บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

บทสนทนาวันครูระหว่าง The Cloud และ รศ.ประภาภัทร นิยม

ครูของครู
ความคิดของครูผู้เชื่อในธรรมชาติ การสอนแบบพระพุทธเจ้า และศักยภาพในเด็กทุกคน
เรื่อง : ทรงกลด บางยี่ขัน
ภาพ: ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข
บทสัมภาษณ์เนื่องในวันครู ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๑
ที่มา:: The Cloud

รศ.ประภาภัทร นิยม เป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณ

โรงเรียนทางเลือกที่กำลังจะมีอายุครบ 20 ปีแห่งนี้ ได้ชื่อว่าเป็นโรงเรียนทางเลือกที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ทั้งเรื่องบรรยากาศของโรงเรียนที่เหมือนบ้านกลางป่า รูปแบบการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตัวเองตั้งแต่อนุบาลจนถึงมัธยมปลาย ในแต่ละชั้นปีมีธีมหลักที่ทุกวิชามุ่งเข้าหาสิ่งนั้น เช่น เรื่องข้าว เรื่องน้ำ เรื่องกรุงเทพฯ

ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องเป็นโรงเรียนสร้างครูชั้นยอด และอาจารย์ประภาภัทรก็เปรียบได้กับ

ครูของครู

ถ้าเราไม่ใช่นักการศึกษา เราน่าจะตื่นเต้นกับการให้เด็กทำอาหารเที่ยงกินเอง เด็กประถมต้นว่ายน้ำและพายเรือได้ ประถมปลายปลูกข้าวได้ มัธยมต้นออกแบบเก้าอี้และทำเก้าอี้ไม้ทรงประหลาดด้วยตัวเองได้ การสอนวิชาสังคมด้วยการพาเด็กไปอยู่กับชาวเขา ชาวประมง และให้ทำวิดีโอสารคดีส่งเป็นเรื่องปกติ

ทั้งโรงเรียนแยกขยะจนไม่เหลือขยะสักชิ้น เป็น zero waste อย่างแท้จริง ขยะทุกชิ้นจะถูกแยกแบบละเอียดยิบ แพ็กเกจใส่อาหารที่เปื้อนจะถูกล้างและผึ่งให้แห้ง ปากกาหนึ่งด้ามถูกแยกปลอก ด้าม ไส้ และสปริง ออกจากกัน กระดาษเอกสารต้องแยกกระดาษกับลวดเย็บออกจากกัน ทุกคนในโรงเรียนต้องแยกขยะแบบนี้ ถ้าเด็กคนไหนเอาไปทำต่อที่บ้าน แล้วผู้ปกครองไม่รู้จะจัดการกับขยะที่แยกยังไง ก็เอามาส่งให้โรงเรียนจัดการต่อได้

ถ้าใครบอกว่าเมืองไทยแยกขยะไม่ได้ หรือแยกไปเขาก็เอาไปเทรวมกัน ต้องมาดูงานที่นี่

ศิษย์เก่าของโรงเรียนรุ่งอรุณที่ The Cloud เคยสัมภาษณ์ไปแล้วคือ เอิ๊ต ภัทรวีเฌอปราง BNK48 แล้วก็ยังมีคนอื่นๆ อีก เช่น นายแบบอินดี้อย่าง ทู สิราษฎร์

กลับมาทำความรู้จักผู้ก่อตั้งเพิ่มเติมอีกสักนิด

อาจารย์ประภาภัทรเริ่มต้นชีวิตครูจากการเป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เมื่อมีประสบการณ์สอนลูกที่มีอาการคล้ายออทิสติก ก็พบว่าหลักสูตรการศึกษาที่มีในเมืองไทยไม่ได้ตอบโจทย์ผู้เรียนทุกคน และเด็กทุกคนมีศักยภาพที่จะเรียนรู้ได้ ถ้าได้รับกระบวนการสอนที่เหมาะสม

อาจารย์จึงก่อตั้งโรงเรียนรุ่งอรุณเมื่อ 20 ปีก่อน
จากนั้นก็เปิดมหาวิทยาลัยอาศรมศิลป์เมื่อ 10 ปีที่แล้ว
และนี่คือบทสนทนาระหว่างเรากับประภาภัทร ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นครูของครู
ในมุมมองของครู ครูคือใคร
ครูเป็นผู้บอกกล่าวจากภายนอก เป็นเสียงจากภายนอก ธรรมชาติก็เป็นครูได้

การมองแบบนี้ต่างจากมองว่าครูคือผู้สอนยังไง
ทำให้คนเรียนมีโอกาสใช้ศักยภาพในการเรียนรู้ของตัวเองมากขึ้น เพราะเขาจะไม่จำกัดตัวเองว่าต้องรอฟังจากใครคนใดคนหนึ่งคนเดียว หรือวิธีเดียว แล้วเสียงจากภายนอกก็ต้องคู่กับเครื่องรับข้างใน ซึ่งมีหลายเครื่อง แต่ที่สำคัญที่สุดคือ การรู้จักคิดอย่างแยบคาย บางคนนั่งมองบึง มองต้นไม้ ก็รู้อะไรขึ้นมาได้ ไม่ต้องบอกกล่าวด้วยคำพูด แสดงว่าเขามีความสามารถข้างในในการอ่านสิ่งต่างๆ ให้ออก นี่คือปัจจัยข้างใน ปัจจัยข้างนอกคือครู ถ้าสองสิ่งนี้ผสมกันเมื่อไหร่ การเรียนรู้ก็เกิด

รู้เมื่อไหร่ว่ามีความเป็นครูในตัวเอง
ตอนสอนที่จุฬาฯ มั้ง เราอยากถ่ายทอดอะไรบางอย่างที่เรามีอยู่ มีความตั้งใจ มีฉันทะที่จะทำ ทำแล้วก็พอใจ อยากทำให้ดี อยากให้ผู้เรียนไปได้ไกลกว่าข้อจำกัดของเขา

สมัยสอนที่่คณะสถาปัตย์ อาจารย์สอนต่างจากอาจารย์ทั่วไปไหม
คณะสถาปัตย์สอนต่างอยู่แล้ว นักเรียนไม่ได้เป็นผู้ฟังอย่างเดียว เขาต้องลงมือทำ ต้องใช้ความสามารถของตัวเองค่อนข้างเยอะ เวลาสอนเราไม่ค่อยบอกผู้เรียน แต่ชอบตั้งคำถามไปเรื่อยๆ กระตุ้นให้เขาคิด เอาตัวอย่างมาให้ดู แล้วชวนตั้งคำถาม

ดีกว่าการเลกเชอร์ยังไง
คนเรามีธรรมชาติที่จะรับความรู้ที่เป็นก้อนๆ อยู่บ้าง ถ้าเป็นก้อนสำเร็จรูปจากคนอื่น เป็นความรู้ของคนอื่น เราไม่ค่อยกิน กินก็ไม่ค่อยย่อย แต่ถ้าเป็นสิ่งที่เราพยายามเรียนรู้ด้วยตัวเอง เป็นความรู้มือหนึ่งของเรา เราจะอือๆๆ กับมัน นั่นคือธรรมชาติของเรา การส่งมอบความรู้สำเร็จรูปให้อาจจะเป็นบทบาทหนึ่งของครู แต่ไม่ใช่ทั้งหมด เพราะการให้ผู้เรียนเรียนรู้จากสูตรสำเร็จรูปมีประสิทธิภาพน้อยมาก หลังๆ ถึงมีทฤษฎีเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ ด้วยการแลกเปลี่ยนความเห็น การสร้างความรู้ต้องเอาความรู้ออกมาประลองกัน ด้วยการพูดคุยกัน หรือการเอามาทดสอบว่าใช่หรือไม่ใช่ เป็นความรู้ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้สิ่งที่เรามีอยู่ อาจารย์เรียกว่า ขาออก การให้นักเรียนนั่งเรียนแล้วครูก็ใส่ๆๆ เข้ามา นั่นคือขาเข้า ประสิทธิภาพการเรียนรู้จะต่ำ ครูต้องตระหนักว่า บทบาทของครูไม่ใช่แค่เมสเซนเจอร์ที่เอาความรู้สำเร็จรูปมาให้ ต้องมีความรู้ขาออกด้วย

การทำข้อสอบถือเป็นขาออกไหม
เป็นขาออกที่ไม่เต็มใจ เขาไม่ได้อยากจะประลองด้วยวิธีนี้

ตอนสอนมหาวิทยาลัย อาจารย์ดุมาก ทำไมถึงดุขนาดนั้น
บางทีคนเราก็ไม่รู้ตัวนะ เราอยากเห็นนักเรียนประสบผลสำเร็จ เคี่ยวเข็ญตัวเองไม่พอ ไปเคี่ยวเข็ญคนอื่นด้วย เป็นสิ่งที่ไม่ดี ไม่ควรทำ

แต่ก็ทำให้เด็กพัฒนาขึ้น
ก็ใช้วิธีอื่นสิ ไม่ต้องดุก็ได้ ตั้งคำถามเขาก็อยากเรียนแล้ว ตอนนั้นอาจารย์ยังอายุไม่มาก ยังแรงอยู่ ก็ไม่รู้เนื้อรู้ตัว หลังๆ ไม่ดุแล้ว เปลี่ยนวิธีการ

พอเปลี่ยนจากสอนเด็กมหาวิทยาลัยมาเป็นเด็กอนุบาล อะไรคือสิ่งที่ต่างไปที่สุด
เราได้เริ่มต้นจากวัยที่ยังมีความหวังมากๆ เขายังไม่มีถูกกำหนดกรอบความคิด โอกาสของเขาเยอะ เราเห็นว่ามันงอกงาม มันทำได้ เด็กมหาวิทยาลัยถูกกำหนดทุกอย่างมาหมดแล้ว เขาแค่ต้องการสำเร็จการศึกษา เลยไม่สนุกกับการเรียนรู้เท่าไหร่

ทำไมถึงเชื่อมั่นในศักยภาพการเรียนรู้ของมนุษย์ขนาดนี้
เราเรียนรู้จากลูกคนเล็ก เขามีอาการคล้ายออทิสติก ทำให้เราได้เรียนรู้เยอะมาก เขารับรู้ไม่เหมือนคนปกติ เขาตั้งใจฟังนานๆ ไม่ได้ ไม่มองตาเรา เราก็ไม่รู้ว่าเขาคิดอะไร เข้าใจไหม แต่เราเริ่มเห็นว่าเขารู้นะ พอเขาคลิกอะไรบางอย่างได้ การเรียนรู้ของเขาไปลิ่วๆๆ เราก็ อ๋อ วิธีการจัดการเรียนการสอนแบบปกติบางทีก็ไม่ได้เหมาะกับเด็กทุกคน


ตอนเปิดโรงเรียนรุ่งอรุณ อาจารย์อยากเห็นภาพโรงเรียนแบบไหน
เราไม่ได้คิดภาพสุดท้ายว่าจะต้องเป็นยังไง มันเริ่มจากจุดเล็กๆ ในความเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถพิเศษ คือทุกคนเรียนรู้ได้ ตอนเป็นอาจารย์ที่จุฬาฯ เราเห็นว่าเด็กๆ ไม่ค่อยได้ใช้สิ่งนี้ เอาแต่รออาจารย์ตัดสิน ทำให้เราหงุดหงิดมาก เขาออกแบบมาแล้วรอให้เราตัดสิน ซึ่งการตัดสินของเราอาจจะใช่หรือไม่ใช่ก็ได้ เขาต้องแลกเปลี่ยนความเห็นได้ว่าสิ่งที่เขาคิดคืออะไร อาจารย์เลยอยากเห็นโรงเรียนที่ใช้ศักยภาพของมนุษย์ให้เต็มที่

20 ปีก่อนไม่มีโรงเรียนแบบนี้เหรอ
ไม่มี

ทำไมถึงไม่มี
เป็นจารีตที่เราเรียนกันมาด้วยวิธีนี้ เราต้องฟัง แล้วถูกตัดสินมาตลอด เมื่อก่อนอาจจะดีก็ได้ แต่ยุคนี้ไม่ค่อยจะเหมาะแล้ว

ทำไมถึงมั่นใจว่าทุกคนเรียนรู้ด้วยตัวเองได้
เราเชื่อพระพุทธเจ้า เรามาลองฝึก ลองเรียนรู้ ลองปฏิบัติด้วยตัวเอง แล้วพบว่าวิธีสอนของพระพุทธเจ้านี่ใช่เลย ท่านไม่ได้สอนด้วยการเอาความรู้ของท่านใส่เข้าไปในคน แต่ท่านดูว่าเขาเป็นใคร คิดอะไรอยู่ มีปัญหาอะไร แล้วท่านก็พลิกมุมมอง ทุกคนเลยเข้าใจได้ทันที แสดงว่าทุกคนมีสิ่งนี้รออยู่ที่จะอ๋อด้วยตัวเอง

สิ่งที่ยากที่สุดในการตั้งโรงเรียนทางเลือกเมื่อ 20 ปีก่อนคืออะไร
การสร้างครู พระพุทธเจ้าเป็นครูของโลก คนที่จะเป็นครูได้ต้องรู้ชีวิต รู้ความเป็นไปของความเป็นมนุษย์ รู้ความเป็นไปของกระบวนการเรียนรู้ซึ่งเกิดจากข้างในด้วย ข้างนอกด้วย

ครูคณิตศาสตร์รู้แค่คณิตศาสตร์ไม่พอหรือ
เขาต้องรู้ว่าเด็กเข้าใจคณิตศาสตร์อย่างไร แล้วเอามาใช้ให้เป็น ครูอาจจะเริ่มสอนด้วยสถานการณ์บางอย่าง เช่น มีเด็กเข้าแถวเรียงตามลำดับไหล่กัน 11 คน แล้วมีคนหนึ่งยืนในตำแหน่งที่ผิด สิ่งนี้บอกอะไรบ้าง สิ่งนี้ยั่วให้เด็กคิดนะ หลังจากนั้นครูจะให้เด็กเขียนสิ่งที่คิด ดูว่าทั้งห้องมีกี่วิธี ให้เด็กอธิบายวิธีคิดแล้วดีเบตกัน จนได้ข้อสรุปที่เป็นเอกฉันท์ เข้าใจตรงกัน ออกมาเป็นทฤษฎี เป็นการเรียนย้อนหลัง เริ่มจุดประกายให้ผู้เรียนก่อน

พ่อแม่ที่ส่งลูกมาเรียนสิ่งนี้เมื่อ 20 ปีก่อน เป็นคนแบบไหน
เป็นคนที่เห็นอะไรบางอย่างในตัวลูก เห็นว่ามันไม่ไปด้วยกันกับแบบแผนปกติตามจารีต แล้วเขาก็แสวงหาว่าที่ไหนที่จะให้โอกาสลูก มนุษย์เราไม่เหมือนกันสักคน แต่โรงเรียนพยายามจะทำให้เหมือนกัน บางทีเด็กบางคนก็ซื่อตรงกับตัวเอง เลยไม่ยอมทำตามนั้น

บางคนเรียกว่า ดื้อ แต่อาจารย์เรียกว่า ซื่อตรงกับตัวเอง
ใช่

มีข้อดีไหม
มันดีตรงที่เขารู้แล้วว่าเขาไม่ใช่แบบนั้น แล้วเขาก็ไม่แน่ใจว่าเขาเป็นอะไรกันแน่ เขาก็อยากทดลอง ถ้าไม่มีพื้นที่ให้เขาทดลองเขาก็เฟล มีทั้งข้อดีข้อเสีย

ระบบการศึกษาโลกกำลังมุ่งหน้าไปทางไหน
นวัตกรรมทางการศึกษาทั้งหลายมาทาง Active Learning มากขึ้นเรื่อยๆ คือเปิดพื้นที่ให้ผู้เรียนได้มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ กับครู กับสถานการณ์จริง เรียนแบบเน้นเป็นโปรเจกต์ ให้ตั้งโจทย์เอง คิดว่าอะไรคือประเด็น จะแก้ปัญหายังไง ใกล้เคียงกับวิธีการเรียนรู้ของมนุษย์ตามธรรมชาติ เพราะเราพบว่า ความรู้ไม่ใช่แบบแผนที่ต้องรู้ แต่รู้เพื่อเอาไปใช้ และใช้ทันที การเรียนแบบโปรเจกต์ทำให้ได้ใช้ความรู้ทันที ไม่ใช่รู้ไว้ล่วงหน้านานๆ เรียนจบแล้วค่อยเอามาใช้ เช่น เรียนเรื่องกรดด่าง เราก็ทำโปรเจกต์ให้ศึกษาน้ำเสียจากครัวที่อยู่ในบ่อดักไขมัน เอาน้ำไปทดสอบด้วยกระบวนการวิทยาศาสตร์ แล้วก็หาวิธีบำบัด เขาต้องรู้มากกว่ากรดด่าง ต้องรู้ว่ามีจุลินทรีย์อะไรย่อยไขมันได้ เป็นการเรียนเพื่อใช้ความรู้ แล้วเขาก็ไม่ได้ตกใจกับการต้องออกไปหาความรู้ เพราะความรู้ไม่ใช่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ใครสถาปนาไว้ ต้องกราบไหว้บนหิ้ง พอรู้แล้วก็ลืม น่าเสียดาย

ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงรู้สึกว่าความรู้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราไปเชื่อแบบนั้นตอนไหน
ตอนที่เราพยายามทำให้ระบบการศึกษาหรือระบบโรงเรียนเป็นระบบแบบแมส เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ทำให้เด็กดูเสมือนว่าเหมือนกันทุกคน เอาเด็กอายุเท่ากันเข้ามาในชั้นเรียน ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในสังคม เราทำแบบอุตสาหกรรม คัดมาเลย ป.1 ล้วนๆ แล้วคิดว่าเด็กทุกคนอ้าปากรองรับสิ่งเดียวกันแล้วจะรู้สิ่งเดียวกัน ทำให้จัดการง่าย

ที่นี่กำลังให้ครูเป็น learning designer สิ่งนี้คืออะไร
ครูทำหน้าที่ออกแบบสถานการณ์การเรียนรู้ไว้ รอให้เด็กเข้ามาสัมผัส เหมือน learning lab ครูอนุบาลจัดมุมเรียนรู้เรื่องต่างๆ ไว้ (ตรงโถงระหว่างห้องและในทุกห้องเรียนเหมือนนิทรรศการที่เล่นได้ในพิพิธภัณฑ์) ตอนแรกครูไม่ค่อยเชื่อว่าเด็กจะควบคุมตัวเองให้ไปเรียนทุกมุมได้ ก็เลยคิดวิธีกำกับเด็กอนุบาลให้ไปฐานหนึ่ง ฐานสอง แต่พอเปิดเทอมมาไม่เป็นแบบนั้น เด็กเข้าเอง บางมุมเด็กอยู่นาน แต่ในที่สุดเขาก็อยากรู้มุมอื่น แล้วก็ไปจนครบ แล้วกลับมาอยู่มุมที่เขาสนใจจริงๆ จบแล้วครูก็มาสรุปสิ่งที่ได้เรียนรู้ นอกห้องเรียนก็มี มีเครื่องสูบน้ำพุที่ทำไว้ให้เด็กเล่น เปิดเทอมมาเด็กเล่นกันทั้งวันไม่ไปไหน น้ำ ทราย เนินดิน ต้นไม้ เป็นสิ่งที่เด็กชอบเรียนรู้มาก

มีพ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกเล่นดินเล่นทรายไหม
ตอนแรกๆ ก็แบบนั้น กลัวลูกตกน้ำ ช่วงก่อนปิดเทอมใกล้ๆ สงกรานต์ อาจารย์ให้เป็นวันปล่อยผี ให้เด็กทุกคนลงบ่อดินตื้นๆ ลงไปก็ขี้โคลนเต็มไปหมด เหมือนควายลงปลัก เด็กๆ สนุกมาก หลังจากนั้นพ่อแม่ก็เลิกบ่น เข้าใจแล้ว (หัวเราะ)

มีคนบอกว่า อาจารย์สังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงในเด็กได้เร็วมาก และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนั้นทันที
เราเห็นแล้วเราไม่เฉย เราจะพาครูไปดูทันที แล้วก็ปรับทันที เพราะเด็กกินไม่อิ่มแล้ว เด็กไปไกลกว่าครูแล้ว เด็กประถมทำคลิปขึ้นยูทูบเองได้แล้ว ครูต้องเห็นว่าเด็กไม่ต้องการให้สอนทำคลิป แต่เขาต้องการเนื้อหาคลิปที่ดี เราต้องท้าทายเขาด้วยเนื้อหา ทำยังไงให้เขาแปลงเรื่องราวเหล่านี้ให้กลายเป็นเนื้อหาในวิดีโอที่ดีได้

ทำไมที่นี่ถึงชอบให้เด็กทำวิดีโอสารคดีมาส่ง แทนที่จะให้เขียนรายงาน
เป็นวิธีการถ่ายทอดความรู้ที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการทำงานก็ฝึกให้เด็กมี critical thinking ได้เรียนรู้ว่าอะไรคือประเด็นหลัก ฝึกตั้งคำถาม ต้องผ่านการคิดอย่างมีวิจารณญาณสูง เด็กชอบมาก เพราะเขาไม่ชอบเรื่องอะไรง่ายๆ โจทย์เขาก็ตั้งกันเอง จากสิ่งที่เขาเรียน

เด็กยุคนี้ต่างจากยุคก่อนยังไง
เรียนรู้ไว เขาจะไม่ทิ้งเวลานานสำหรับการเรียน เรียนแล้วต้องใช้ทันที คุณภาพการฟังของเขาอาจจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่ แต่เราเสริมได้ด้วยการให้เขาทำงานเป็นทีม ต้องคุยกัน ปรับความเห็นที่แตกต่าง ยอมรับให้ได้ ไม่ปิดกั้นตัวเอง

เด็กเปลี่ยน ครูก็ต้องเปลี่ยน
เราเปลี่ยนวิธีการสอนทุกปีนะ ไม่ได้เปลี่ยนตามทฤษฎีมากมายนัก แต่เปลี่ยนให้เข้ากับเด็ก เพื่อให้เด็กเรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง ได้โตตามธรรมชาติ ครูต้องปรับวิธีไปเรื่อยๆ เด็กยุคนี้อยากเรียนรู้อะไร อย่างเด็กอนุบาลเราให้ทำขนมปัง ครูก็แทรกการเรียนเข้าไปด้วย ยีสต์ทำหน้าที่อะไร ทำไมขนมปังถึงฟู ตั้งคำถามแล้วทดลองกัน ตอนอบนี่หอมมากเลยนะ ถ้าไม่ใส่ยีสต์ขนมปังจะแข็งเลย แต่เด็กก็กินกันจนหมด (หัวเราะ) มันมีเรื่องที่น่าสนใจสำหรับเด็ก ครูต้องมองให้เห็น อ่านให้ออกว่าทุกอย่างมีมุมของการเรียนรู้อะไรที่ท้าทายตัวเด็ก

แนวคิดในการออกแบบโรงเรียนรุ่งอรุณคืออะไร
โรงเรียนเป็นบ้านและเป็นห้องเรียนธรรมชาติ บ้านให้ความรู้สึกเป็นกันเอง ครูจะผ่อนคลาย อยู่กับนักเรียนก็จะไม่วางท่าเป็นผู้รู้ ที่นี่ไม่มีโรงอาหาร เราให้นักเรียนกับครูแต่ละห้องทำอาหารและกินข้าวด้วยกันในห้องเรียน เหมือนบ้าน เป็นกิจวัตรที่เด็กได้เรียนรู้ไปด้วยกัน แล้วก็ได้ฝึกทักษะต่างๆ เยอะมาก ทั้งกล้ามเนื้อ มือ ตา ต้องบริการคนอื่นด้วย อนุบาลนานๆ ทำเองที ที่เหลือมีแม่ครัวมาทำให้ ประถมทำสัปดาห์ละครั้ง นักเรียน ม.ต้น ทำห้องใครห้องมัน ส่วน ม.ปลาย แบ่งเป็นกลุ่มผลัดเวรกันมาทำเลี้ยงทั้ง ม.ปลาย ทุกวัน เด็กๆ คิดรายการอาหารมาเสนอครู วันนี้ทำขนมจีนน้ำเงี้ยวกัน แล้วเด็กๆ ก็ทำความสะอาดห้องเรียนเอง ห้องโถง ส้วม เด็กอนุบาลก็ทำเอง กลับบ้านไปเก่งเลย เขาได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากการฝึกทำงานพวกนี้

ทำไมธรรมชาติถึงเป็นห้องเรียนที่ดี
เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เรียนไม่รู้จบ เรียนได้ทุกชั้นตั้งแต่อนุบาลถึง ม.ปลาย เรียนในห้องเรียนเขาอึดอัดนะ เขาถูกจำกัดพื้นที่ อยู่กันเยอะๆ ก็ซน จะหาเรื่องเล่น ก็พาไปเล่นเลยดีกว่า เรารู้ว่าพฤติกรรมของคนถูกหล่อหลอมด้วยสภาพแวดล้อมทางกายภาพ คนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมทางกายภาพที่เปิดกว้าง จิตใจก็จะเป็นอีกแบบ

20 ปีก่อนต้นไม้ในโรงเรียนเยอะแบบนี้ไหม
ไม่มีเลย เดิมเป็นสวนกล้วยไม้ ปลูกใหม่หมดเลย แล้วการตัดต้นไม้ที่นี่เป็นเรื่องใหญ่มาก ต้องขออนุญาต

การมีต้นไม้ใหญ่ในโรงเรียนดีกับเด็กยังไง
มันเป็นที่มาของชีวิตทุกอย่างเลย คุณเชื่อไหม ที่นี่มีเห็ดโคนขึ้นนะ ตื่นเต้นกันจะตาย เด็กก็ได้เรียนรู้ว่าเห็ดโคนขึ้นจากอะไร การเรียนรู้ทุกเรื่องมาจากธรรมชาติหมดเลย มีต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง เป็นต้นที่เราให้เด็กอนุบาลทุกคนมาปีน ให้เวลา 5 นาที เด็กสิบกว่าคนต้องช่วยกันปีนต้นไม้ขึ้นไปให้หมด เป็นการฝึกความอดทน รู้ว่าเราเป็นผู้นำในบางครั้ง เป็นผู้ตามบ้าง ให้เด็กได้ตัดสินใจแบบแมนๆ หลังๆ ให้เด็กไต่สะพานเชือกข้ามน้ำด้วย

พ่อแม่เขาไม่กลัวลูกตกต้นไม้เหรอ
เราก็พาพ่อแม่มาทำด้วยกัน พอลูกเข้าอนุบาลหนึ่งได้ปุ๊บ ผู้ปกครองต้องมาเข้าห้องเรียนพ่อแม่ 30 ชั่วโมง มาทำอะไรแบบนี้กับลูกทุกวันเสาร์ เขาจะเห็นความสามารถในการเรียนรู้ของลูก แล้วก็จะวางใจ ปล่อยให้ลูกเรียนรู้ ไม่กำกับมากเกินไป หรือปล่อยปละมากเกินไป พอดีๆ

เด็กได้ทำนาในโรงเรียนด้วย
นาใกล้ๆ นี้เป็นของเด็ก ป.5 เขาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ เขาปลูกมาหลายปีแล้ว เห็นว่ายังไม่ดีพอ ปีนี้เขาบอกว่า จะทำให้ข้าวของเขามีคุณภาพมาตรฐานเท่าข้าวอินทรีย์ของโลก เด็กเดี๋ยวนี้มันใช่ย่อย เขาก็จะค่อยๆ คืบไปแบบนี้

ทำไมถึงพาเด็ก ม.ปลาย ไปออกภาคสนามด้วยการพาไปอยู่กับชาวบ้านที่มีปัญหา
มันต้องเป็นสถานการณ์จริงของผู้คน เขาถึงจะได้เรียนรู้เยอะ ถ้าไปดูเฉยๆ เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ตัวเราก็จะห่างออกจากเรื่องนั้น แต่ถ้าลงไปอยู่กับเขาทำตัวเป็นลูกหลานเขา ไม่ว่าจะเป็นคนต้นน้ำ ชาวเขา ชาวประมง คนที่ได้รับผลกระทบจากเหมือง จากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เราจะเข้าใจชีวิตเขาว่ากำลังเผชิญกับอะไร เขาอยู่อย่างสุขสบายด้วยวิธีไหน หรือเจอปัญหาอะไรในชีวิต ซึ่งมาจากเรื่องราวอะไรในสังคม เขาจะได้เรียนรู้หมด เป็นการเตรียมตัวเป็นมนุษย์ เป็นคนในสังคมที่เข้าใจสังคม ถ้าเราอยู่ในสังคมนี้เราต้องมีส่วนผูกพันกัน เขาจะไม่เป็นคนที่แยกตัวจากสังคมหรือแสวงหาแต่ผลประโยชน์ส่วนตัว เราต้องรับรู้ความเป็นไปทั้งหมดด้วยกัน

ทำยังไงที่นี่ถึงไม่มีขยะ
ทุกสิ่งที่ออกจากตัวเราจะไม่เป็นขยะ เราต้องคิดว่ามันจะไปยังไง เวลาไปซื้อของเราจะได้ไม่ซื้อขยะมามาก ทำให้เห็นวิธีการว่าทำได้ไม่ยาก แล้วก็ทำไปด้วยกัน ตอนแรกขยะในโรงเรียนเยอะ รอ กทม. มาเก็บ ถังก็ไม่พอ กองอยู่หลังโรงเรียน แมลงวันเยอะ อาจารย์เลยให้เอาขยะทั้งหมดมากองตรงกลางลาน แจกถุงมือกับหน้ากากให้ครูทุกคน มานั่งล้อมวง แล้วหยิบขยะมาดูทีละชิ้น ช่วยกันคิดว่าถ้าจะไม่ให้มันเป็นขยะต้องทำยังไง ก็เห็นภาพว่า เมื่อขยะที่ปล่อยจากตัวเราไปรวมกันเป็นยังไง ที่สาหัสคือแพ็กเกจที่เปื้อนแล้วไม่ได้ล้างอาหารจะบูดเน่าอยู่ในนั้น ก็ได้ข้อสรุปว่า ต่อไปจะไม่ปล่อยให้ถุงพลาสติกหรือกล่องที่เปื้อนแล้วไม่ได้ล้างลงไปอยู่ในกองขยะ เลยทำเป็นสถานีล้างขยะ พอเจอกระดาษห่อข้าวมันไก่ก็งงว่าทำไมมีครูคนหนึ่งลอกพลาสติกออก เอาพลาสติกไปล้าง กระดาษก็ทิ้งเป็นเศษกระดาษ กล่องนมใช้วิธีตัดแล้วแผ่ออก ล้างให้สะอาด เราให้เด็กอนุบาลทำสิ่งนี้ เพราะเขาต้องกินนมที่ทางบ้านเตรียมมา ก็ทำกันด้วยความสนุกสนาน ผู้ใหญ่ก็ต้องยอมทำตามในที่สุด

บางคนบอกว่าที่นี่เป็นโรงเรียนวิถีพุทธ มันต่างจากการสอนวิชาพุทธศาสนาในโรงเรียนอื่นยังไง
เราไม่ได้สอนเป็นวิชา แต่ประยุกต์แนวคิดของวิถีพุทธมา เราทำให้ครูตระหนักว่าทุกอย่างที่เรียนควรจะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า มีความหมายต่อชีวิต และทำให้ชีวิตมีคุณค่า ครูต้องออกแบบทุกแผนการเรียนการสอนโดยตั้งเป้าหมายนี้ให้ชัด ถ้าให้เขาเรียนสมการกำลังสอง ต้องบอกได้ว่ามันเกี่ยวอะไรกับชีวิตเขา ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นยังไง วิชาความรู้สรรพศาสตร์ทั้งหลายต้องทำให้ชีวิตดีขึ้น

ถ้าตอบว่าใช้สอบเข้ามหาวิทยาลัย ถือว่าทำให้ชีวิตดีขึ้นไหม
ก็ดีขึ้น แต่เมื่อไหร่ไม่รู้ ต้องเอาชีวิตดีขึ้นเดี๋ยวนี้แบบที่เด็กเข้าใจและรู้สึกได้ด้วยตัวเอง ว่ามันมีความหมายต่อเรา แล้วเขาก็อยากเรียน เราพบว่าสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียนและท้าทายมากที่สุดจะมีคุณค่าแฝงอยู่ในนั้น มนุษย์เราพิเศษตรงไม่รับสิ่งที่ไม่มีคุณค่า และไม่ได้ทำให้ตัวเองดีขึ้น เราถึงเติมคุณค่าเข้าไปในทุกเรื่องที่สอน ทุกกิจกรรมที่ทำ ทำไมเราถึงสร้างอาคารแบบนี้ สร้างโรงปั้นแบบนี้ เพราะเราเห็นว่ากิจกรรมการปั้นมีคุณค่า เราต้องการส่งเสริมคุณค่านี้ เราต้องให้เขาอยู่บนบรรยากาศที่โอบล้อมด้วยธรรมชาติ เราพบว่าการปั้นช่วยฝึกมือ ตา และการบาลานซ์ มันช่วยฝึกวินัยบางอย่างในใจ เด็กพิเศษบางคนได้งานปั้นช่วยให้เขาสงบแล้วจัดการชีวิตตัวเองได้ ทุกเรื่องไม่ใช่สิ่งที่ทำไปอย่างงั้นๆ ทุกเรื่องทำให้ถึงคุณค่าได้ทั้งนั้น แยกขยะก็มีคุณค่าได้ มันกลับมาสอนใจตัวเองได้ เอาขยะออกจากใจตัวเองก่อน เป็นพุทธเชิงนัย ครูและนักเรียนทุกคนจึงเข้าถึงได้

การเรียนการสอนแบบนี้ทำให้เด็กเข้ามหาวิทยาลัยได้ไหม
เขาก็เข้าได้นี่ ถ้าเขาเข้าใจวิชาต่างๆ ได้ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ใช่เรื่องยาก บางคนก็ไปเรียนพิเศษเพิ่มเติม บางคนไปติวก่อนสอบ แค่ไปรู้ว่าข้อสอบมันจะถามอะไร

เวลาเห็นข่าวครูแย่ๆ ท้อไหม
ครูเหล่านั้นเขายังไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วเขาทำสิ่งที่ดีได้ ถ้ารู้เมื่อไหร่เขาก็คงทำ แต่ที่ร้ายจริงๆ ก็ไปทำอย่างอื่นเถอะอย่ามาเป็นครูเลย แต่ไม่ว่ายังไงโลกนี้ก็ยังต้องมีครู และมีครูดีๆ เยอะกว่าครูไม่ดี ไม่งั้นพวกเราจะรอดมาได้ไง เราเห็นแต่ข่าวครูไม่ดี เลยไปวอแวกับเรื่องนั้นเยอะ ทางที่ดีคือเราต้องมุ่งสร้างครูดีๆ

นักเรียนจำเป็นต้องเคารพครูไหม
ถ้าไม่เคารพก็จะไม่เกิดความสัมพันธ์ เหมือนที่พูดไปตอนแรกว่า การเรียนรู้มีทั้งปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายใน ถ้ามันไม่ถึงพร้อมการเรียนรู้ก็เกิดยาก ใครจะทำหน้าที่เหนี่ยวนำปัจจัยภายใน ครูที่เป็นกัลยาณมิตรของเด็กจะเหนี่ยวนำปัจจัยภายในของเด็กได้

เรื่องนี้มี 2 ด้าน ถ้าเด็กเคารพครู ความเป็นครูก็เกิดนะ ถ้าได้ชื่อเพียงว่าเป็นนักเรียนกับครูกันแต่ไม่เคารพก็ยังไม่เป็นครู ความเป็นครูมันขึ้นกับนักเรียนศรัทธาไหม ถ้าเขาเคารพ แสดงว่าครูเป็นผู้บอกกล่าวที่ดีสำหรับเขา ถ้าเด็กไม่เคารพครูจะด้วยเหตุผลอะไรก็แล้วแต่ โลกนี้จะอยู่กันยังไง ใครจะบอกใคร มันก็ยุ่งเหมือนกันนะ ส่วนครูก็ต้องตระหนักว่าอะไรคือจุดที่ทำให้เด็กเชื่อมั่น ศรัทธา เด็กจะพึ่งพาสติปัญญาของเราได้ไหม เราเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้เขาได้หรือเปล่า การสถาปนาครูไม่ได้เกิดจากการแต่งตั้ง แต่เด็กเป็นคนเลือก ความเป็นครูถึงเกิด

ครูต้องทำตัวยังไงเด็กถึงเคารพ
ต้องเปิดใจเรียนรู้เด็กจริงๆ เด็กถึงจะวางใจ ถ้าครูคนไหนเคี่ยวเข็ญจะให้ได้อย่างนั้นอย่างนี้ก็เหมือนพ่อแม่ที่หวังดีอยากให้ลูกเป็นโน่นเป็นนี่ เด็กอาจยอมเคารพด้วยอำนาจบางอย่าง ดูเหมือนเคารพแต่เป็นไปด้วยอำนาจหรือเปล่า ครูต้องระวังส่วนนี้ให้ดี

ถ้าครูที่อยู่ในโรงเรียนซึ่งเต็มไปด้วยแบบแผนอ่านแล้วชอบวิธีการของรุ่งอรุณ เขาทำอะไรได้บ้าง
ทำสิ่งที่อยู่ตรงหน้านั่นหละ สิ่งที่เล็กที่สุดคือความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน ตรงนี้ทำได้ไม่มีใครมาบังคับ จะโครงสร้างแบบไหนหลักสูตรไหนก็ทำได้ ที่นี่ก็ใช้หลักสูตรมาตรฐานแกนกลาง แต่ครูใช้วิธีการอีกอย่าง สอนเสร็จก็เอาไปเทียบว่าตอบตัวชี้วัดได้ มันขึ้นกับใจของคุณว่ามั่นคงแค่ไหน

20 ปีรุ่งอรุณ อะไรคือสิ่งที่อาจารย์ภูมิใจสุด
เราได้สร้างชุมชนที่ดีที่หล่อหลอมคนได้ ทั้งครู ทั้งนักเรียน ทั้งผู้ปกครอง การได้เห็นเด็กเติบโตขึ้น ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นความสุขของครูทุกคนที่นี่ เด็กที่จบไปก็เป็นตัวของเขาเอง มีวิธีคิดที่ทำให้เขาแก้ปัญหาหรือเลือกวิถีในชีวิตของเขาได้ดีเหมาะสม แม้แต่เจ้าเฌอปราง (BNK48) ก็ส่งเฟซบุ๊กมาให้อาจารย์ดู เขาอยากให้เรารู้ว่าเขาไปทำอะไร เขาเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนดี แต่ก็อยากทำอะไรอีกแบบ เป็นวิถีของเขาที่เราก็ดีใจด้วยที่ได้ทำสิ่งที่ชอบ

พูดถึงวันครู นึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก
ครูมีหลายรูปแบบ พ่อแม่คือครูที่สำคัญที่สุดของลูก เป็นครูคนแรกและครูที่มีอิทธิพลสูงมากสำหรับลูก อยากให้พ่อแม่ระลึกถึงสภาวะนี้ของตัวเอง สร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างลูกกับตัวเอง นี่คือสะพานของการเรียนรู้ ไม่ใช่ยกลูกมาให้ครูสอน แต่พ่อแม่ไม่สอน บางคนไม่รู้ตัวนะ เขารู้สึกว่าลูกต้องไปเรียน เวลาทำงานบ้านก็ไม่เรียกลูกมาทำด้วย เพราะลูกมีหน้าที่เรียนก็เรียนไป จะให้พาไปไหนก็พาไปแต่เป็นคนพาไปเฉยๆ ไม่ได้ไปเรียนรู้สิ่งนั้นๆ กับลูก ลูกก็จะเหงามาก หัวใจก็จะแหว่ง เขาเลยหาทางเติมเต็มด้วยวิธีแปลกๆ มันมีผลกระทบมากเลยนะ ถ้าพ่อแม่ลืมความสำคัญของการเรียนรู้ร่วมกับลูก