้โอกาสในการทำบุญนี้กลายเป็นบาป ทั้งครูและพ่อแม่ที่เป็นครูคนแรกมีบุญแล้วที่ได้ทำหน้าที่นี้ ขอให้ทำงานซึ่งเป็นบุญนี้ ทำให้ได้กุศลได้บุญ อย่าให้เป็นบาป”
…
ถอดความและเรียบเรียง: ปราณี เชาว์ชัยพร ส่วนสื่อสารองค์กร โรงเรียนรุ่งอรุณ