รุ่งอรุณ-อาศรมศิลป์นำเสนอ Holistic Education ณ Southern Oregon University
เมื่อวันที่ 14 – 17 กันยายน พ.ศ. 2560 คณาจารย์และศิษย์เก่าจากโรงเรียนรุ่งอรุณและสถาบันอาศรมศิลป์ได้เข้าร่วมงาน “Holistic Education in Learning and Teaching Conference” ณ Southern Oregon University เมือง Ashland รัฐ Oregon ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมนำเสนอการเรียนรู้แบบบูรณาการและการจัดการศึกษาแบบองค์รวมกับตัวแทนจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก
กิจกรรมในวันแรก – คณะอาจารย์จาก Southern Oregon University ได้เชิญคณะตัวแทนให้เข้าเยี่ยมชม Ashland High School ซึ่งเป็นโรงเรียนรัฐบาลในย่านชุมชนของมหาวิทยาลัย มีลักษณะของการเรียนรู้แบบองค์รวม เปิดโอกาสให้นักเรียนได้ลงมือทำในกิจกรรมที่สนใจ เช่น การออกแบบเครื่องประดับ ยานยนต์ คหกรรม และนำไปประกอบวิชาชีพได้จริง หรือมีหลายวิชาที่เอื้อให้เก็บเป็นหน่วยกิตสำหรับมหาวิทยาลัย
กิจกรรมในวันที่ 15 และ 16 แบ่งเป็นการประชุมย่อยให้วิทยากรนำเสนอวิธีการเรียนรู้หรือโครงงานที่พัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม แบ่งเป็น ๖ ห้อง แล้วผู้ฟังเลือกเข้าร่วมในกิจกรรมที่ตรงตามความสนใจของตนเอง ขณะที่คุณครูและศิษย์เก่ารุ่งอรุณ ประกอบด้วย ครูสุนิสา ชื่นเจริญสุข ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ครูเปรมปรีติ หาญทนงค์ นายชญณัฐ ศุภทรงกลด (ศิษย์เก่า) และนางสาววรัศมิ์ พิทักษ์วรรัตน์ (ศิษย์เก่า) นำเสนอในรอบ Roundtable session ที่แบ่งกลุ่มผู้ฟังเป็นโต๊ะย่อยๆ 9 โต๊ะ แล้วเลือกฟังตามความสนใจในวิทยากรประจำโต๊ะนั้นๆ โดยคณะตัวแทนจากรุ่งอรุณนำเสนอในหัวข้อดังนี้
- ครูสุนิสา – โครงงานวิจัยปฏิรูปโรงเรียนวิถีพุทธฯ
- ครูสุวรรณา – การจัดการศึกษาแบบองค์รวมของโรงเรียนรุ่งอรุณ
- ครูเปรมปรีติ นางสาววรัศมิ์ และนายชญณัฐ – โครงงานการศึกษานิเวศเฉพาะและภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน กรณีศึกษาชุมชนแหลมหิน-บ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่ โดยนักเรียนชั้น ม.6 สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษเพื่อสังคม ปีการศึกษา 2558 โรงเรียนรุ่งอรุณ
นายชญณัฐ หรือบี ศิษย์เก่ารุ่นที่ 14 กล่าวถึงการเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ว่า ทำให้ตนเห็นภาพของการศึกษาในมุมมองที่กว้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเป้าหมายของการศึกษาที่แตกต่างกันออกไป ปัญหาการศึกษาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ และได้เห็นถึงวิธีการที่นักการศึกษาจากหลายประเทศนำแนวคิด Holistic Education ไปปรับใช้ในบริบทของตน
“ผมรู้สึกว่างานนี้ไม่ได้จัดขึ้นเพื่อให้ใครคนใดคนหนึ่งขึ้นมาสอนคนอื่น แต่เป็นการเข้ามาเรียนรู้แลกเปลี่ยนและแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดเป็นชุมชนแห่งการเรียนรู้ขนาดย่อมๆ เมื่อกลับมาเมืองไทย ผมรู้สึกว่าผมมีมุมมองต่อเรื่องราวต่างๆ ในแวดวงการศึกษาต่างออกไป จากที่เคยมองหาปัญหา และกล่าวโทษระบบและความบกพร่องในการทำงานของรัฐ เปลี่ยนเป็นมองหาและสนับสนุนความเข้มแข็งและศักยภาพของสิ่งที่ประเทศเรามีอยู่และทำได้ดี”
ส่วนนางสาววรัศมิ์ พิทักษ์วรรัตน์ ศิษย์เก่ารุ่นที่ 14 กล่าวว่า งานสัมมนาในครั้งนี้ไม่ใช่งานที่ให้ผู้ฟังเป็นผู้รับอย่างเดียว แต่พร้อมให้ทุกคนตั้งคำถามและแสดงความคิดเห็นต่อการเรียนรู้แบบ Holistic Education งานประกอบไปด้วยนักการศึกษาจากหลายประเทศ หลายทวีป ทำให้ได้เรียนรู้จากความแตกต่างนั้น ได้รู้ทั้งข้อดีและข้อด้อยของการศึกษาแต่ละแบบ และยังได้แชร์ถึงวิธีแก้ไขที่เป็นไปได้ รวมถึงได้เห็นมิติใหม่ของการเรียนรู้ วิทยากรหลายท่านมีวิชาการสอนเฉพาะตัว มีสื่อการสอนหลายอย่างที่ให้ปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ เช่น Aikido, Color polarities, Poem
“จากที่คิดว่ากลับไปน่าจะได้รับคำตอบจากสิ่งที่สงสัย กลับได้คำถามกลับไปมากกว่า ว่าสิ่งที่ที่เรากำลังทำอยู่คืออะไร เรากำลังเรียนรู้อะไร และสังคมกำลังเผชิญกับอะไรบ้าง การเรียนของเราจะช่วยจัดการปัญหาเหล่านั้นไหม ซึ่งคงไม่มีใครให้คำตอบเราได้นอกจากเราต้องลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเราเอง”
:: เรื่องและภาพโดย นางสาววรัศมิ์ พิทักษ์วรรัตน์ (หนูดี) และนายชญณัฐ ศุภทรงกลด (บี) ศิษย์เก่ารุ่งอรุณรุ่นที่ 14