บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

KMรุ่งอรุณ : ความสัมพันธ์ของครูกับศิษย์ คือหัวใจสำคัญของการเป็นครู

เรื่อง : ครูอภิญญาวุฒิ  วิโรจน์เวชภัณฑ์ (ครูโอ๊ต)
ครูดนตรีไทย โรงเรียนรุ่งอรุณ

ถึงโอ๊ตเพื่อนรัก

ในความรับผิดชอบของครูดนตรีไทย เมื่อนึกไปถึงช่วงแรกของการทำงานก็อดขำตัวเองไม่ได้ ตอนนั้นจำได้ว่าแค่ ๒ สัปดาห์แรกของการทำงานก็มีเสียงตอบรับดีมากถึงครูโอ๊ต ทั้งหนังสือสื่อสารจากผู้ปกครอง นักเรียนจะลาออก นักเรียนเดินหนีครูโอ๊ต และอื่นๆ อีกมากหลายต่อหลายสิ่ง

ตอนมาใหม่ๆ เราสวมหัวโขนเป็นครูเต็มตัว ไม่รู้ตัวเลยว่าเราจริงจังและคาดหวังมาก พอเจอนักเรียนทำไม่ได้ (ดั่งใจครู) ก็คิดในใจว่า “มันก็ง่ายแค่นี้เอง ทำไมทำไม่ได้” พอใจคิด ปากก็ไป ทุกครั้งที่มาเรียนกับเรา นักเรียนแทบไม่เคยได้คำชมกลับไปเลย เพราะเราใช้แต่คำพูดเชิงลบ เชิงตำหนิ

นักเรียนบางคนเขารู้สึกเสียใจกับคำพูดของเรา แต่เขาเก็บอาการ ไม่แสดงออก เราก็ไม่รู้ตัว เพราะคิดว่าเด็กเข้าใจความหวังดีของเรา จนวันหนึ่งเราสังเกตเห็นท่าทีของเขาที่มาเรียนอย่างเกร็งๆ กลัวๆ นักเรียนบางคนก็เอาไปบอกผู้ปกครอง บางคนที่แรงหน่อยก็แสดงอาการต่อต้าน ลุกหนีเราต่อหน้าเลย ตอนนั้นความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์แย่มาก เราเองก็เศร้าใจ คิดในใจว่าเราผิดด้วยหรือที่ต้องการให้นักเรียนได้ดี เราก็ถูกอบรมถูกสอนมาแบบนี้ คิดถึงขั้นว่าจะหางานใหม่เลยนะ

พอผ่านไปสักพัก เราเริ่มคิดได้ นึกย้อนไปตอนเด็กๆ เราก็ไม่อยากโดนดุ บอกดีๆ ก็ได้ แต่พอมาเป็นครู เราลืมตรงนี้ไปเลย พอคิดได้เราก็เริ่มเปิดใจไปดูครูคนอื่นสอน ก็ค่อยๆ เรียนรู้ ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงตัวเอง พอเราถอดหัวโขนของครูออก ไม่เอาความเป็นครูมาคาดหวังกับนักเรียน เรารู้สึกผ่อนคลายและมีความสุขขึ้นนะ เด็กๆ เองเขาก็รับรู้ได้ ความสัมพันธ์ของครูกับศิษย์ก็ดีขึ้น

ประสบการณ์ ๓ ปีในรั้วรุ่งอรุณ มีเรื่องให้เราเรียนรู้และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราได้เรียนรู้ว่าการเป็นครูนั้นเราต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ไว้ให้ได้ คุยเล่นบ้าง ชวนกันกินน้ำกินขนมบ้าง บางจังหวะที่เขาไว้ใจเรา เขาก็พูดเรื่องส่วนตัวที่ทำให้เราได้รู้จักเขามากขึ้นหรือเป็นที่ปรึกษาให้เขาได้

ครูก็คือนักเรียนคนหนึ่งที่เรียนรู้ไปพร้อมกับนักเรียน ถ้าครูติดกับดักกับคำว่าครู ครูจะพลาดการเรียนรู้ ลืมเนื้อลืมตัว แล้วครูจะกลายเป็นแค่คนที่มาอ่านหนังสือให้เด็กฟัง