ข้อคิดสู่การเป็นครูชีวิต : รศ.ประภาภัทร นิยม
ก่อนจะก้าวสู่พุทธศักราชใหม่ ๒๕๖๐ เป็นประเพณีที่ผู้บริหาร ครู และบุคลากร โรงเรียนรุ่งอรุณ จะมาพบปะกันฉันญาติพี่น้องและฟังข้อคิดจาก รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่พาพวกเราทบทวนชีวิตความเป็นครูที่ผ่านมา เพื่อให้พวกเราได้มองเห็นตัวเอง และรู้ว่าจะพัฒนาตัวเองในเรื่องไหน และพัฒนาอย่างไร นำข้อคิดบางช่วงบางตอนจาก รศ.ประภาภัทร มาบอกเล่าแบ่งปันกันค่ะ
รศ.ประภาภัทรกล่าวถึงโครงการ “สามเณรน้อย แม่ชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข” โครงการบวชเพื่อถวายเป็นพระกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชของโรงเรียนรุ่งอรุณ เมื่อวันที่ ๕-๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ ว่าเป็นเรื่องดีมากที่โรงเรียนตัดสินใจทำโครงการนี้ เพราะการที่มีนักเรียนตัดสินใจบวชถึง ๙๙ คน สื่อให้เห็นว่านักเรียนรุ่งอรุณมีศรัทธาในพระพุทธศาสนามาก เรียกว่ามีใจที่ยิ่งใหญ่ เพราะต้องโกนผม ต้องสละความสบาย สละความเป็นเด็กที่จะได้ทำสิ่งต่างๆ มาเป็นสามเณรน้อย แม่ชีน้อย เป็นเวลา ๑๐ วัน ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ มาใช้ชีวิตดูแลตัวเอง ซึ่งเบื้องต้นเด็กๆ ตั้งใจว่าจะทำให้ได้ แต่เมื่อมาเผชิญ กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด บางคนร้องไห้อยากสึกตั้งแต่วันแรก จึงเป็นโอกาสของครูที่ได้ฝึกความอดทน เกิดความเห็นอกเห็นใจ แล้วหาวิธีการหรือกุศโลบายต่างๆ เพื่อให้สามเณรน้อยและแม่ชีน้อยค่อยๆ อยู่ได้อย่างไม่ทุกข์
“ถือว่าโครงการผ่านไปอย่างเรียบร้อยและบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือ สร้างศรัทธาในหมู่ของครู ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง รวมทั้งคนที่พบเห็น คนอยากใส่บาตรเณรน้อย ชีน้อย ที่ให้พรเสียงดังชัดแจ๋ว ผู้หลักผู้ใหญ่รู้สึกเอ็นดู เณรน้อย-ชีน้อยได้ฝึกปฏิบัติ ตื่นตี ๔ ทำวัตรตี ๕ ออกบิณฑบาต ๖ โมงเช้า แล้วกลับมาฉัน การเลือกอาหารใส่บาตร พระอาจารย์ก็พยายามกำกับ “คนละชิ้นนะเณร เหลือเผื่อไว้คนข้างหลังบ้าง” เพราะวิถีของชาวพุทธเราอยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อ ต้องฝึกให้เป็นวินัยในชีวิต อยู่ก็ต้องเผื่อเหลือให้คนทั้งหลายได้พอเพียง มีคนเยอะไหม ใครอยู่ข้างหลังเราอีก เป็นธรรมวินัย เพราะฉะนั้นการมาฝึกอยู่ในธรรมวินัยเป็นเรื่องที่ประเสริฐที่สุดที่ชีวิตเราจะดำรงอยู่และมีประโยชน์แก่ตัวเอง อยู่ด้วยความเข้าใจ อยู่ด้วยความพอเหมาะพอควร ที่พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ท่านทรงให้หลักแนวทางการอยู่อย่างพอเพียง ท่านก็นำมาจากวิถีปฏิบัติตามธรรมวินัย”
“แล้วเณรก็ฉันแค่ ๒ มื้อ ตอนมื้อเย็นไม่ได้ฉัน อยู่ให้พอดี นี่เป็นสิ่งที่เราได้เห็นเป็นตัวอย่างว่าแม้เด็กเล็กๆ เขาก็ทำได้ พอเย็นลงเขาต้องสวดมนต์ทำวัตรเย็น ฟังธรรม สนทนาธรรม เพื่อให้มีแผนที่ในชีวิต เข้าใจว่าตัวเองกำลังเดินไปไหน ไปถึงจุดหมายปลายทางอะไร สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ชาวพุทธควรจะรู้ เราเกิดมาแล้วเราควรจะเดินไปสู่จุดหมายปลายทางอะไร ชีวิตเราจะบรรลุอะไร ไม่อย่างนั้นเราจะทำหน้าที่ไปวันๆ หนึ่งโดยที่เราก็รู้แค่ว่าเราทำตามหน้าที่ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าหน้าที่นั้นมีผลต่อชีวิตเราอย่างไร เป็นเรื่องที่เราต้องหันกลับมาถามว่า การทำงานของเราที่เป็นงานประจำวันนั้นสอดคล้องกับเป้าหมายชีวิตที่แท้จริงของเราอย่างไร แล้วเราจะทำให้งานนั้นตอบโจทย์ชีวิตเราด้วยได้อย่างไร อันนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมาก”
ทั้งนี้ รศ.ประภาภัทรได้ยกคำกล่าวของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ซึ่งผู้บริหารและครูโรงเรียนรุ่งอรุณได้สัมภาษณ์ท่านไว้เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๙ ใจความว่า
“ขออนุโมทนาที่ได้ทราบความเป็นไป ความเจริญก้าวหน้าของโรงเรียน ทั้งโรงเรียนรุ่งอรุณเอง และโรงเรียนวิถีพุทธทั้งหลาย… เมื่อพูดว่า “ครูชีวิต” ก็หมายถึงครูที่เข้าถึงชีวิตของศิษย์ ไม่ใช่เป็นเพียงผู้สอนวิชาหาเลี้ยงชีพ (สิปปวาจก) หรือแค่มายืนบอกเล่าหรือมานั่งถ่ายทอดข้อมูลความรู้ให้ศิษย์รับเอาไป แต่เป็นผู้ที่ใส่ใจคำนึงมุ่งเข้าไปถึงชีวิตจิตใจของศิษย์ และพยายามให้ศิษย์พัฒนาตัวของเขาให้เจริญงอกงามไปได้อย่างดี เราอาจจะใช้คำพูดได้หลายแง่ เช่นว่า ให้ศิษย์พัฒนาตัวของเขาให้เป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ ถ้าใช้คำสั้นๆ อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ก็คือให้คนฝึกตนนั่นเอง หรือพูดอีกสำนวนหนึ่งว่า มาเป็นกัลยาณมิตร เพื่อนำพาหรือช่วยให้เขาศึกษา หรือให้ศิษย์มีการศึกษา”
“เราได้เรียนรู้เยอะมากจากโครงการบวชในครั้งนี้ ถ้าเราย้อนมาถึงชีวิตความเป็นครู เราจะเห็นว่าวิถีที่เณรและชีฝึกตน เป็นวิถีที่เราควรฝึกให้เด็ก พ่อแม่ควรฝึกให้ลูก แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น หมายความว่าเราเองต้องฝึกตัวเองก่อน จึงจะชวนครูมองให้เห็น เรากำลังไปถึงจุดที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตเราเพื่อให้มีสถานภาพหรือศักดิ์ศรีความเป็นครูเต็มที่ได้อย่างไร เขาถึงบอกว่า คนเมื่อมาเป็นครูแล้ว ไม่ใช่คนในตลาดทั่วไป เราต้องดูสถานภาพเราให้ดี ใคร่ครวญเรื่องนี้ให้ชัดเจน เราอาจต้องสมาทานชีวิตอีกแบบหนึ่ง ฝึกตนอีกแบบหนึ่ง เพื่อให้เราถึงซึ่งความเป็นครูชีวิต ถ้าหากเป็นครูชีวิต เราก็มีชีวิตไม่ต่างกับนักบวช นี่เป็นเรื่องที่สำคัญ”
“ครูที่ดูแลเณรก็ปรารภว่า ไม่รู้จะทำตัวอย่างไรดี จะทำตัวเป็นครูของเณรจะได้ไหม เพราะเราต้องยกย่องว่าท่านถือศีลเหนือกว่าเรา ถือศีล ๑๐ มันติดอยู่ตรงนี้ พอครูมีวิถีที่ต่ำกว่าศิษย์ เราก็ไม่อาจจะเป็นครูเขาได้อีกต่อไป มันชัดเจนมาก แต่ถ้าเราต้องการจะเป็นครูชีวิต เราต้องมีวิถีที่สูงกว่าศิษย์ที่มาเรียนกับเรา เราจึงจะสามารถกล่าวอ้างความเป็นครูของเราได้ อยากฝากให้คิดว่า แล้วเราจะเป็นเช่นไรต่อไป”
“เราทำบุญกันเยอะ แต่ทำบุญเท่านั้นไม่อาจเปลี่ยนชีวิตเราได้ มันไม่พอ ถ้าทำบุญแล้วไม่ได้ภาวนากับชีวิตตัวเอง ถามว่าชีวิตจะเขยิบขึ้นในระดับคุณภาพที่สูงขึ้นไหม ก็ไม่แน่ อาจจะไม่ใช่ แต่ถ้าเราเข้าใจสถานภาพเราให้ดี ความเป็นครูปฏิบัติธรรมได้ไหม เหมาะมาก คุณจะมีสิทธิไปเป็นครูชีวิตคนอื่นได้ ชีวิตคุณต้องบริสุทธิ์กว่าเขา เมื่อเรามาอยู่ที่รุ่งอรุณกันแล้ว มาฝึกฝนมาปฏิบัติด้วยกัน ก็อยากให้มีผลเกิดขึ้นจริง แล้วสามารถที่จะทำงานเผยแผ่การฝึกฝนตนเช่นนี้ได้กับคนหมู่มาก กับคนทั่วไปได้”
“เมื่อวานอาจารย์ไปทำวัตรเย็นร่วมกับสามเณร (ที่บวชต่อหลังจบโครงการ) สามเณรถามพระอาจารย์ว่า ทำไมเวลาภาวนาต้องพุทโธอย่างเดียว ทำไมไม่ใช้พุทโธ ธัมโม สังโฆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เราตอบไปให้ใกล้เขาได้ไม่ยาก พุทโธ ธัมโม สังโฆ เป็นคำย่อทั่วไปที่เป็นที่หมายของยึดถือเอาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง แต่คำว่าพุทโธที่เราใช้ในการภาวนา เราเลือกมาใช้เพื่อเป็นคำบริกรรมให้เราค้นหา “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” ในตัวเรา พุทโธแปลว่าผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เรานำมาบริกรรมเพื่อน้อมเข้ามาในใจเรา ให้เราค้นหา เพราะมันอยู่ในนี้ เรานำมาบริกรรมเพื่อเป็นที่หมายในเวลาที่เราจะให้จิตของเราจดจ่อ ไม่หวั่นไหว มีสมาธิ เราก็ใช้บริกรรมนี้ซ้ำๆๆ ยิ่งถ้าสอดคล้องกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ในจังหวะของกาย กายมีความสืบต่อของอาการของมันอยู่ การสืบต่อที่มันบังความจริงอยู่ เพราะฉะนั้นเขาถึงให้มาจดจ่อกับลมหายใจ เพื่อจะมาค้นหาความจริง ใช้ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เข้าไปหาความจริง”
“อยากจะบอกว่า ทำบุญดี แล้วยังมีโอกาสทำบุญต่ออีกโดยการเป็นครู แล้วยังมีโอกาสยกระดับด้วยการภาวนาเพื่อให้ชีวิตสูงขึ้น บริสุทธิ์ขึ้น เป็นโอกาสของพวกเรา เราก็มีแค่ชีวิตเดียวนี้แหละ เราประมาทชีวิตเราไม่ได้ ไม่รู้อะไรจะเกิดขึ้น เราจะมีโอกาสเช่นนี้อีกนานหรือเปล่า เราไม่รู้เลย”
“โรงเรียนรุ่งอรุณมาถึง ๒๐ ปี แล้วปีต่อไปเราจะไปทางไหน ตอนนี้ในกระแสโลกของการทำการศึกษา มีกระแสที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับโรงเรียนและการจัดการศึกษามากมาย แต่มีกระแสหนึ่งที่ชัดเจนมาก แล้วเราจะเลี่ยงไม่ได้ คือการเป็นพลโลก เราไม่ใช่แค่พลเมืองไทย แต่เป็นพลโลก หรือ Global Citizen หมายความว่ารุ่งอรุณเองก็หนีไม่พ้นกระแสนี้ แล้วเราต้องไปให้เป็น ไม่ให้กระแสเบียดเราตกเวที แต่เราต้องสร้างเวทีของเราไว้ก่อนเพื่อให้เรามีที่ยืนอยู่ในโลกนี้ได้ เพราะฉะนั้นเราจะทำการทดลองเป็น International มากขึ้น ก็หมายความว่าครูไทยทั้งมวลต้องพูดภาษาอังกฤษเก่ง ไม่ใช่แค่พูดได้ แต่ต้องพูดเก่ง บางคนอาจจะเคยได้ยินข่าวว่าเราจะทำโรงเรียนรุ่งอรุณ ๒ แต่ว่าก่อนที่เราจะทำรุ่งอรุณ ๒ เราจะทำรุ่งอรุณ ๑.๑ ก่อน แต่การศึกษาจะเปลี่ยนไปเช่นนั้น เรายากที่จะเลี่ยง เพราะฉะนั้นเราก็ต้องการครูที่เป็น Co-teaching เป็นทีม ทั้งครูฝรั่งและครูไทย แต่มีข้อแม้ว่าครูไทยต้องพูดภาษาอังกฤษเก่ง เพราะฉะนั้นเราต้องมาคิดหาวิธีว่าเราจะปรับเปลี่ยนอย่างไร เราจะช่วยกันอย่างไร เราต้องช่วยกัน”
:: วันจันทร์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๙ ณ โถงชั้น ๑ อาคารประภัสสร โรงเรียนรุ่งอรุณ