การจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ (๘)
:: ครูไม่ได้สอนหนังสือ แต่สอนคน – ครูเรวัตร ภคพาณิชย์ (ครูเร) ครูคณิตศาสตร์มัธยม ::
“ตัวผมเองเริ่มต้นมาที่นี่ คิดเสมอว่ามาสอนหนังสือ เพราะฉะนั้นจะมีความคาดหวังหลายอย่างที่จะให้กับเด็ก ว่าเด็กต้องได้แบบนี้ ต้องเป็นแบบนี้ ต้องทำให้ได้แบบนี้ แต่ครูต้อย (ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ครูใหญ่มัธยม) กัลยาณมิตรอันสูงส่งในชีวิต มาสะท้อนให้เห็นว่าที่นี่ไม่ได้สอนหนังสือ แต่สอนคน ให้เด็กเปลี่ยนแปลงและพัฒนา ทำให้เราต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างรุนแรง
กัลยาณมิตรสำคัญมาก ช่วยสะท้อนภาพให้เราเห็นชัดขึ้น ครูต้อยเป็นคนที่พูดตรง แต่ละคำโดนมาก “เรจะทำแบบนี้หรือ แล้วเด็กจะได้อะไร ให้เขาแก้ปัญหานี้ แล้วยังไงต่อ เรต้องการให้เด็กได้แค่นี้หรือ” ผมก็เออ จริง แล้วเด็กจะได้อะไร เขาจะเรียนไปเพื่ออะไร เราก็ต้องหันกลับมามอง กลับมาทบทวน แล้วตกลงเราต้องการให้เด็กพัฒนาอะไร ต้องการให้เขาเป็นอย่างไร
เราต้องเปลี่ยนกระบวนการสอน จากเป็นคนที่คอยพูดตลอดเวลา เปลี่ยนมาเป็นคนรับฟังจริงๆ เพราะการเปลี่ยนกระบวนการ สอนนั้นเราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน เห็นได้ชัดว่าแต่ก่อนไม่เคยฟังคนอื่น ฟังคำตำหนิจากคนอื่นไม่ได้ เราจะมีกำแพงคอยป้องกันตัวเอง แต่พอเปลี่ยนกระบวนการสอน มันไม่ได้ มันต้องรับฟังคนอื่น ต้องรับฟังเด็ก ต้องรับฟังเหตุผลของเด็ก เปิดใจรับฟังคำตำหนิ ทำให้เห็นมุมมองอีกมุมหนึ่งว่า เราไม่ได้มาเพื่อให้ความรู้นักเรียนอย่างเดียว เราต้องให้ทักษะหรือชุดพัฒนาการอื่นๆ แก่เขาด้วย เพราะเขาไม่สามารถเอาหนังสือไปใช้แก้ปัญหาได้
ความคาดหวังที่เราอยากจะได้จากคำพูดของเด็กก็ยังมีอยู่ เด็กพูดไม่ตรงบ้าง ใจเราก็เริ่มหงุดหงิดแล้ว เริ่มรู้สึกว่าไม่ใช่สิ เรื่องนี้ต้องพูดแบบนี้ ต้องมีคำนี้หลุดออกมาสิ แต่พอทำไปซ้ำๆ บ่อยๆ เราจะเห็นว่า เด็กเขาก็ใช้ชุดความรู้จากที่เขามี เขาก็พูดได้อย่างที่เขาเป็นของเขา จะเอาชุดความรู้ของเขามาเทียบกับของครูมันเป็นไปไม่ได้ เลยทำให้รู้สึกว่า เราต้องยอมกับสิ่งที่เกิดขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรกับเขาต่อ จะสร้างคำถามอะไรต่อเพื่อช่วยให้เขาพัฒนาขึ้น หรือเราจะจัดกระบวนการเรียนการสอนอย่างไรให้เขาพัฒนาจากที่เป็นอยู่ ก็ต้องย้อนกลับมาที่ตัวเอง
แม้กระทั่งมีเด็กที่ฉีกออกไปจากวง ตอนแรกรู้สึกไม่อยากฟังเด็กแบบนี้ ไม่เอา อย่าพูด เราพูดประเด็นนี้อยู่ ทุกคนต้องพูดต้องฟังประเด็นนี้ แต่กลายเป็นว่าเด็กที่คิดฉีกออกไป มันทำให้เราเห็นอีกมิติหนึ่งของเนื้อหาหรือชุดความรู้ หรือแม้กระทั่งความรู้โบราณที่เราเรียนมาว่าต้องเรียนแบบนี้ ๑ ๒ ๓ แต่เด็กช่วยเปิดชุดความรู้ของเราด้วยว่า เฮ้ย มันก็คิดแบบนี้ได้ ไม่จำเป็นต้องคิดไปตามลำดับ
พอเปิดมากๆ เราก็เริ่มทลายเนื้อหาของตัวเอง เพราะมันต้องเปิดให้หมด เปิดทั้งวิธีการคิด ทั้งขั้นตอนการทำงาน ทั้งเนื้อหา พอเราเปิดมากขึ้น รับฟังเด็กมากขึ้น ก็ได้เห็นใจตัวเองมากขึ้น อันนี้เราหงุดหงิดนะ เด็กพูดไม่เข้าหูเราเลย แล้วเราจะทำอย่างไร เราจะแก้ที่ตัวเราอย่างไร เพราะถ้าเรามัวแต่โมโห เราจะไม่ทันกับเด็ก จะไม่สามารถฉวยหรือตั้งคำถามให้เด็กพัฒนาต่อไปได้ พอทำซ้ำๆ บ่อยๆ ก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น
ผมเป็นคนที่มองหาความสุขยาก เนื่องจากเป็นคนที่คาดหวังเยอะ กดดันตัวเองมาก แต่มาโรงเรียนรุ่งอรุณ เรารู้สึกว่าที่นี่พัฒนาเรา การมาที่นี่คือการมาพัฒนา เราก็เลยอยากมาพัฒนาตัวเองทุกๆ วัน ก้าวต่อไปเรื่อยๆ”
………………
เก็บตกจากวงสนทนาการจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และครู-บุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ