บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  ศิษย์เก่า,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

พี่สอนน้อง: การทุ่มเทเพื่อความสำเร็จของคนอื่น

“พี่สอนน้อง” โครงการดีๆ ที่ชักชวนศิษย์เก่ารุ่งอรุณ RA15 ใช้เวลาว่างช่วงรอเปิดภาคเรียนในสถาบันอุดมศึกษา มาช่วยสอนช่วยติวน้องๆ มัธยมในวิชาไอทีและชีววิทยา น้องๆ ได้เรียนรู้จากพี่ที่พูดคุยภาษาเดียวกัน  ขณะที่พี่เองก็ได้เรียนรู้และพัฒนาตนหลายด้านกับการเป็น “ครูของน้องๆ” ในครั้งนี้

พี่วิน-นายรชต พงศาชำนาญกิจ (RA15)
นักศึกษาชั้นปีที่ ๑ คณะแพทยศาสตร์ (ศิริราชพยาบาล) มหาวิทยาลัยมหิดล
วิชาที่สอน: ชีววิทยา ชั้น ม.๖ 

มาสอนได้อย่างไร?
“เทอมสุดท้ายของปีการศึกษาที่แล้ว ผมสอบเสร็จหมดแล้วเลยไปขอครูต้อย (ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ครูใหญ่ฝ่ายมัธยม) ว่าผมอยากสอนชีวะให้น้องๆ ก็เลยได้ช่วยติวให้น้องชั้น ม.๕ (ม.๖ ในปีการศึกษานี้) อยู่ ๘ สัปดาห์ หลังจากนั้นครูต้อยก็ชวนให้มาสอนในช่วงระหว่างรอเปิดเทอมในเดือนสิงหาคม ผมว่างอยู่ด้วย เลยถือโอกาสมาสอนน้องๆ”

สอนอะไร สอนอย่างไร?
“ผมยึดตามน้องเป็นหลัก น้องอยากเรียนเรื่องไหน อาจเป็นเรื่องที่น้องไม่เคยเรียนหรือเรียนแล้วไม่เข้าใจ จะคุยกับน้องก่อนแล้วเตรียมการสอนเป็นรายสัปดาห์ไป วางแผนการสอนสัปดาห์ต่อสัปดาห์ สอน เป็นเชิงเลกเชอร์ แล้วมีแบบฝึกหัดให้ทำ เน้นพวกข้อสอบเก่า น้องคนไหนเข้าใจก็ทำแบบฝึกหัดไป คนไหนไม่เข้าใจผมก็อธิบายเพิ่ม สอนเสร็จผมจะถามน้องทุกครั้งว่าเข้าใจไหม มีใครไม่เข้าใจให้ถาม คือบอกกันก่อนตั้งแต่ต้นแล้วว่าถ้าไม่เข้าใจให้ถาม อยากให้ถาม ซึ่งโชคดีว่าเป็นรุ่นใกล้ๆ กัน น้องเขาเลยกล้าถาม” 

เป็นครูใหม่ เจอปัญหาอะไรไหม?
“มันก็ไม่ใช่ปัญหาหรอก คือน้องแต่ละคนมีพื้นฐานความรู้ไม่เท่ากัน แล้ววิธีเรียนของผมคือไม่จดในห้อง แต่ฟังให้เข้าใจ แล้วค่อยไปจดทีหลัง ผมก็บอกน้องว่าไม่ได้ให้คะแนนสมุดจดนะ ไม่อยากให้น้องโฟกัสไปที่การจด เพราะจะไม่ได้ฟัง ก็บอกน้องว่าอย่าเพิ่งจด แต่น้องบางคนเขาไม่แม่น ก็รู้สึกเป็นปัญหา สุดท้ายผมเลยบอกว่าแบบไหนก็ได้ แต่พอเรียนเสร็จเราจะสรุปความรู้กัน ก็ให้น้องเขียนสรุปความรู้ ซึ่งผมจะดูตรงนี้เป็นหลัก”

“น้องๆ ตั้งใจเรียนดีนะครับ น้อง ม.๖ แล้ว เขามาเรียนเพราะอยากรู้ ถ้าเขาไม่ตั้งใจ มันก็เป็นโทษกับเขาเอง คือพอ ม.๖ แล้ว คะแนนมันไม่ค่อยสำคัญแล้ว แต่เป็นเรื่องความรู้มากกว่า ใครทำใครก็ได้ ม.๖ แล้ว น้องเขาต้องรู้ตัวเอง แล้วเราอายุใกล้ๆ กัน คุยกันเข้าใจง่าย” 

วางเป้าหมายการสอนไว้อย่างไร?
“อยากให้น้องสอบได้คณะที่เขาต้องการ เรียนแล้วเข้าใจว่าสิ่งที่เรียนมีประโยชน์กับชีวิตเขาอย่างไร เหมือนที่อาจารย์ประภาภัทรให้โอวาทตอนงานปัจฉิมนิเทศครับ คือคาดหวังให้น้องเข้าใจว่าเรื่องที่เรียนไปมันสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร เพราะพอพูดถึงชีวะ คนจะคิดว่าเป็นวิชาที่ต้องจำล้วนๆ แต่ผมคิดว่าบางอันจำเป็นต้องจำก็จำ แต่บางเรื่องผมจะสอนแนวคิด (Concept) ให้น้องเข้าใจว่าเรื่องนั้นๆ สำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องกับชีวิตอย่างไร

ได้เรียนรู้อะไรจากการเป็นครูในครั้งนี้?
“ได้พัฒนาทักษะการอธิบายสิ่งที่เราเข้าใจให้คนที่ทั้งเข้าใจ ไม่เข้าใจ หรือไม่รู้เรื่องนี้มาก่อน ให้เขาเข้าใจให้ได้ แล้วก็ความทุ่มเท พอมาสอนเองถึงได้รู้ว่าการเป็นครูต้องยอมเหนื่อย ต้องทุ่มเท ผมทำชีทแบบฝึกหัดสัปดาห์ต่อสัปดาห์ ซึ่งมันก็ทำทันนะ แต่ต้องทุ่มเทมาก เป็นความทุ่มเทที่เราเต็มใจทำเพื่อน้องๆ เป็นความทุ่มเทเพื่อความสำเร็จของคนอื่น