บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

“ศรัทธาในตัวเอง ศรัทธาในสิ่งที่ทำ” ปัจจัยความสำเร็จ รร.วิถีพุทธ

“ความเป็นวิถีพุทธควรจะทำให้อยู่ได้ด้วยสติปัญญาบนฐานของความรู้ รู้ทั้งทางโลกและทางธรรม”
– รศ.ประภาภัทร นิยม

วันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๖๐  ดร.บรรเจอดพร สู่แสนสุข รอง ผอ.สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา สพฐ.กระทรวงศึกษาธิการ นำคณะผู้แทนโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานรุ่นที่ ๒ จำนวน ๓๔ โรงเรียน มาร่วมเรียนรู้ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนวิถีพุทธจากโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนวิถีพุทธพระราชทานรุ่นที่ ๑ คือ โรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) และโรงเรียนบ้านคลองมะนาว เพื่อจุดประกายแรงบันดาลใจในการบริหารจัดการโรงเรียนและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนตามหลักพุทธธรรม อันได้แก่ ความพร้อมของปัจจัยภายในตัวผู้เรียนที่เรียกว่า “โยนิโสมนสิการ” กับปัจจัยภายนอก “ปรโตโฆษะ หรือ กัลยาณมิตร” ที่จะก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่พัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมทั้งด้านกาย ศีล (สังคม) จิตและปัญญา โดยอาศัยหลักการฝึกอบรมที่เรียกว่า “ไตรสิกขา” ได้แก่ ศีลสิกขา จิตสิกขา และปัญญาสิกขา บูรณาการในการเรียนการสอนทุกสาระวิชาและกิจกรรม สู่การบรรลุเป้าหมายของโรงเรียนวิถีพุทธ คือ การสร้างคนดีที่มีปัญญา

ความมุ่งมั่นของบุคลากรคือปัจจัยความสำเร็จของรุ่งอรุณ
รศ.ประภาภัทร นิยม อธิการบดีสถาบันอาศรมศิลป์และผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวถึงปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนรุ่งอรุณว่าคือ ความมุ่งมั่นของบุคลากรที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ครูใหม่จะได้รับการอบรมส่งต่ออุดมการณ์และรับรู้เป้าหมายของโรงเรียนจากครูใหญ่และครูเก่าอยู่เสมอ ผ่านเวทีการแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง โดย รศ.ประภาภัทรจะประชุมกับครูใหญ่ทั้งสามโรงเรียนอยู่เป็นประจำ ทำหน้าที่ใส่ไฟไม่ให้มอด ให้โจทย์ท้าทาย ให้ทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นโจทย์ร่วมของทุกคน

จากครูใหญ่ไปสู่ครูในแต่ละระดับชั้น โดยมีเวทีการประชุมเป็นประจำสัปดาห์ละครั้ง/ระดับชั้น คือ After Action Review (AAR) และ Before Action Review (BAR) ที่จัดอยู่ในชั่วโมงการทำงาน โดยให้ครูทบทวนการจัดการเรียนการสอนทั้งในด้านความสำเร็จและความล้มเหลว เพื่อนครูช่วยเสนอแนะตามประสบการณ์ของแต่ละคน หรือครูคนไหนยังมองไม่ออก ให้ถ่ายวิดีโอการจัดการเรียนการสอนแล้วเอามาดูจะเห็นปัญหาได้เอง BAR คือการวางแผนการสอนครั้งต่อไปที่ต้องสอนให้ครบทั้ง ๓ ด้าน คือ ความรู้ ทักษะ คุณค่า เป็นการพัฒนาครูไปบนงานที่ทำ ซึ่งเวที AAR และ BAR นี้จะสร้างชุมชนผู้เชี่ยวชาญด้านการเรียนรู้ Professional Learning Community (PLC) คือชุมแห่งการเรียนรู้ที่เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ซึ่งการเป็นโรงเรียนวิถีพุทธนั้นเอื้อให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ง่าย เพราะเราจะรู้จักฟัง ไม่โทษคนอื่น แต่จะหันมาดูตัวเราเอง ฟังด้วยความเข้าใจ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ด้วยความรู้สึกอยากช่วย ซึ่งโรงเรียนต้องติดตั้งระบบนี้เข้าไปโดยมีตารางการทำงาน/การประชุมชัดเจน

หลักการบริหารวิถีพุทธ
ช่วงหนึ่งคณะผู้เยี่ยมชมถามถึงหลักการบริหารวิถีพุทธ รศ.ประภาภัทร อธิบายว่าวิถีพุทธใช้หลักการสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่
๑.ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คือมรรคมีองค์แปด นำมากำหนดเป็นเป้าหมายการศึกษาของโรงเรียน คือ เรียนแล้วต้องไปถึงสัมมาทิฐิในเรื่องนั้นๆ
๒.กัลยาณมิตรและโยนิโสมนสิการ เป็นปฏิปทาของการเรียน เริ่มจากกัลยาณมิตร แล้วให้กัลยาณมิตรมีบุคลิกของผู้ที่รู้จักคิดใคร่ครวญแบบโยนิโสมนสิการ โดยต้องถ่ายทอดเข้าไปในกระบวนการเรียนรู้ คือสอนให้ผู้เรียนรู้จักคิดใคร่ครวญในสิ่งที่ตัวเองเห็น เป็น Inquiry based learning ครูผู้เป็นกัลยาณมิตรไม่เพียงเป็นครูที่ใจดี แต่เป็นครูที่เข้าใจกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างชัดเจน และสามารถเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของผู้เรียนได้
๓.สติปัฏฐาน ๔ การปฏิบัติเจริญสติ ครูทุกคนต้องไปปฏิบัติธรรมเพื่อเข้าใจตนเอง รู้กาย รู้ใจ ดูแลตนเองเป็น ซึ่งไม่ใช่เฉพาะครู แต่รวมถึงผู้บริหาร ครูใหญ่ ครู บุคลากร นักเรียน และผู้ปกครอง นำไปสู่การเป็นชุมชนแห่งการปฏิบัติภาวนา

อยากให้ครูและนักเรียนเปลี่ยน ผู้บริหารต้องเปลี่ยนก่อน
รร.บ้านคลองมะนาว อ.คลองใหญ่ จ.ตราด
โรงเรียนบ้านคลองมะนาวเป็นหนึ่งในโรงเรียนต้นแบบในโครงการวิจัย “การปฏิรูปโรงเรียนวิถีพุทธเป็นฐานไปสู่ความเป็นชุมชนบวร” โดยผู้อำนวยการโรงเรียนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนครูผู้สอนเปลี่ยนจากการสอนแยกรายวิชาและแยกส่วนกับชุมชน มาเป็นการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่คุณค่าที่เชื่อมโยงกับชีวิตจริงของผู้เรียนและบริบทของชุมชน ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงมากขึ้น ตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติ ชุมชนและภูมิปัญญาท้องถิ่น  ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ จนเกิดความภาคภูมิใจและมองเห็นคุณค่าของตน ทั้งยังติดตั้งระบบ AAR เพื่อพัฒนาครู โดยผู้อำนวยการทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ (Facilitator) บนเป้าหมายเดียวกัน คือการพัฒนาผู้เรียนไปสู่คุณค่าของสิ่งที่เรียน

 ผอ.กัญชพร ปานเพ็ชร ผอ.รร.บ้านคลองมะนาว กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ครูเปลี่ยน คือ ผอ.ต้องเปลี่ยนก่อน เปลี่ยนมาเปิดใจรับฟังครู และสื่อสารกันอย่างเป็นกัลยาณมิตร เปิดวง AAR ให้ครูสะท้อนตนเอง สะท้อนซึ่งกันและกัน ค่อยๆ เปิดใจรับฟังกัน ทำให้ครูเริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเอง กล้าเปิดห้องเรียนสู่ชุมชน พานักเรียนไปเรียนรู้ในชุมชน ส่งผลให้ครูสอนอย่างมีความสุข นักเรียนมีความสุขกับการเรียนรู้ในสิ่งที่อยากเรียน และสามารถบอกกล่าวความรู้ได้เอง

ศรัทธาในตัวเอง ศรัทธาในสิ่งที่ทำ
รร.วัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี
โรงเรียนวัดบ้านนา (ฟินวิทยาคม) เป็นโรงเรียนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการวิจัยฯ อย่างต่อเนื่อง เข้มแข็ง และขับเคลื่อนร่วมกันทั้งโรงเรียน (Whole school development) โดยผู้อำนวยการเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาแบบบูรณาการสู่คุณค่า แล้ว “ทำให้ดู อยู่ให้เห็น เย็นให้สัมผัส” นำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทำแผนการสอนที่ไปสู่คุณค่า การจัดครูไปร่วมสังเกตการณ์การสอนในชั้นเรียน และการประชุม AAR หลังการสอน ในทุกระดับชั้นและเกือบทุกวิชาอย่างสม่ำเสมอ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวครูที่ลุกขึ้นมาเขียนแผนการสอนที่บูรณาการสู่คุณค่าด้วยตนเอง เด็กเรียนรู้อย่างมีความสุข ครูเองก็สอนอย่างมีความสุขเพราะครูเห็นคุณค่าในตัวเอง

ครูศิรัศม์ ปั้นน้อย ครูวิชาวิทยาศาสตร์ ตัวแทน รร.วัดบ้านนา เล่าว่าตนเป็นครูมา ๘ ปี ไม่เคยเขียนแผนการสอน เรียกว่าเป็นครูที่ดื้อที่สุดในโรงเรียน เพราะไม่เห็นคุณค่าของการเขียนแผนและมองว่าเป็นงานยาก แต่เมื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยและได้มาดูงานที่รุ่งอรุณ มีคณะนักวิจัยจากรุ่งอรุณไปสังเกตการณ์การสอนและให้คำแนะนำถึงที่โรงเรียนอย่างเป็นกัลยาณมิตร ทำให้ครูศิรัศม์เข้าใจถึงความสำคัญของการจัดการเรียนรู้ที่ต้องนำนักเรียนไปถึงคุณค่าของสิ่งที่เรียน จึงเกิดแรงบันดาลใจที่จะเขียนแผนการสอนด้วยตนเอง โดยมีทีมครูที่โรงเรียนช่วยเหลือสนับสนุน การทำงานร่วมกันของครูในวงประชุม AAR และ BAR ที่ได้ทบทวนการสอนของตน ทบทวนแผน มีครูคนอื่นช่วยมอง นำไปสู่การพัฒนาแผนการสอนให้ดียิ่งขึ้น

“ถ้าเราศรัทธาในตัวเอง ศรัทธาในสิ่งที่ทำ เราจะลงมือทำโดยไม่ต้องมีใครมาบอก” ครูศิรัศม์ ปั้นน้อย

ถอดบทเรียน: ปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนวิถีพุทธ
คณะผู้เยี่ยมชมได้ร่วมกันถอดบทเรียนถึงปัจจัยความสำเร็จของโรงเรียนวิถีพุทธจากตัวอย่างโรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนวัดบ้านนา และโรงเรียนบ้านคลองมะนาว โดยพบปัจจัยสำคัญดังนี้

  • ศรัทธาในตนเอง ศรัทธาในสิ่งที่ทำ
  • ผู้บริหารเปิดใจ พาปฏิบัติ เป็นแบบอย่าง
  • ครูเปิดใจ มองเป้าหมายเดียวกัน คือ มุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เต็มคน
  • ครูออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
  • การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ สม่ำเสมอ และยั่งยืน ที่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอน (AAR, BAR, PLC)
  • ผู้บริหาร ครู นักเรียน และผู้ปกครอง เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน

จุดประกายแรงบันดาลใจ สิ่งที่จะไปทำต่อ…
“จะกลับไปสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คุณครูในการที่จะปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยต้องระเบิดจากข้างใน” นายสุรัตน์ มุ่งอิงกลาง ผอ.โรงเรียนบ้านกระถินหนองเครือชุด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา

“ครูหลายๆ ท่านยังกังวลเรื่องของหลักสูตร เรื่องตัวชี้วัด จะสอนได้ครบไหม แต่วันนี้ได้เห็นแนวทางว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย เด็กเรียนรู้เพียงแค่ ๑ จุดประสงค์ ๑ เรื่อง เขาสามารถที่จะเรียนรู้สิ่งอื่นได้ตลอด คิดว่าเราต้องไปสร้างความรู้ความเข้าใจกับครู จะทำอย่างไรให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต” นายภานุมาศ สุวรรณมาโจ ผอ.โรงเรียนโคกสว่างประชาสรรค์ อ.ปลาปาก จ.นครพนม

“หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงคือครู การจะทำให้ครูเข้าใจในเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากพอสมควร คิดว่าเราต้องสร้างทีมงาน นำทีมงานมาดูงานที่นี่ แล้วนำทีมงานไปสู่การปฏิบัติที่โรงเรียนตั้งแต่อนุบาลจนถึง ม.ปลาย” นายสิทธิพน แก่นเมือง ผอ.โรงเรียนบ้านหนองบัว อ.ท่าสองยาง จ.ตาก

“เราต้องสร้างความเข้าใจกับครูก่อนเป็นลำดับแรก สร้างความตระหนัก แล้วก็พยายามหาตัวอย่างที่ดีให้กับคุณครู พามาให้เห็นตัวอย่าง แล้วก็อยู่ช่วยคุณครูทำค่ะ” นางสุรีรัตน์ วารีนิล ผอ.โรงเรียนวัดสีดาราม อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

“อันดับแรกที่จะนำความรู้วันนี้ไปต่อยอดก็คือ หนึ่ง ประมวลผลภาพรวมตรงกันว่า โรงเรียนของเรามีจุดแข็งอะไร จุดอ่อนอยู่ตรงไหน เมื่อทราบตรงกันแล้ว ผู้บริหารต้องนำ เป็นต้นแบบ สอง ความสำเร็จทั้งหมดจะมาจากกระบวนการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน  เพราะฉะนั้นกระบวนการที่เดินต่อไป คือ การติดตั้งนวัตกรรมเทคนิค AAR” คุณสุทินี  กรินทรากุล ศึกษานิเทศก์ โรงเรียนอนุบาลชุมชนบางบ่อ (ศุภพิพัฒน์รังสรรค์) อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ