บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

การจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ (๑๐)

K.Pradit:: เปิดใจยอมรับคำเตือน – ครูประดิษฐ์ จันทร์มั่น ครูบูรณาการมัธยม ::

“ถามว่าปฏิบัติธรรมชอบไหม ไม่ชอบ เมื่อยไหม เมื่อย บ่นไหม บ่น แต่ทำไหม ทำ ทำมาตลอด ๑๔-๑๕ ปี

เราเป็นคนไม่อยู่นิ่ง ชอบจัดการ เราไวมากที่จะจัดการเนื้อหา รู้สึกว่ามีเรื่องให้เรียนเยอะแยะไปหมด ก่อนปิดเทอมได้คุยกับครูต้อย (ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ครูใหญ่มัธยม) ครูต้อยก็ทบทวนว่าเรามีทัศนคติอย่างไรกับภาษาและการอ่าน เราก็รู้สึกว่าเราเต็มไปด้วยความหวังดี เรามีเวลาเรียนเท่านี้ เราก็จัดการเนื้อหา เรียนเรื่องนั้นเรื่องนี้ในเวลานี้ๆ เสร็จแล้ว ถามว่าใครสบายใจ เราสบายใจ แต่เรานึกถึงคนเรียนไหม เราลืม

การยอมรับคำติเตียนของผู้อื่น สำหรับผมมันไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนั้นพอโดนทัก เราก็ไม่พอใจ แต่หลายคนพูด เราก็มาคิด ตกตะกอนด้วยตัวเอง จริงๆ แล้วสิ่งนี้สำคัญ เราลืมธรรมชาติของผู้เรียน เราจะสอนเรื่องสั้น แทนที่จะถามนักเรียนว่าสนุกกับเรื่องสั้นไหม เป็นอย่างไร เรากลับถาม โครงเรื่องเป็นอย่างไร แก่นเรื่องคืออะไร ตัวละครเป็นอย่างไร คือเราไวมาก

อาทิตย์ที่แล้วเราเรียนเรื่อง “มอม” ก็เลยเปลี่ยนคำถามมาที่ความรู้สึก มีตอนหนึ่งที่ตัวละครพูดกับมอมว่า “มอม ข้าอายเอ็ง ข้าไม่กล้าเป็นโจรปล้นบ้าน” เราเลยถามว่าทำไมเจ้านายถึงบอกว่าอายมอม คำตอบที่ได้เป็นคำตอบที่เราไม่คาดคิดว่าจะออกมาจากหลายๆ คน นักเรียนคนหนึ่งบอกว่า หนูรู้สึกว่าเขาอายความเป็นคนของเขาเอง เราก็ถามต่อว่า แล้วอายความเป็นคนเป็นอย่างไร นักเรียนก็อธิบายต่อ เราก็นิ่งฟังเขาไปเรื่อยๆ เพื่อนๆ ก็ช่วยกันสนับสนุน นักเรียนคนนั้นบอกว่า ตัวละครตัวนี้สูญเสียครอบครัว สูญเสียทุกอย่างในสงคราม ไม่เหลืออะไรเลย แล้วเขาเคยปลูกฝังหมาตัวนี้ให้รักเจ้านาย ทำความดี แต่สิ่งที่เขาทำคือละความเป็นคนมาเป็นขโมย แต่มอมซึ่งไม่ได้เจอเขามา ๗ ปี มันยังคงจงรักภักดีเขา มันทักเขา มันกระโดดหาเขา นักเรียนอธิบายด้วยความรู้สึก แล้วจากนั้นนักเรียนคนที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็ค่อยๆ ช่วยกันสะท้อนกลับมา

ถามว่าความรู้สึกเราเป็นอย่างไร ณ ขณะนั้นเราลืมเนื้อหาไปหมดเลย เรายิ้ม รู้สึกปีติ รู้สึกว่ามันอิ่ม เราค้นพบคำตอบว่า สุดท้ายแล้วการที่ผู้เรียนเขาสะท้อนกลับมาด้วยความรู้สึกนั้นเป็นการเรียนรู้ของคนกับคน ถามว่าสิ่งเหล่านี้มาจากอะไร ก็มาจากสิ่งที่อยู่มา ๑๐ กว่าปี มาจากการปฏิบัติธรรมที่ไม่ค่อยชอบ ทำไหม ทำ บ่นไหม บ่น แต่ถามว่าเราอยากดีไหม เราอยากดี คำพูดคนอื่นเรารำคาญใจไหม รับได้ไหม แต่สุดท้าย เป็นประโยชน์ไหม เป็น

เรายอมรับในคำตักเตือนหรือคำชี้แนะโดยตัวเราเองได้เร็วแค่ไหน อันนี้เป็นเรื่องสำคัญ ส่วนที่เหลือคือการฝึกฝน แล้วคำเหล่านี้จะกลับมาเป็นทิศทางให้เรา”
………………
เก็บตกจากวงสนทนาการจัดการความรู้ (KM): ตื่นรู้แบบครูรุ่งอรุณ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และครู-บุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ วันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ณ เรือนรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ