ถอดรหัสผู้อำนวยการเรียนรู้แห่งรุ่งอรุณ : Facilitator ที่ดีเป็นอย่างไร?
สรุปประเด็นโดย: ครูเรไร ท่าผา (ครูติ๊ก)
วันเสาร์ที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๐ คณะผู้บริหารโรงเรียนรุ่งอรุณจัดให้มีการอบรมครูหัวหน้าระดับชั้นและสายวิชาที่ทำหน้าที่โค้ช ทั้งระดับอนุบาล ประถม และมัธยม ในหัวข้อเรื่อง “การพัฒนาผู้อำนวยการเรียนรู้แห่งรุ่งอรุณ (Facilitator)” โดยมี รศ.ประภาภัทร นิยม ผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ และอธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์ เป็นวิทยากร และเป็น facilitator ต้นแบบ
การอบรมในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาความสามารถในการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ให้กับเพื่อนครูได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในการเรียนการสอนของตนและนำวงประชุม AAR โดยกระบวนการในช่วงเช้าเป็นการสาธิตบทบาทการเป็น facilitator ให้ครูเห็นตัวอย่าง ประกอบกับการถอดกระบวนการที่ facilitator ทำหน้าที่ เพื่อให้ครูเข้าใจบทบาทการเป็น facilitator ชัดเจนยิ่งขึ้น
กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน
กระบวนการเรียนรู้เริ่มต้นด้วยกิจกรรมสวดมนต์ไหว้พระ ฝึกเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ๒๐ นาที และสะท้อนการเรียนรู้เรื่องของสภาวะจิตใจ ความรู้สึก นึก คิด เพื่อให้ครูตั้งหลักพร้อมเรียนรู้ ก่อนจะเข้าสู่บทเรียนแรก คือ การกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ร่วมกัน facilitator ขอให้ครูช่วยกันนิยามความหมายของคำว่า facilitator และเขียนคำตอบบนกระดาน โดย facilitator เขียนคำว่า “การเป็น facilitator” ไว้กลางกระดาน และเขียนคำนิยามไว้ทางด้านบนขวา เช่น กระบวนกร ผู้นำกระบวนการ ผู้อำนวยกระบวนการ ผู้จัดการเรียนรู้ หัวหน้าการเรียนรู้ เป็นต้น (โดยขีดเส้นใต้คำสำคัญ) เมื่อได้คำตอบนิยามมาพอสมควรแล้ว facilitator บอกเป้าหมายของการอบรมในวันนี้ว่า จะเรียนกันเรื่องนี้ที่ครูระบุนิยามมา และให้ครูช่วยกันสรุปคำนิยามที่กระชับของคำว่า facilitator ซึ่งครูได้ร่วมกันนิยามว่า “ผู้อำนวยการเรียนรู้”
บทบาทของการเป็น“ผู้อำนวยการเรียนรู้”
บทบาทของผู้อำนวยการเรียนรู้ซึ่งต้องรู้มาก่อนล่วงหน้า ได้แก่ รู้เป้าหมาย รู้กิจกรรมที่นำสู่เป้าหมาย จัดเตรียมสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้และสถานที่ให้เหมาะสม รู้จักเลือกใช้สื่อและเครื่องมือ รู้กลุ่มเป้าหมาย รู้คำถาม และวิธีการประเมินผลผู้เรียน เป็นต้น ดังนั้น เป้าหมายของการเป็น facilitator จะต้องรู้หน้าที่และบทบาทของการเป็น facilitator ที่จะต้องพาผู้เรียนให้บรรลุผลการเรียนนั้นๆ และเป้าหมายของการอบรมในวันนี้ คือ การพาผู้เรียน (ครู) ให้เข้าใจการเป็น facilitator เห็นตัวอย่าง และทำเป็น
ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้
การสนทนาระหว่าง facilitator และครูได้ข้อสรุปว่า “คำถาม” เป็นปัจจัยความสำเร็จของการเป็น facilitator เนื่องจากเป็นการกระตุ้นความคิดของผู้เรียนอย่างหลากหลายและตื่นเต้น เป็นการดึงความรู้จากภายในของผู้เรียนออกมาเอง ช่วยจัดลำดับความเข้าใจและนำไปสู่เป้าหมายเชิงคุณค่าได้ เชื่อมโยงขยายความคิดเติมเต็มซึ่งกันและกัน เป็นเครื่องตรวจสอบ/ประเมินความเข้าใจของผู้เรียนและ facilitator ช่วยให้เกิดการทบทวนและประมวลความเข้าใจของผู้เรียนและชั้นเรียน รวมทั้งคำถามนำไปสู่การสร้างกระบวนการหาคำตอบ
ทำอย่างไรให้เป็น facilitator ที่ดี
- การรู้ประเด็นที่จะถามก่อนล่วงหน้า คือ รู้ว่ามีเป้าหมายอะไรอยู่ในใจ รู้ทิศทางตั้งแต่ต้นจนถึงผลสุดท้าย โดยมีชุดคำถามเตรียมไว้จำนวนหนึ่ง แต่บางคำถามต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบฟังจากคำตอบของผู้เรียนแล้วตั้งคำถามได้ในทันที กรณีที่ถามแล้วผู้เรียนไม่รับมุข facilitator จะย่อยคำถามให้ง่ายขึ้น ทำให้ผู้เรียนไว้วางใจ ใช้เรื่องเล่าประกอบ และนำประสบการณ์ของผู้เรียนมาเป็นคำตอบ
- การจับประเด็นจากคำตอบของผู้เรียน facilitator จะต้องคำนึงไว้เสมอว่า คำตอบนั้นไม่มีถูกหรือผิด แต่ควรพิจารณาหาสาระที่เชื่อมโยงเข้าประเด็นหลักจากคำตอบนั้น และจัดการข้อมูลเป็นชุดๆ กระชับประเด็นให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน
- การประเมินความเข้าใจของผู้เรียนเป็นระยะ โดยการสังเกต มองเห็นผู้เรียนทุกคน และตั้งคำถามที่ท้าทายเพื่อประเมินผู้เรียนระหว่างการเรียนการสอน
- การตั้งคำถามชุดใหม่เพื่อนำไปสู่เนื้อหาต่อไป การตั้งคำถามอาจไม่สามารถเตรียมมาก่อนล่วงหน้าได้ทั้งหมด แต่ facilitator จะต้องสามารถตั้งคำถามได้ทันทีทันใด หลังจากที่ฟังคำตอบของผู้เรียนแล้ว มีการตั้งคำถามที่ท้าทายเพื่อประเมินระหว่างทาง การตั้งคำถามชุดใหม่จะต้องทำแบบทันทีทันใด ต้องจัดลำดับความคิดเป็นช่วงๆ เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องกัน จุดที่ยากที่สุดคือการฟังและการจับประเด็นจากผู้เรียน โดยที่การประเมินระหว่างทางเป็นกุญแจสำคัญ เพราะต้องทำทันทีในขณะนั้นๆ
- การมีสติ facilitator จะต้องใช้สติปรับบรรยากาศการเรียนรู้ให้ผ่อนคลาย ไม่เคร่งเครียด ให้ความสำคัญกับทุกคำตอบ ไม่ชี้นำ ไม่ด่วนตัดสิน ให้กำลังใจ ยิ้มแย้ม ไม่ไหลหลุดไปกับประเด็นอื่น ไม่มีอคติว่า รัก ชัง หลง กลัว ไม่ยึดติดกับความคิดตนเอง ระวังการเขียนคำตอบของผู้เรียนเป็นคำของ facilitator เองที่ต่างจากความเข้าใจของผู้เรียน หากเขียนต่างไป ให้ facilitator ตรวจสอบว่าใช่คำตอบที่ผู้เรียนต้องการหรือไม่ โดยการถามกลับไปที่ผู้เรียนอีกครั้ง facilitator จะต้องเช็คให้ดีว่าผู้เรียนเข้าใจว่าอย่างนี้จริงไหม
- สัมพันธภาพที่ดีระหว่าง facilitator กับผู้เรียน ในลักษณะ “ใจถึงใจ” facilitator จะต้องมีการใช้ acting ใช้สายตา ใช้การเคลื่อนไหวไปให้ทั่วถึง อย่าเห็นว่าผู้เรียนเป็นแค่ Object แต่ผู้เรียนคือคนที่มีชีวิตจิตใจ ทั้งสมองและจิตใจของเขาเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เขาไม่ได้โง่กว่าเรา ส่งผลให้ห้องเรียนมีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย สบายๆ เป็นกันเอง มีมิตรภาพระหว่างกัน มีความไว้วางใจ รู้สึกเท่าๆ กัน เป็นหนึ่งเดียว หรือหัวอกเดียวกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยแวดล้อมที่ส่งผลให้การเป็น facilitator ประสบผลสำเร็จ และทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ในช่วงบ่ายเป็นการนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ในช่วงเช้ามาฝึกปฏิบัติ โดย facilitator ให้ครูแบ่งเป็น ๓ กลุ่ม คละครูอนุบาล ครูประถม และครูมัธยม แต่ละกลุ่มเลือก facilitator ทำหน้าที่นำถอดความรู้เรื่อง “ความสำเร็จในการจัดชั้นเรียน” โดยพูดในประเด็น ผู้เรียน กระบวนการ ครู และ อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จนี้ ใช้เวลาถอดความรู้ประมาณ ๔๕ นาที โดยมีคุณครูใหญ่แต่ละโรงเรียนร่วมสังเกตการณ์ในบทบาท “โค้ช” หลังจากนั้นให้สมาชิกในกลุ่มและโค้ชสะท้อนการทำหน้าที่ของ facilitator และสรุปการเรียนรู้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้ พร้อมทั้งฝากการบ้านให้ครูไปทำหน้าที่โค้ชให้ครูในทีมลุกขึ้นมาเป็นโค้ชในลีลาที่เป็น Active learning โดยมีเคล็ดลับคือ ลงมือทำ ถ่ายวิดีโอ ดูเอง มั่นใจแล้วให้เพื่อนดู และพัฒนาต่อ
ครูสะท้อนการเรียนรู้ของตน…
“ความสำเร็จเดียวกัน คือ การได้พาเด็กๆ แต่ละคนออกจากความติดขัดที่เขากำลังเผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นภาวะอารมณ์ ความรู้สึก ความไม่เข้าใจในเนื้อหาข้อมูล แม้กระทั่งภาวะทางกายภาพที่ก้าวผ่านไปได้ยาก โดยมีเครื่องมือหลักๆ คือความเชื่อว่าเด็กๆ ของเราจะพัฒนาได้ ผ่านการสังเกตเด็กเป็นรายบุคคลและใช้วิธีการที่เหมาะกับเด็กคนนั้น อีกทั้งครูก็ไม่ปล่อยผ่าน ติดตามเด็กๆ จนกระทั่งพวกเขาได้แสดง “บางสิ่งบางอย่าง” ที่ทำให้ครูรับรู้ว่า เด็กๆ ของเราได้ก้าวข้ามความติดขัดนั้นๆ แล้ว” – ครูเฟิร์น อนุบาล
“วันนี้ได้ความรู้และประโยชน์ของการตั้งคำถามในหลายมิติ ข้าพเจ้าคิดว่าคำถามย่อยได้หลายระดับ เพื่อกระตุ้นความสนใจของผู้เรียน เพื่อลำดับและให้ผู้เรียนไต่ลำดับความเข้าใจเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ผู้สอนตั้งไว้ บางคำถามอาจมีเพื่อกระชับความสัมพันธ์ และดึงบรรยากาศในห้องเรียนให้ผ่อนคลาย ทำให้ผู้เรียนรู้สึกดีและมีส่วนร่วมกับกลุ่มเรียนอย่างราบรื่น (จากแต่ก่อนคิดว่าคำถามควรเป็นคำถามเป้งๆ ชัดๆ จังๆ คำถามข้อเดียวอยู่เลย อะไรแบบนี้ ซึ่งบางครั้งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกเกร็งกับการตั้งคำถาม)” – ครูตอง ศิลปะ
“บางทีผมยังตีโจทย์ไม่แตก หรือผู้เรียนพูดสะท้อนไม่ครบ (ไม่ตรงคำถามก็มี) จึงต้องย้อนมองดูใจตนเองเป็นระยะๆ ว่าเข้าใจว่าอย่างไร…เราคาดเดาคำตอบก่อนล่วงหน้าไม่ได้เลย แต่ผมได้เรียนรู้ว่า ตรงนี้เป้าหมายคือจะเอาอะไร จึงพยายามย้อนกลับมาที่เป้าหมาย จึงทำให้วงสนทนามีทิศทางมากขึ้นตามลำดับ สิ่งที่อยากพัฒนาต่อไปคือ ๑.การฟังให้ละเอียด ๒.การจับสาระสำคัญจากการฟัง ๓.การเขียนกระดานให้เป็นหมวดหมู่” – ครูอดิเรก มัธยม