วันที่ปลาว่ายเข้ามาในใจผม
โดย เด็กชายพสธร ศรีชัยยงพานิช (จ๊าบ) ชั้น ม.๓/๑
ที่มา: adaymagazine.com
“จ๊าบเดินต่อได้แล้ว แม่จะไปซื้อของต่อ”
เสียงเรียกของคุณแม่ของผม ขณะที่ผมและพี่ชายกำลังยืนมองปลาหลายตัวที่นอนแน่นิ่งอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ต เหตุการณ์แบบนี้มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ อาจเป็นเพราะความสนใจในเรื่องปลาของผม ทำให้อดไม่ได้เมื่อเจอปลาในทุกๆ ที่ก็จะอดมองไม่ได้ ผมสนใจปลามาตั้งแต่จำความได้ ผมไม่รู้ว่าผมชอบปลาเพราะอะไร รู้แต่ว่าที่ผ่านมา ผมมักจะมีความสุขเวลายืนมองคุณพ่อให้อาหารปลาคาร์พ ผมจำชื่อปลาคาร์พของคุณพ่อทุกตัวได้ ผมมักจะชอบใส่เสื้อและใช้ผ้าเช็ดตัวรูปปลา เดินยิ้มเสมอเมื่อดูปลาในอควาเรียม ในร้านขายปลา หรือแม้แต่ในซูเปอร์มาร์เก็ตก็ตาม
“ผมชอบปลาครับ”
ครั้งแรกกับการเลี้ยงปลา ผม พี่ชาย และคุณพ่อ ไปที่ตลาดนัดสวนจตุจักร เราสามคนเดินตรงดิ่งเข้าไปในร้านขายปลาสวยงามร้านหนึ่ง แล้วพวกเราก็เดินออกมาพร้อมกับถุงพลาสติกที่มีปลาสอดอยู่ 4 ตัว และตู้อีก 2 ใบ นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้มีปลาเป็นของตัวเองและได้เลี้ยงปลาอย่างจริงๆ จังๆ ผมตั้งชื่อปลาสอด 2 ตัวนั้นว่า ‘ครอกเก้’ และ ‘คาราเมล’ แต่ฟ้าคงไม่ได้ลิขิตให้ ครอกเก้ กับคาราเมล อยู่กับผมนาน เหลือเพียงแต่ปลาอยู่เพียงตัวเดียวในตู้ของพี่ชาย ไม่นานนักเจ้าปลาสีแดงก็เริ่มมีอาการแปลกๆ ให้ผมเห็น วันนั้นมันได้แต่นอนอยู่กับพื้นตู้ หายใจถี่ๆ เกล็ดก็พองเต็มตัวไปหมด ผมเริ่มแน่ใจแล้วว่ามันป่วย แต่ความรู้ที่ผมมีในตอนนั้นไม่พอที่จะสามารถรั้งชีวิตเจ้าปลาสอดสีแดงตัวนั้นไว้ได้ ไม่นานเจ้าปลาตัวนั้นก็จากไป และทิ้งคำถามไว้ให้ผมว่า มันเป็นโรคอะไร เกิดจากอะไร และผมจะรักษามันได้อย่างไร
โตขึ้นมาหน่อย ผมเริ่มศึกษาหาข้อมูลจากหนังสือบ้าง เจ้าของร้านขายปลาบ้าง เกี่ยวกับการดูแลรักษาเจ้าปลาจากโรคต่างๆ เพราะตอนนั้นผมยังใช้อินเทอร์เน็ตไม่เป็น ข้อมูลจึงจะมาจากหนังสือเสียส่วนใหญ่ ไม่นานผมก็ขยับขึ้นมาเลี้ยงปลาทอง ตอนนั้นผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับปลาทอง ตั้งแต่เรื่องวิธีการเลี้ยงจนไปถึงประวัติศาสตร์ของปลาทอง ปลาทอง 2 ตัวแรกของผม เป็นพันธุ์สิงห์ญี่ปุ่นที่มีลักษณะอ้วนป้อมน่ารัก ตัวหนึ่งสีดำส้ม อีกตัวหนึ่งสีขาว แล้วปัญหาก็มาเยือนผมอีกครั้ง เมื่อผมให้อาหารชนิดเม็ดลอยน้ำ เจ้าปลาทั้งสองจึงต้องว่ายน้ำขึ้นมาเพื่อฮุบอาหารและกลืนลมเข้าไป จนทำให้พวกมันป่วยเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และจากผมไปในที่สุด เขาตายอีกแล้ว…
ไม่นานผมก็เริ่มขยับไปเลี้ยงปลาแม่น้ำในบ่อดินที่บ้านของคุณยาย ครั้งนี้ถึงแม้ว่าผมจะได้เห็นเจ้าปลาเพียงแค่เวลาที่เราให้อาหารมัน แต่ผมรู้สึกว่าคุณภาพชีวิตมันจะดูแฮปปี้มากกว่าในตู้มาก ทั้งกว้าง ทั้งมีสาหร่าย มีแร่ธาตุมากมาย ยิ่งทำให้ชีวิตและสุขภาพของปลาดีขึ้นไปอีก ผมจึงค่อยๆ ศึกษาเรื่องระบบนิเวศปลาแม่น้ำ และนำปลาหลากหลายสายพันธุ์มาปล่อยเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างให้เกิดเป็นระบบนิเวศ เพื่อสร้างความแฮปปี้ให้เจ้าปลา และครั้งนี้พวกเขาไม่ตายครับ
มาถึงวันนี้ ผมได้รู้ว่าผมไม่ได้อยากแค่เลี้ยงปลาเพียงเพื่อแค่ชื่นชมความสวยงามเท่านั้น แต่ผมอยากจะรักษาพวกเขาไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปจากโลกใบนี้ ผมไม่อยากเห็นเขาตายอีกแล้ว ผมอยากให้เขามีความสุขเหมือนในบ่อดิน และวันหนึ่ง วันที่ผมได้ไปพบกับ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ท่านมาบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสถานการณ์ทะเลไทยในปัจจุบัน หลังจากการบรรยายในครั้งนั้น มีบางอย่างก่อเกิดขึ้นในตัวผม ผมรู้สึกว่าผมอยากจะปกป้องทะเลและเหล่าปลาทุกๆ ตัวเหมือนอย่าง ดร.ธรณ์
ผมก็ไม่รู้ว่าเพราะอะไร ผมถึงชอบ ผมถึงรักปลาขนาดนี้ แต่ถ้าหากคุณบังเอิญได้มีโอกาสเห็นพวกเขาเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นในคลอง ในแม่น้ำ ในตู้ ในบ่อ หรือแม้แต่ในทะเลก็ตาม ผมอยากให้ทุกคนลองหยุด และมองดูพวกเขาเหล่านั้นดูซักหน่อย นอกจากความสวยงามแล้วพวกเขากำลังสื่อถึงการมีวิวัฒนาการของสัตว์มีกระดูกสันหลังทั้งหมดบนโลกนี้ ที่ทุกสายพันธุ์ได้วิวัฒนาการมาจากพวกเขา ผมอยากจะขอบคุณการจากไปของ ‘ครอกเก้’ และ ‘คาราเมล’ ในครั้งแรก ที่เป็นแรงผลักดันให้ผมศึกษาเกี่ยวกับปลามากขึ้นจนมาถึงวันที่ผมได้มีโอกาสไปพบกับดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ทำให้ผมรู้ว่าเส้นทางของความฝันของผมจะมีจุดหมายปลายทางคือการได้เป็น
‘ผู้ปกป้องทะเล และปลาทุกๆ ตัวครับ’
:: บทความชิ้นนี้เป็นผลงานในวิชาภาษาไทย ภาคเรียนที่ ๓/๒๕๕๙ โรงเรียนรุ่งอรุณ ซึ่งได้รับเลือกลงในคอลัมน์ a day that changed my life เว็บไซต์ a day Magazine Online วันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๐