สร้างวินัยเชิงบวกให้ลูก เริ่มต้นที่พ่อแม่
ก่อนจะเปิดปีการศึกษาใหม่ วันที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๖๐ โรงเรียนรุ่งอรุณ ฝ่ายประถม จัดกิจกรรมปฐมนิเทศเชิญผู้ปกครองระดับชั้น ป.๑ น้องเล็กที่เพิ่งก้าวจากช่วงชั้นอนุบาลมาสู่ช่วงชั้นประถม ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่งของเด็กๆ มาร่วมพูดคุยถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนและพัฒนานักเรียนร่วมกันในปีการศึกษาใหม่นี้ โดยเชิญ ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร (ครูหม่อม) ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค 101s การสร้างวินัยเชิงบวก สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยกับผู้ปกครองในหัวข้อ “เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวก & พัฒนาการสมอง EF, จิตใจและพฤติกรรม” เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจและมีวิธีจัดการกับอารมณ์/พฤติกรรมของลูกอย่างเหมาะสม
ครูหม่อมอธิบายว่าการจะเข้าใจพฤติกรรมของลูกและรับมือหรือจัดการได้เหมาะสมนั้น พ่อแม่ต้องเข้าใจการทำงานของสมองที่อยู่เบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้นก่อน โครงสร้างของสมองมี ๓ ส่วน ได้แก่
- สมองส่วนสัญชาติญาณ เช่น หายใจ
- สมองส่วนอารมณ์ มีหน้าที่เรียนรู้และจดจำ บอกว่าชอบ/ไม่ชอบ พอใจ/ไม่พอใจ เมื่อมีข้อมูลจากภายนอก สมองจะสแกนทันทีว่าชอบ/ไม่ชอบ พอใจ/ไม่พอใจ เมื่อเด็กเจริญเติบโตเต็มที่ เขาใช้สมองส่วนนี้ได้ทันที แล้วถ้าไม่ชอบจะแสดงออกเป็นพฤติกรรมทันที นั่นหมายถึงว่าสมองไม่ส่งข้อมูลไปให้สมองส่วนหน้า ข้อมูลไปไม่ถึงสมองส่วน EF พฤติกรรมที่แสดงออกจึงมาจากสมองส่วนอารมณ์
- สมองส่วนเหตุผล (Executive Function-EF) ซึ่งเป็นการทำงานของสมองระดับสูง ทำงานโดยการประมวลประสบการณ์เดิมกับสถานการณ์ปัจจุบันเข้าด้วยกัน เพื่อคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ แก้ไขปัญหา ควบคุมอารมณ์ จัดลำดับความสำคัญ แล้วแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
สมองของคนเรามีหน้าที่หลัก คือ เอาชีวิตรอด ถ้าสมองไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม สมองจะกลับไปสู่หน้าที่หลัก นั่นคือ ใช้เฉพาะสมองส่วนสัญชาติญาณและสมองส่วนอารมณ์ การที่เด็กจะใช้/พัฒนาสมองส่วน EF ขึ้นอยู่กับประสบการณ์เดิมและคุณภาพของประสบการณ์ ซึ่งสร้างโดยพ่อแม่ พ่อแม่คือคนสำคัญ เพราะเด็กต้องใช้ประสบการณ์เดิมในการคิด เด็กเรียนรู้จากการเลียนแบบ เด็กเรียนรู้จากการปฏิบัติและประสบการณ์ ทักษะเกิดจากการฝึกฝน ความประพฤติเกิดจากแรงจูงใจ และวินัยเกิดจากความมั่นคง ต่อเนื่อง
เมื่อใดที่เด็กใช้สมองส่วนอารมณ์ ไม่ใช่เวลาสอน แต่คือเวลาปลอบ
ครูหม่อมแนะนำหลักเบื้องต้นว่า เมื่อเด็กแสดงพฤติกรรม ให้สังเกตว่าเขากำลังใช้สมองส่วนไหน เมื่อไรก็ตามที่พฤติกรรมลูกมาจากสมองส่วนอารมณ์ เช่น แสดงอารมณ์เกรี้ยวกราดรุนแรง ตีพ่อแม่ ร้องจนอาเจียน (สมองส่วนอารมณ์ไม่ส่งข้อมูลไปสมองส่วน EF) เป็นช่วงเวลาที่สอนไม่ได้ สอนแล้วจะต่อต้าน แต่เป็นช่วงเวลาปลอบ อาจจะปลอบด้วยวาจาหรือท่าทาง เมื่อสมองส่วนอารมณ์คลี่คลายแล้วส่งข้อมูลไปสมองส่วน EF จึงจะเป็นช่วงเวลาที่สอนได้
เมื่อสมองทำงานซ้ำๆ จะกลายเป็นนิสัย ดังนั้นถ้าปล่อยให้สมองส่วนอารมณ์ทำงานซ้ำๆ (โดยไม่ส่งข้อมูลไปสมองส่วนหน้า) เด็กจะมีพฤติดรรมโทษคนอื่น โกหก แอบทำ ฯลฯ
เทคนิค “พูดน้อย แต่พูดวนไป”
สิ่งสำคัญของการสร้างวินัยเชิงบวกคือการฟัง เพราะสมองส่วนอารมณ์นั้นหิวความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ และการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวซึ่งคือการที่พ่อแม่ “ฟัง” เขา
ดังนั้นเมื่อลูกแสดงพฤติกรรม ควรใช้คำพูดในลักษณะ “รู้ว่าลูกรู้สึกอย่างไร+จึงแสดงพฤติกรรมอะไร” เพื่อให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่ฟังเขาและเข้าใจเขา เช่น “แม่รู้ว่าหนูเสียใจจึงร้องไห้เสียงดัง” ถ้าลูกยังร้องไห้ไม่หยุด อาจเพราะโดนขัดใจหรือไม่พอใจเรื่องอะไรก็ตาม ให้พูดย้ำคำเดิม หรืออาจะเพิ่มเติม เช่น “แม่รู้ว่าหนูกำลังโกรธ ไว้หนูพร้อมแล้วเรามาคุยกัน แม่รออยู่นี่นะ” หลักการที่ครูหม่อมแนะนำ คือ พูดน้อย แต่พูดซ้ำๆ พูดวนไป
การพูดเช่นนี้บ่อยๆ เป็นการสร้าง Inner voice ฝังในสมองของเด็ก ทำให้เด็กเท่าทันอารมณ์ตัวเอง ระบุอารมณ์ตัวเองได้ ถ้าเด็กระบุอารมณ์ตัวเองได้ เขาจะสุขภาพจิตดี
ตรวจสอบตัวเอง คำพูดที่ใช้นำไปสู่วินัยเชิงบวกหรือไม่
ครูหม่อมชวนคุณพ่อคุณแม่สำรวจตัวเองว่า ท่าทีและคำพูดที่ใช้กับลูกนั้นจะนำไปสู่วินัยเชิงบวกหรือวินัยเชิงลบ เช่น
- สั่ง หรือ สอน
- เป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต
- เข้าใจยากหรือง่าย เพราะเด็กยังประสบการณ์น้อย คำพูดจึงต้องชัดเจนและเข้าใจง่าย ไม่ทำให้สับสน
- คำพูดลักษณะ “ห้าม ไม่ อย่า หยุด” สมองต้องประมวลผล ๒ รอบ ดังนั้นถ้าอยากให้ลูกทำอะไร ให้บอกตรงๆ ไปที่พฤติกรรมหรือสิ่งที่อยากให้ทำ เช่น แทนที่จะบอกว่า “อย่าวิ่งนะลูก” ให้เปลี่ยนเป็น “ค่อยๆ เดินนะลูก”
เทคนิค 5T การสร้างวินัยเชิงบวก
- Teach – สอน
- Train – ฝึกฝน
- Target – Behavior กำหนดพฤติกรรมเป้าหมาย/ตั้งเป้าหมายการสอนให้ชัด
- Trust – ความเชื่อมั่นและไว้ใจ (ว่าลูกเรียนรู้และพัฒนาได้)
- Time – เวลา
ตัวอย่าง ๕ หลักการสร้างวินัยเชิงบวก
๑.หลักการทำให้เป็นเรื่องใหญ่ เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่พึงประสงค์ ให้ชื่นชม โดยการชมที่มีคุณภาพ คือ คำชม+ระบุพฤติกรรมเจาะจง+ระบุคุณลักษณะที่อธิบายพฤติกรรมนั้น เช่น “หนูเก่งมาก หนูเก็บของเล่นเอง หนูมีความรับผิดชอบมาก”
๒.หลักการแสดงความเข้าใจ
๓.หลักการเบี่ยงเบนกิจกรรม
๔.หลักการให้ทางเลือกเชิงบวก คือ ให้ทางเลือก ๒ ทาง+เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้+ไปสู่เป้าหมายเสมอ เช่น ลูกไม่ยอมกินผัก “หนูจะกิน ๑ ชิ้น หรือ ๒ ชิ้น” ลูกไม่ยอมอาบน้ำ “หนูจะอาบเองหรือให้แม่อาบให้” แทนที่จะพูดว่า “หนูจะกินหรือไม่กิน” “หนูจะอาบหรือไม่อาบ” ซึ่งเมื่อเด็กเลือก “ไม่” พ่อแม่ก็มักไม่ยอม ทำให้เด็กสับสนว่าแล้วจะให้เลือกทำไม
๕.หลักการมองตา เมื่อพูดกับลูกให้มองตา/มองหน้าเขาด้วย ไม่ใช่ยืนหันหลังทำกับข้าวแล้วสอนลูก เด็กจะไม่ใส่ใจหรือรับรู้ได้ดีเท่าเรามองตาเขาขณะพูด
ในตอนท้ายครูหม่อมย้ำถึงหัวใจสำคัญของการสร้างวินัยเชิงบวกว่าประกอบด้วย ๑.การฟัง ๒.ตั้งกฎ ซึ่งกฎที่เป็นวินัยในบ้านต้องชัด พ่อแม่ต้องมั่นคง และให้ลูกมีส่วนร่วมตั้งกฎนั้น ถ้าลูกเคารพกฎในบ้าน เขาจะเคารพกฎโรงเรียนและกฎของสังคม และ ๓.หลัก 5T+๕ หลักการ
โรงเรียนรุ่งอรุณขอขอบคุณคุณครูหม่อม–ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ที่มาพูดคุยไขข้อข้องใจและให้ข้อมูลความรู้กับคุณครูและผู้ปกครองรุ่งอรุณในครั้งนี้