Art Fair : Art Share สื่อสารผ่านงานศิลปะ
โครงงานศิลปะ (Art Project) ของนักเรียนชั้นมัธยมปลายในเทอม ๒/๒๕๖๐ นี้ ครูศิลปะให้นักเรียนสำรวจตัวเอง “สนใจเรื่องอะไร” “มีเครื่องมืออะไร” แล้วสื่อสารความสนใจหรือความถนัดของตนออกมาผ่านชิ้นงานศิลปะ ตามแนวคิดของงานอาร์ตแฟร์ Art Fair: ART SHARE ที่จะจัดขึ้นปลายภาคเรียนนี้ เมื่อคิดแล้วก็นำเสนอแนวคิดกับทีมครูศิลปะที่มาช่วยฟัง ช่วยถาม ช่วยมอง ช่วยชี้แนะ ให้นักเรียนมองเห็นเส้นทางการทำงานของตัวเองชัดขึ้น สามารถวางแผนการทำงาน แล้วลงมือทำงานตามที่แต่ละคนคิดไว้ จะได้รู้ว่าทำแล้วเป็นอย่างที่คิดไว้ไหม ถ้าไม่เป็นไปตามแผน จะแก้ปัญหาอย่างไร หรือแม้แต่เป็นไปตามที่คิดไว้ แล้วจะทำอะไรต่อ จะพัฒนางานไปในทิศทางไหนที่จะตอบโจทย์หรือเนื้อหา (Content) ที่ตั้งไว้
หลังจากนักเรียนทำงานกันมาได้ระยะหนึ่ง ในสัปดาห์ที่ ๔ คุณครูศิลปะได้เชิญสองศิลปินตัวจริง คุณทรัมป์-รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา เซรามิกดีไซเนอร์ และคุณเป๋-ธนวัต มณีนาวา ดีไซเนอร์ที่นำข้าวของเหลือใช้รอบตัวมาสร้างสรรค์เป็นชิ้นงานภายใต้แบรนด์ “ทำดะ TAM:DA” (https://www.facebook.com/TamdaDesign) มาบอกเล่าประสบการณ์การทำงานของตนเอง ให้นักเรียนได้เห็นวิธีคิด กระบวนการทำงาน และการพัฒนางาน เป็นการเรียนผ่านประสบการณ์จริงของศิลปินที่นักเรียนสามารถเชื่อมโยงกับการทำงานของตนเองได้
ศิลปิน Fine art อย่างคุณทรัมป์มองว่า งานศิลปะ (Art) เกิดจากแรงภายในของศิลปิน ส่วนงานออกแบบ (Design) เกิดจากแรงภายนอก เช่น โจทย์จากลูกค้า ความต้องการแก้ปัญหาบางอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ งานศิลปะและงานออกแบบล้วนแล้วแต่เป็นงานสื่อสาร สื่อสารกับผู้คน สื่อสารกับสังคม ซึ่งการทำงานศิลปะของตนนั้นมีจุดเริ่มต้นจาก “เนื้อหา (Content)” คือความคิดและความรู้สึกที่อยากจะสื่อสารออกไป ซึ่งในมุมมองของตนแล้ว “เนื้อหา” เป็นสิ่งสำคัญมากในการทำงานศิลปะ
“เราทำงานอะไร ไม่สำคัญเท่ากับว่า เราสนใจเรื่องอะไร แล้วเราสนใจมันมากพอหรือยัง” – คุณทรัมป์-รักษิต ปัญญาเลิศลักขณา
ขณะที่คุณเป๋ ธนวัต เล่าถึงงานออกแบบของตนว่ามี ๒ ลักษณะ คือ งานที่เกิดจาก “ความสนุก” และ “มุมมอง” ที่มีต่อสิ่งของหรือวัสดุที่พบเห็น พลิกเปลี่ยนมุมมอง สนุกกับการเล่นกับวัสดุ แล้วลงมือทำ และงานได้รับโจทย์มา แล้วไปหาของมาทำเพื่อตอบโจทย์ แต่ไม่ว่าจะเป็นงานลักษณะใด สิ่งสำคัญคือ “ต้องลงมือทำ”
“คิดแล้วทำ ทำแล้วไม่ต้องสำเร็จทุกอย่าง ทำแล้วพังก็ได้ แต่เราจะรู้ว่าพังเพราะอะไร เรายังไม่รู้อะไร เวลาไม่รู้เราต้องไปหาความรู้ ไปศึกษาหรือคุยกับคนที่รู้ เพื่อมาพัฒนางานของเรา” – คุณเป๋-ธนวัต
หลังจากฟังศิลปินเล่างานของตัวเองแล้ว นักเรียนแต่ละคนก็ผลัดกันออกมาบอกเล่างาน หรือ Art Project ของตนบ้าง โดยวิทยากรและคุณครูช่วยกันซักถาม แนะนำ ชวนคิดชวนมอง เช่น การลงรายละเอียดเนื้อหาให้ลึกและชัดขึ้น การพลิกมุมมอง การท้าทายให้ก้าวออกจาก comfort zone ไปทำงานที่ท้าทายมากขึ้น การทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ซึ่งเป็นมุมมองที่นักเรียนสามารถหยิบจับไปพัฒนางานของตนให้มีคุณค่าและน่าสนใจยิ่งขึ้น
โรงเรียนรุ่งอรุณขอขอบคุณศิลปินทั้งสองท่านที่สละเวลามาบอกเล่าประสบการณ์ พูดคุยและช่วยชี้แนะนักเรียนในครั้งนี้ รอติดตามชมผลงานของนักเรียนในงาน Art Fair: ART SHARE ปลายภาคเรียนนี้