กิจกรรมเจริญจิตภาวนา,  ชุมชนกัลยาณมิตร,  บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนประถม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

สามเณรน้อย แม่ชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข

ralittlemonkโครงการ “สามเณรน้อย แม่ชีน้อย พบธรรม ครอบครัวพบสุข” โครงการบวชของโรงเรียนรุ่งอรุณ เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๕-๑๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ โดยมีนักเรียนร่วมโครงการบวชถึง ๙๙ คน

โครงการนี้สื่อให้เห็นว่านักเรียนรุ่งอรุณมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาและมีใจที่ยิ่งใหญ่ เพราะต้องโกนผม ต้องจากพ่อแม่ ต้องสละความสบายและความเป็นเด็กที่จะได้ทำสิ่งต่างๆ ในวันหยุดปิดเทอม มาเป็นลูกของพระพุทธเจ้าเพื่อใช้ชีวิตดูแลตนเองและฝึกฝนตนเอง สิ่งสำคัญคือเด็กๆ ทุกคนตั้งใจบวชด้วยตัวเอง และเชื่อมั่นว่าสามารถใช้ชีวิตเป็นสามเณรน้อยและแม่ชีน้อยได้ตลอด ๑๒ วัน ๑๑ คืน แต่เมื่อมาเผชิญ กลับไม่ง่ายอย่างที่คิด วัตรปฏิบัติที่ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่ สวดมนต์ทำวัตรตอนตีห้า ตามพระอาจารย์ออกบิณฑบาตเท้าเปล่าตอนเช้ามืด อดอาหารเย็น ซักผ้าเอง และการฝึกปฏิบัติต่างๆ ระหว่างวัน ทำให้บางคนร้องไห้อยากสึกตั้งแต่วันแรก ตลอดระยะเวลาของการบวช จึงเป็นช่วงเวลาที่สามเณรน้อยและแม่ชีน้อยได้ฝึกฝนตนเองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความอดทนและการเอาชนะใจตัวเอง ดังที่พระอาจารย์กสินธุ์ อนุภทฺโท วัดแพร่แสงเทียน ประธานฝ่ายสงฆ์ ให้โอวาทในวันบวช มีใจความว่า

“บัดนี้สามเณรและแม่ชีได้จากพ่อแม่มาสู่อ้อมอกของพระพุทธเจ้าแล้ว มาเป็นลูกของพระพุทธเจ้าแล้ว ดังนั้นต้องฝึกหัดตัวเอง ประการแรกที่จะต้องฝึกคือความอดทน จากที่เคยนอนห้องแอร์ ต้องมานอนห้องพัดลม จากเคยนอนที่นอนนุ่ม ต้องมานอนเสื่อ เคยวิ่งเล่นตามใจ เคยกินข้าวเย็น ก็ต้องอด หลายอย่างในชีวิตเปลี่ยนไป ขอให้อดทน ลูกของพระพุทธเจ้าต้องอดทน…ลำบากเป็นเรื่องสบายเพราะได้ฝึกตัวเอง แต่ความสบายทำให้เราลำบาก เพราะไม่ได้ฝึกตัวเอง

นอกจากสามเณรน้อยและแม่ชีน้อยได้ฝึกฝนตนเองแล้ว การบวชในครั้งนี้ยังเอื้อโอกาสให้คุณครู พ่อแม่ และญาติพี่น้อง ได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนาและฝึกฝนตนเองไปพร้อมกัน คุณครูได้ฝึกฝนตนเองขณะดูแลสามเณรน้อยและแม่ชีน้อยด้วยความเมตตา เห็นอกเห็นใจ ครูหลายคนผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมานอนค้างคืนที่โรงเรียนเป็นเพื่อนให้เณรน้อยและชีน้อยรู้สึกอุ่นใจ พ่อแม่และครอบครัวได้โอกาสตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อตักบาตรลูกเณร-ลูกชี คุณครูและพ่อแม่หลายท่านอาสามาเป็นเด็กวัดเดินตามบิณฑบาตและช่วยเหลือการงานต่างๆ เช่น นำรถส่วนตัวมาช่วยขับรถรับส่งพระอาจารย์และเณรน้อย-ชีน้อยที่ไปบิณฑบาตในหมู่บ้านห่างไกลโรงเรียน คัดแยกอาหารและสิ่งของจากการบิณฑบาตเพื่อนำไปมอบให้กับผู้ที่ขาดแคลนต่อไป ช่วยคัดแยกขยะในแต่ละวัน นำผลไม้ที่ได้จากการบิณฑบาตมาทำเป็นน้ำปานะถวายพระและเณรชีในช่วงเย็น ภาพความร่วมแรงร่วมใจเช่นนี้คือภาพสะท้อนความเป็นชุมชนของโรงเรียนรุ่งอรุณ ที่เป็นชุมชนแห่งกัลยาณมิตรผู้คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันและกันมาเสมอมา

ศรัทธาแรกเริ่มจากสามเณรน้อยและแม่ชีน้อย ก่อเกิดอานิสงส์เป็นวงกว้าง สร้างศรัทธาให้กับคุณครู พ่อแม่ และญาติพี่น้อง ตลอดจนผู้พบเห็น ภาพสามเณรน้อยและแม่ชีน้อยเดินเท้าเปล่าตามพระอาจารย์ออกบิณฑบาตเป็นประจำยามเช้าตรู่ และการสวดให้พรเสียงดังฟังชัด ยิ่งสร้างความเลื่อมใสศรัทธา ทุกคนอยากใส่บาตรสามเณรน้อยและแม่ชีน้อย

โครงการบวชในครั้งนี้นับเป็นบุญอันใหญ่ยิ่งทั้งของผู้บวช และผู้มีส่วนร่วมเอื้ออำนวยให้การบวชประสบความสำเร็จด้วยดี สามเณรน้อยและแม่ชีน้อยได้พบธรรม พ่อแม่และครอบครัวได้พบกับความสุข พุทธศาสนิกชนได้มีส่วนร่วมสืบทอดพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไป

“การทำอะไรก็ตามกับพระศาสนา แม้เราทำไปแบบตั้งใจบ้าง ไม่ตั้งใจบ้าง แต่มันก็ถูกปลูกฝังไว้ในจิตวิญญาณ แล้ววันหนึ่งมันจะสุก ออกดอกออกผลมา ไม่ใช่ตอนนี้ แต่มันจะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า แต่ตอนนี้เราปลูกฝังแล้ว ก็ขอให้ทุกคนเจริญก้าวหน้าในการต่อสู้กับตัวเอง ให้มีกำลังใจแข็งแรง สติปัญญาเข้มแข็ง แล้วเดี๋ยวหลวงพ่อจะสวดชยันโตให้ ชยันโตแปลว่าผู้มีชัยชนะ ตั้งแต่วันแรกจนวันนี้เราได้มีชัยชนะต่อตัวเอง ก็ขอให้กลับไปจงเป็นคนที่มีชัยชนะต่อจิตใจของตนเองทุกๆ คน” พระอาจารย์กสินธุ์ อนุภทฺโท วัดแพร่แสงเทียน ประธานฝ่ายสงฆ์ ให้โอวาทในวันลาสิกขาบท

“ไม่ว่าเราจะมองเด็กของเราว่าอยู่ในลักษณะใดก็ตาม เขาจะมีความยากลำบากในการมาฝึกฝนเป็นบรรพชิต ต้นทุนเขาเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นด้วยความเป็นมนุษย์ ฝึกได้ ก็ได้พิสูจน์แล้วว่าทุกคนฝึกได้ แล้วก็ต้องการการฝึกแบบนี้ เพื่อให้ความเป็นมนุษย์สมบูรณ์ขึ้น” รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ กล่าวในวันลาสิกขาบท

เรียนรู้การแบ่งปันและเป็นผู้ให้ ณ มูลนิธิธรรมานุรักษ์ จ.กาญจนบุรี, สถานสงเคราะห์คนพิการและทุพพลภาพพระประแดง และบ้านศิริวัฒนธรรม จ.ราชบุรี

สามเณรน้อย-แม่ชีน้อย…พบธรรม

“อดที่จะอยากทำอะไรบางอย่างที่เราอยากมากๆ ครับ เช่น การเล่นที่ไม่มีประโยชน์ หรือการเล่นที่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนครับ ก็ใช้วิธีทำ ๑๔ จังหวะ ถ้ามือมันไม่ยอมอยู่นิ่ง ก็ ๑๔ จังหวะ ขยับมือไปมา ๑๔ รอบ ทำไปเรื่อยๆ ครับ” สามเณรคู่บุญ-รวินทร์พัชร รังสรรค์ ป.๒/๔

“เราได้ฝึกฝนเรื่องการรับผิดชอบของตนเอง แล้วก็การคิดพัฒนาสิ่งที่ตนเองมีอยู่…อยู่ที่บ้านเราไม่ค่อยได้ซักเสื้อผ้าเอง มาบวชครั้งนี้ไม่มีใครซักให้ เราก็ต้องเตือนตัวเองตลอดว่าเราต้องซักนะ ไม่อย่างนั้นมันจะเน่า” สามเณรอิ่วเจิ้น-ณนนท์  เรืองจินดา ป.๔/๓

“ได้อยู่กับตัวเองมากขึ้น แล้วก็รู้สึกว่ามีสติมากขึ้นค่ะ จากใจร้อนก็น้อยลงเยอะเลยค่ะ” แม่ชีณัฏฐ์-ณัฏฐ์  วิมลพิทยารัตน์ ป.๔/๑

“ประทับใจที่ตัวเองได้ตื่นเช้าขึ้น คือที่อยู่บ้าน เป็นบางวันที่จะมาเช้า หลายวันจะมาสายบ่อย คือเห็นว่าบ้านอยู่ใกล้ คงจะไม่ต้องตื่นเช้ามาก แต่ว่าพอตื่นมาก็ขอ ๕ นาที  ๑๐ นาที ไปเรื่อยๆ จน ๗ โมงครึ่งต้องตื่นมารีบอาบน้ำ รีบอะไรแบบนี้ ก็อยากเปลี่ยนตัวเองใหม่ครับ” สามเณรธาม-จิรพัฒน์ ขุนทอง ป.๔/๑

“ต้องตื่นให้เช้าขึ้น ตอนบิณฑบาตต้องเดินทุกพื้นผิวขรุขระ ก็ต้องอดทนค่ะ การอดทนก็เหมือนเป็นการฝึกตัวเองด้วย…ตอนแรกเป็นคนใจร้อน พอมาบวชแล้วใจสงบขึ้น เหมือนได้ฝึกความสำรวม ความสงบจิตสงบใจ ทำให้เรานิ่งมากขึ้น เมื่อเรานิ่งมากขึ้น เราก็พร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้นค่ะ” แม่ชีมายด์-ภัทรวดี  กีรติชาญเดชา ป.๖/๔

ครอบครัว…พบสุข

“อันดับแรกคือแม่สุขใจที่เห็นลูกบวช เพราะจริงๆ ลูกนี่แหละเป็นคนคอยเตือนสติพ่อกับแม่ในทุกๆ ครั้งที่เวลาเราหลุด เขาจะเป็นคนที่คอยเตือนเรา คิดว่าเป็นโครงการที่นอกจากจะทำให้ตัวเขาฝึกตนเองแล้ว คุณพ่อคุณแม่ก็ได้ฝึกตนเองไปด้วยค่ะ” คุณแม่สุภา อมรสิทธิ์

“ไม่เคยคิดว่าลูกจะบวช เขาได้บวช เราก็ได้เรียนรู้ไปด้วยในตัว ส่วนหนึ่งก็ทำให้ครอบครัวนิ่งขึ้น  เข้าใจอะไรมากขึ้น เช้าๆ คุณพ่อคุณแม่ก็ตื่นเร็วขึ้น นอนเร็วขึ้นตามเด็กๆ ครับ” คุณพ่อไชยวัฒน์  ชัยพิพรรธ

“ก่อนหน้านี้เราไม่ค่อยได้มาตอนเช้าๆ ขนาดนี้ มีแต่ทำวัตรเช้าเฉยๆ แต่ตอนนี้ตื่นตีห้า ก็รู้สึกว่ามันเหนื่อยนะครับ แต่ว่ามันสุขใจมาก เพราะว่าได้เห็นลูกอยู่ในศีลในธรรม ปฏิบัติตน” คุณพ่อธนวัฒน์ เขมกร

“ถ้าถามถึงความสุขก็คงจะได้เห็นภาพที่เด็กๆ ได้เรียนภาวนา…..ครั้งนี้เขาตั้งใจมาก ตั้งใจขนาดยอมทิ้งเที่ยวเพื่อได้บวชครั้งนี้ ก็เลยรู้สึกว่าความสุขของครอบครัวคือการที่ได้เห็นเด็กๆ ทั้งลูกเณรและลูกชี ได้มีโอกาสเข้ามาสู่ร่องรอยและเส้นทางของการได้ปฏิบัติธรรม” คุณพ่อสุทธิชัย  ประพจนากรณ์

“สิ่งที่เราได้พบก็คือ เราได้เรียนรู้ไปกับเขาว่าเขาจะต้องเติบโต อย่างน้อยเขาต้องช่วยเหลือตัวเองได้ มีความอดทน มีความพยายามที่จะฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ในช่วง ๑๐ วันนี้ เป็นสิ่งที่ทำให้เราเริ่มเห็นทางแล้วว่าเด็กๆ เราทำได้” คุณแม่เพชรรัตน์  โชติกาญจนเรือง