การเรียนรู้แบบรุ่งอรุณ,  บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

รู้ตัวทั่วพร้อมด้วยเรือใบ

ภาพและเรื่อง :: เข็มเพชร ระหว่างงาน สถาบันอาศรมศิลป์
เรียบเรียงจากการสัมภาษณ์ครูกีฬา ครูเป๊ก-ปาญิกา ปลั่งกลาง และการสะท้อนการเรียนรู้ของนักเรียนมัธยม ในค่ายเรือใบมัธยม #๔ เมื่อวันที ๓-๗ พ.ค. ๒๕๖๑ ณ สโมสรเรือใบ กองเรือยุทธการ ฐานทัพเรือสัตหีบ

เรียนเล่นเรือใบทำไม
คือเราจะสอนอะไรเด็กได้ ครูต้องเห็นคุณค่าจริงๆ ครูต้องรู้จริง รู้ก่อน ครูลงไปเรียน พอไปเรียนก็พบว่าเรือใบไม่ใช่แค่กีฬา แต่มันเป็นสิ่งที่นำพาให้เราเจริญขึ้น เจริญจากข้างใน …เป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ผู้เรียนเป็นเจ้าของความรู้ ความคิด เจ้าของเวทีนั้น เขาเรียนเขารู้วิธีฝึก มันเป็นวิธีของเขา เป็นสิ่งที่ทำ รับข้อมูลไปแล้ว แก้ ทำเลย เรียนรู้ ณ ขณะปัจจุบัน คือทำแล้วจะดีขึ้น เพราะถ้าทำแล้วแย่ลงคือตาย เพราะอยู่ในทะเล ต้องพัฒนาตนเองทุกขณะ กลัวมีอยู่ทุกขณะ แต่บางทีเด็กเองก็ไม่รู้ มารู้อีกทีว่าทำได้แล้วนี่ ทุกอย่างมีที่ทางของมัน ครูก็พาทำ ให้เด็กเห็นตรงนี้

เรือใบเป็นกีฬาของการเรียนรู้ตัวรู้ใจ เด็กเปลี่ยน เปลี่ยนมุมมองชีวิต เปลี่ยนการใช้ชีวิต เปลี่ยนคุณภาพจากภายในเขาเอง เราไม่ต้องไปวุ่นวายกับเขา แต่ที่ค่ายทุกคนต้องเรียนรู้ เพราะต้องรักษาชีวิต ต้องลุกขึ้นสู้ ต้องเรียนรู้ทุกขณะ ถ้าเรือล่ม (capsize) ก็ไม่มีใครช่วย ต้องกู้เรือเอง มันต่างจากการใช้ชีวิตอยู่แบบเดิม มันต้องสู้กันไปข้างหนึ่ง

เรียนกีฬาอื่นได้ไหม 
เรือใบเป็นกีฬาชนิดหนึ่งที่ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เรือใบมันทำให้เห็นคุณค่าชีวิตของเขา เรือใบตอนยังไม่เป็น ตอนที่กำลังพยายามอยู่ หรือกำลังทำอยู่ ตอนนั้นคุณค่าของชีวิตจะมามากมาย แต่พอเป็นแล้วจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง จะเป็นเรื่องของการประเทืองปัญญา เช่น เรื่องของการดูลม การดึงใบ การจับ การรักษาสมดุลร่างกาย ซึ่งเรือใบให้ได้อีกเยอะแยะ

ปลุกเซลล์ตนให้อยู่ปัจจุบัน 
มันมีความเสี่ยงต่อชีวิต แต่มันก็ไม่ได้เสี่ยงขนาดนั้น เสี่ยงเพราะคนเราไม่เคยพาตนเองออกนอก comfort zone ไง พอออกมา ก็คิดอย่างเดียวว่าตายแน่ๆ คือ คิดแบบนี้มันดีนะ มันทำให้เซลล์รู้เนื้อรู้ตัวทำงาน

ครูทำแผนการเรียนรู้อย่างไร
แผนคือเป็นไปตามการกีฬา คือ นักกีฬาต้องรู้จักเรือใบก่อน รู้ใบเรือ อุปกรณ์ของเรือก่อน ถ้าไม่รู้ แล้วเกิดปัญหากลางทะเลจะแก้ไขไม่ได้ ทำใบหลุด เสาหลุด หางเสือหลุดไม่ได้ ต้องรู้ส่วนประกอบเรือ ต้องแก้ไขได้ เมื่อเอาเรือลงทะเล ต้องช่วยกัน เรือใบเป็นกีฬาที่เล่นคนเดียวไม่ได้ เรือลำหนึ่ง ต้องยกหลายคน ต้องหาคนมาช่วย จะเป็นทีมเวิร์คที่ต้องเร็วและรอบคอบ ถ้าไม่รอบคอบจะลำบากข้างหน้า เหมือนเราขับรถก่อนออกรถต้องเช็ค แต่รถอยู่บนบก แต่เรือ ถ้าไม่สมบูรณ์ก็ล่มในทะเล มันลำบากกว่า

เด็กต้องรู้เรื่องพวกนี้ทั้งหมดหรือ 
คือรู้เพื่อประกอบ ก็ไม่ได้รู้แน่นมาก แต่จะรู้แน่นมากก็ต่อเมื่อมันเสีย (หัวเราะ) แล้วต้องแก้ไขปัญหา เรื่องเรือใบจึงเป็นเรื่องที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ทุกขณะ และมันเป็นการเรียนรู้ของเขาเองจริงๆ

เป้าหมายการเรียนที่ต้องพาไปถึงคุณค่าคืออะไร
เป้าคือต้องเล่นได้แบบกล้าหาญ คือกล้าที่จะเผชิญความกลัว และเล่นได้แบบกล้า คือผิดก็ทำไป แก้ไขไป ครูฝึกบอกว่ามันผิดก็รับรู้ และแก้ไขทันที เพราะมันมีความเสี่ยงตายอยู่

เป็นความรู้ที่พอดีกับชีวิตเขา และความรู้เป็นจริง 
เป้าหมายอีกข้อคือ ผู้เรียนตระหนักถึงคุณค่าการเรียนรู้ ว่าได้ทำอะไรบ้าง สิ่งที่ทำมาได้อะไรมา แล้วทั้งหมดทั้งมวลได้เรียนรู้เรื่องอะไรที่มาปรับใช้กับชีวิตตัวเองได้ เห็นคุณค่าของชีวิตตนเอง ได้ทะลุ comfort zone ข้อจำกัดของเขา คือบางคนอาจจะนอนเชื่องๆ ซึมๆ อยู่บ้าน แต่พอไปเล่น เขาก็รู้ว่า เขาก็ทำแบบนี้ได้ พอทำได้แล้วมีความสุขนะ ความสุขจากที่ตนเองได้เรียนรู้ พูดง่ายๆ คือ เราอยากเติมแสง เติมไปในใจเขา ให้เห็นคุณค่าทุกอณูชีวิตของเขา กลับมาเปลี่ยนตนเอง เปลี่ยนจากข้างใน เปลี่ยนมากเปลี่ยนน้อย เปลี่ยนจากอะไร ตัวเด็กเองจะเป็นคนระบุ แต่ครูมีหน้าที่พา พาให้เห็น มันเป็นเรื่องระหว่างครูกับเด็ก เด็กมีหน้าที่ทำ ครูมีหน้าที่เฝ้ามอง สนับสนุนบางจุดที่เพื่อให้เขาดำรงต่อไปได้

ตัวครูก็จะทำงานไปอีกระดับหนึ่ง ถ้าตัวครูเป็นผู้เฝ้าสอนๆ ก็จะไม่เห็นจุดนี้ ครูต้องถอยออกมา แล้วมาดูว่าเราเห็นอะไรในเด็ก เรามีสายตาแบบไหน เห็นแล้วเราจะทำอย่างไรต่อกับสิ่งที่เด็กได้มา แล้วเด็กเข้าใจไหมว่าสิ่งที่เขาได้คืออะไร เรากับเด็กก็จะมาแลกเปลี่ยนเรื่องการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

เล่นเรือใบใจเปลี่ยน
เห็นเลยว่าเด็กเปลี่ยน เราจะเห็นเด็กกระตือรือร้น เห็นการดูแลของตนเอง การช่วยเหลือกัน ครูจะปรับให้เด็กช่วยเหลือกัน สายตาครูที่ไปด้วยจึงจำเป็น เราจะไม่ละจากเด็กเลย แต่เราไม่ยุ่ง คือเราเอื้อ ให้มันไปในร่องในรอย เราไม่ได้สอนให้เป็นนักกีฬา แต่เป็นการสอนเพื่อยกจิตยกใจ เพื่อให้นำไปใช้ในชีวิตจริงได้

ครูก็ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเหมือนกัน
…มาก หลายด้านเลย คือหลักๆ เลย คือ ต้องมีสายตา อันไหนปลอดภัย อันไหนไม่ปลอดภัย จังหวะไหนที่เสี่ยง หรือเสี่ยงแต่ไปต่อได้ ด้วยวิธีการไหน จะมีคนที่ดูเด็กตลอดเวลากลางทะเล ประสานกันตลอด แล้วตกเย็นก็มาประชุมกันทั้งเด็ก และประชุมครูสรุปงาน สิ่งที่ต้องแก้ไข และสิ่งที่ต้องทำต่อ แผนของการฝึกเป็นของครูฝึก (ผู้เชี่ยวชาญของกองเรือ) แต่แบบแผนของการ support เป็นของเรา ดูแผนการฝึกของครูฝึก ครูก็ประสานการทำงานและลงดูเด็ก

ครูอยู่เพื่อเรียนรู้ เรียนรู้ครูฝึก เรียนรู้นักเรียน เรียนรู้ตนเอง 
คือเราก่อนพาเด็กลง เราก็ต้องไปฝึกก่อนกับผู้เชี่ยวชาญที่กองเรือ คือกับครูฝึก นอกจากเรียนรู้เรื่องเรือใบแล้ว เราก็สังเกตท่าทางครูฝึก คือ ครูฝึกเขาไม่มีหน้า ไม่มีหลังกับเด็กเราเลย ไม่มีมายาคติ ทัศนคติ อคติ เขาดูแค่เด็กกับเรือเท่านั้น กลับมาดูตัวเรา ด้วยความเป็นครูเรากลับมีตรงนี้กับเด็ก (เช่น เด็กจับเชือกไม่แน่นก็เพ่งในใจ ทำไมไม่พยายามเลย แต่ครูฝึกจะพูดแค่ คุณจับเชือกไม่แน่นนะ จับใหม่ แค่นั้น) เราก็เรียนรู้จากเขา เป้าหมายเขาชัดเจนคือสอนคนให้เล่นเป็น เขาดูเด็ก ณ ปัจจุบัน ส่วนเราเป็นครูก็บวกไปทุกเรื่อง(หัวเราะ) ตั้งแง่ก่อนเลย ติดเป็นนิสัย บางทีก็ต้องถอยออกมาบ้าง

คือเราก็เรียนรู้คนกับคน เรียนรู้ผ่านกันและกัน มันย่นย่อการแลกเปลี่ยนชีวิตกับชีวิต เห็นครูฝึกเขาสมาร์ทก็อยากสมาร์ทแบบนั้น (หัวเราะ) มันไปกระแทกที่ใจเรานะ และเมื่อเห็นอะไรมากลุ่มครูก็จะมาสะท้อนกัน

ฟังเสียงเด็กมัธยมจากค่ายเรือใบ
“หนูรู้สึกว่าตัวเอง ฉับไวขึ้นและว่องไวขึ้น เร็วขึ้นกว่าแต่ก่อน”

“พบประสบการณ์เสี่ยงตาย (จะชน) เห็นว่าตนเองลน เพื่อนก็ลนด้วยแต่เพื่อนก็ทำเต็มที่ ก็ต้องไว้ใจเพื่อนด้วย ไม่ยุ่ง ใจเย็น ช่วยกันไป”

“เห็นว่าตัวเองไปสนใจจุดอื่นๆ อย่างไปดู ใบ บอร์ด แต่ความสำคัญคือหางเสือ เลยมาจัดลำดับใหม่ แก้ไขโดยให้ความสำคัญกับหางเสือ และดูหัวเรือก่อน”

“แก้ไขความกลัวของตัวเอง กลัวตกน้ำ ครูมาสอนเลยได้วิธีการนั่งแบบใหม่ ได้เห็นทางแก้ไข ด้ามหางเสือพัง ตอนนั้นตื่นตระหนกมาก แต่แก้ได้ ได้เห็นว่าทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมาจากความคิดของเรา”

“ตอนนั้นเชือกพัน เลยให้เรือติดลม (เรือนิ่ง) แล้วเข้าไปแก้ไข หนูไม่คิดว่าต้องเรียกคนอื่นช่วย ต้องช่วยตัวเองค่ะ ตอนนั้นแสบตามาก เลยแก้ด้วยการฟังเสียงลมแทน ฟังใบเรือว่าสะบัดหรือไม่ ถ้าสะบัดก็ดึงเชือกค่ะ”

“เจอปัญหาเกือบ drink (ล่ม) เกือบชน แต่ก็เอาตัวโหนกระแทก รักษาน้ำหนักได้ กลับมาเป็นปกติได้ ก็ค่อยๆ แก้ไม่เหมือนเมื่อวาน” (นิ่งขึ้น)

“เรือล่ม เลยเข้าไปกู้เรือทันที ทั้งที่ตอนนั้นไม่พร้อม ก็เลยเหนื่อยครับ”