เปิดบ้านมัธยมรุ่งอรุณ ๒๕๖๐
วันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ ฝ่ายมัธยมจัดงาน “เปิดบ้านมัธยม” เชิญชวนผู้ปกครองประถมและมัธยมที่สนใจมาล้อมวงสนทนาถึงการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมของรุ่งอรุณ โดยมีคุณครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ (ครุต้อย) ครุใหญ่มัธยม คุณครูอารีย์ จันทร์แย้ม ผู้ช่วยครูใหญ่มัธยม ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.๑ และตัวแทนศิษย์เก่า มาร่วมบอกเล่าการเรียนรู้และวิถีชีวิตในระดับชั้นมัธยมของรุ่งอรุณ และร่วมตอบคำถามที่ผู้ปกครองสงสัย โดยมีคุณพ่อธีรศักดิ์ เชาอนาจิณ (พ่อหมี) และคุณแม่อารเพ็ญ นรามณฑล(แม่ปู) ผู้ปกครองมัธยม ร่วมเป็นพิธีการดำเนินการสนทนา
ตัวแทนนักเรียนชั้น ม.๑ ในวันนั้นมีทั้งนักเรียนเก่ารุ่งอรุณ และนักเรียนใหม่ที่เพิ่งย้ายมาเข้าเรียนตอน ม.๑ ประกอบด้วย ด.ญ.ปัณณ์ คำพอ (ปันปัน) ม.๑/๒ ด.ช.กฤชนนท์ สุทธางคกูล (กั๊ทจัง) ม.๑/๑ ด.ญ.ปั้น เทิดปฐวีพงศ์ (ปั้น) ม.๑/๑ ด.ญ.ชุติกาญจน์ กนกกันทรากร (เอิร์น) ม.๑/๓ ด.ญ.คีตา วิบูลย์สันติพงศ์ (เพลง) ม.๑/๓ และด.ญ.ภัทร ลีลารัศมี (บิง) ม.๑/๒ โดยนักเรียนต่างบอกว่าการเรียนในระดับชั้นมัธยมนั้นยากกว่าตอนประถม งานและกิจกรรมเยอะขึ้น ไม่มีครูมาช่วยตามงานเหมือนสมัยประถมแล้ว ถ้าเลยกำหนดส่งก็จะโดนหักคะแนนทันที ทำให้ต้องขยันมากขึ้น รู้จักแบ่งเวลา จัดการเวลา และต้องมีความรับผิดชอบมากขึ้น
ด้านศิษย์เก่าที่มาร่วมสนทนาเป็นนักเรียนรุ่งอรุณรุ่นที่ ๑๓ (RA13) คือ นายกิตตินันท์ ธนิสสรานนท์ (นันท์) ปี ๒ คณะวิศวกรรมศาสตร์ (การบิน) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายรัญชน์ รินวิไลรักษ์ (ฟลุ้ค) ปี ๒ คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาคภาษาอังกฤษ) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งประเด็นที่ผู้ปกครองสนใจคือ เตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างไร และการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยว่าต้องปรับตัวมากน้อยแค่ไหน ความรู้จากรุ่งอรุณเพียงพอหรือไม่
:: การเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ::
นายกิตตินันท์เล่าว่ากระบวนการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ตอน ม.ปลาย ทำให้เขาค้นพบตัวเองว่าถนัด/ไม่ถนัด ชอบ/ไม่ชอบ วิชาอะไร ซึ่งทำให้เขารู้ว่าอยากจะเรียนต่อด้านไหนหรือคณะอะไร เมื่อค้นพบตัวเองแล้วก็มองเห็นเส้นทางที่จะเข้าคณะดังกล่าวว่าต้องทำอะไรบ้าง เช่น ต้องสอบวิชาอะไร ใช้ความรู้เรื่องไหน ทบทวนตัวเองว่าต้องเตรียมตัวในเรื่องใดบ้าง ตรงไหนไม่เข้าใจก็ปรึกษาคุณครู โดยมองว่าการจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้นั้นขึ้นอยู่กับวินัยของแต่ละคนว่าอ่านหนังสือหรือฝึกทำข้อสอบมากพอหรือเปล่า ส่วนความรู้จากรุ่งอรุณนั้นคิดว่าเพียงพอ เพราะโรงเรียนสอนให้เข้าใจแนวคิดหลักของแต่ละวิชา (Concept) ทำให้ประยุกต์ใช้ได้ แต่ที่ตนเรียนพิเศษเพิ่มก็เพื่อรู้เทคนิคการทำข้อสอบ
ขณะที่นายรัญชน์บอกว่าเขาค้นพบตัวเองจากการพูดคุยกับพ่อแม่ ครู เพื่อน และรุ่นพี่ และเช่นเดียวกับนายกิตตินันท์ที่เมื่อค้นหาตัวเองเจอก็สามารถวางแผนการเตรียมตัวเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้ เช่น ศึกษาคณะที่จะเข้าว่าต้องสอบวิชาอะไร แล้ววางแผนการอ่านหนังสือและทำข้อสอบด้วยตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องเรียนพิเศษ สิ่งที่ต้องทำเพิ่มในการเตรียมตัวสอบคือการฝึกทำโจทย์/ข้อสอบให้มาก ซึ่งเป็นสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนสามารถทำด้วยตัวเองได้ เพราะการสอนของรุ่งอรุณนั้นเน้นความรู้พื้นฐานและสอนให้เข้าใจ Concept ทำให้นักเรียนสามารถพลิกแพลง/ประยุกต์ใช้ได้
:: ชีวิตในมหาวิทยาลัย ::
ศิษย์เก่าทั้งสองคนบอกตรงกันว่า การเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นต้องพึ่งตัวเองเต็มร้อย ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ต้องมีวินัย และรับผิดชอบตัวเองมากขึ้น ซึ่งนักเรียนรุ่งอรุณถูกฝึกฝนทักษะเหล่านี้มาโดยตลอด โดยเฉพาะในกระบวนการทำโครงงานที่ฝึกการทำงานจริง การทำงานหนักและยาก การหาข้อมูล การทำความเข้าใจ การจัดการข้อมูล/ความรู้ การประยุกต์ใช้ความรู้ การนำเสนอ การจัดการเวลา วินัย ความรับผิดชอบ การกำกับดูแลตนเอง ฯลฯ ดังนั้นเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยจึงไม่ต้องปรับตัวมาก และสามารถดูแลตัวเองได้ดีเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ จากโรงเรียนอื่น
โรงเรียนขอขอบคุณพ่อหมี แม่ปู ผู้ปกครองทุกท่าน และขอขอบใจนักเรียนทุกคน ทั้งนักเรียนชั้น ม.๑ และศิษย์เก่า ที่มาร่วมสนทนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกันในวันนั้นค่ะ