บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

การจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ (๓)

Air-website:: ปัญหาคือการเรียนรู้ – ครูเรวดี ดุงศรีแก้ว (ครูแอร์) ครูอนุบาล ::

“ตอนมาทำงานที่นี่ใหม่ๆ เราอยู่กับความทุกข์พอสมควร ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ดูมีความสุขกัน แต่ทำไมตัวเรายังทุกข์อยู่ เหมือนเราเป็นครูใหม่ ได้รับหน้าที่ใหม่ ประสบการณ์เรายังน้อย รู้สึกความคาดหวังมันเยอะมาก เหนื่อยมากกับการมาทำงาน จะทำได้ไหม จะพาเขาไปได้ไหม แต่พอได้ฟังคำของผู้ใหญ่ คือเราเข้าหาผู้ใหญ่ว่าเราไม่ไหว ท่านไม่ได้สอนทางออกว่าทำอย่างนี้ๆ นะแล้วจะพ้นทุกข์ แต่บอกให้หันมาดูใจตัวเองว่าตอนนี้ใจเราเป็นอย่างไรบ้าง เราตอบไม่ได้ อ่านใจตัวเองไม่ออก ไม่รู้อะไรเลย เพราะไม่เคยกลับเข้ามาดูใจตัวเองเลย ดูแต่ความคาดหวัง ดูแต่ความสำเร็จอย่างเดียว

พอเราเริ่มกลับมาดูใจตัวเอง ความรู้สึกที่เคยแบกรับไว้มันคลายออก อ๋อ มันเป็นแบบนี้ ค่อยๆ รู้ไป เด็กที่เราเคยมองว่าเขายากมาก เขาค่อยๆ เข้าสังคมได้ ค่อยๆ เข้ากลุ่มกับเพื่อนๆ ได้ จริงๆ แล้วทุกอย่างมันดำเนินไปตามทางของมันได้ แต่เรานี่แหละเอาใจไปเอาทุกอย่างมาจะดูแลจัดการเอง จนทำให้ทุกอย่างมันไม่คลี่ไปตามที่มันน่าจะเป็น แล้วคนที่ทุกข์หนักที่สุดก็คือตัวเราเอง

หลังจากวันนั้นมาเราเริ่มต้นกับตัวเองใหม่ เริ่มมองจุดดีๆ ของคนอื่น มองจุดดีๆ ของตัวเอง เริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับพี่คนโน้นคนนี้ จากปีแรกไม่กล้าพูดกับพี่คนไหนเลย อาย เขิน รู้สึกว่าการมาโรงเรียนเริ่มสนุกขึ้น จริงๆ แล้วความสุขมันไม่ใช่การแบกภาระไว้หรือความสำเร็จในชีวิตเลย วันนี้เราถูกดุก็ได้ วันนั้นเราทำผิดก็ได้ เพียงแต่เรากลับมาทบทวน อ๋อ มันผิด มันไม่ใช่ แล้วทำอย่างไรต่อไป คิดเองไม่ได้ ก็รับฟังคนอื่น จากที่เมื่อก่อนคิดว่าตัวเองจัดการอะไรทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง

การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกับเด็กมาก เวลาที่เราคาดหวัง ไม่ว่าคำพูด กิจกรรม การตัดสินปัญหาต่างๆ มันมีความคาดหวังอยู่ มันไม่มีความเป็นธรรมชาติ แต่พอเราเปลี่ยนแปลงตัวเอง เราก็ทำไปตามธรรมชาติ ธรรมดา เด็กก็มีความสุขที่ได้มาเล่นกับเพื่อน ได้มาทำกิจกรรม ได้มาเจอเรา ตัวเรานี่ละที่จะทำให้ห้องเรียนมีความสุขหรือทุกข์ ขึ้นอยู่กับครูเป็นสำคัญ

เวลาเด็กในห้องมีปัญหากัน เราไม่ได้เพ่งโทษว่าเด็กคนนี้ผิด คนนั้นผิด แต่เราค่อยๆ คุยกัน สุดท้ายทุกคนไม่ได้ถูกตราว่าคุณผิดนะ แต่คิดว่าตัวเองจะทำอย่างไรในครั้งต่อไป คือเรารู้สึกว่าทุกอย่างไม่ใช่ปัญหา แต่คือการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน การเข้าใจเรื่องต่างๆ ให้มากขึ้นต่างหาก

เราโชคดีที่ได้ฟังคำของครูบาอาจารย์ที่นี่ ได้ฟังแนวความคิดของเพื่อนๆ ได้กลับมาเรียนรู้และใคร่ครวญกับตัวเอง แล้วเรายังเป็นที่พึ่งให้กับที่บ้านได้ด้วย เราแผ่ความสุขของเราให้กับคนที่บ้าน รู้สึกเราเติบโตขึ้น ที่นี่สอนให้เราเติบโต ทุกวันนี้เรามาทำงานด้วยความสุข ความเบิกบาน รู้สึกมีความสุขกับการเป็นครูที่นี่ ต้องขอบคุณที่นี่จริงๆ ที่ทำให้เราเติบโต”
………………
เก็บตกจากวงสนทนาการจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และครู-บุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ