TDRI – รุ่งอรุณ ยกกำลังสองเพื่อการศึกษาไทย
สัปดาห์นี้ (วันจันทร์ที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๑) โรงเรียนรุ่งอรุณมีโอกาสต้อนรับและแลกเปลี่ยน เรียนรู้ กับคณะนักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ โดย ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธาน TDRI นำนักวิจัยและคณะทำงานด้านการศึกษา เยี่ยมชมการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนรุ่งอรุณ ร่วมสังเกตการณ์การเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ด้วยกระบวนการ Mindful Open approach ของชั้น ป.๖ และห้องเรียนชั้น ม.๕ ที่เรียนรู้บนการปฏิบัติงานจริง ในห้องเรียนแบบ Learning Studio และชุมชนบ้านช่าง (วิชาศิลปะ) ของรุ่งอรุณที่ให้นักเรียนเรียนรู้การย้อนมองจิตใจตนผ่านการทำงานศิลปะ ชมนิทรรศการเก้าอี้ฝีมือนักเรียน และเข้าร่วมในวงประชุม AAR สะท้อนผลการเรียนการสอนของคุณครูในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และโครงงานบูรณาการของนักเรียนชั้นประถม
ครูสุวรรณา ชีวพฤกษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนรุ่งอรุณ กล่าวว่า “เราดีใจที่มีสายตาของนักวิจัยมาช่วยเรามองในหลายๆ เรื่อง มาช่วยให้ข้อคิดเห็น หรือสะท้อนให้เราสามารถนำไปพัฒนาต่อไปได้อีก เรายินดีที่เราได้คุยแลกเปลี่ยนกันไปในระหว่างที่ดูงาน เราเองมองว่ายังมีกลุ่มคนอื่นๆ อีกที่กำลังช่วยกันทำเรื่องการพัฒนาการศึกษา พวกเรามีใจที่อยากทำเพื่อเด็กไทยในอนาคต ภาพนี้เป็นภาพฝันของทุกคนและของพวกเราเอง ภาพฝันของเด็กไทยในอนาคตก็คือ เด็กใน ๑๐-๒๐ ปีข้างหน้า เราจะเตรียมพวกเขาอย่างไร ให้เขามาพัฒนาประเทศนี้ต่อจากพวกเรา สิ่งนี้จึงเป็นพลังขับเคลื่อนการทำงานของรุ่งอรุณอยู่ตลอดเวลา”
“เราทุกคนมีเจตนาที่อยากทำเรื่องการพัฒนาคน พัฒนามนุษย์ เราเชื่อว่าการศึกษาช่วยได้จริงๆ เราไม่เคยคิดว่าคนในประเทศไทยจะทำไม่ได้ เราไปดูสิงคโปร์มา เห็นเขาทำได้ เด็กทั่วโลกก็เหมือนๆ กัน ถ้าเขาได้รับกระบวนการเรียนรู้ที่ตรง ที่ใช่ ที่จะไปปลุกพลังข้างในของเขาออกมา เป็นพลังของความคิด แต่ความคิดนั้นควรเป็นความคิดที่สร้างสรรค์ เป็นประโยชน์ ไม่ใช่เรียนรู้แล้วไปเอาเปรียบคนอื่น หรือคิดในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แรงขับเหล่านี้เป็นสิ่งที่ร่วมกันที่เราคิดว่า TDRI กับรุ่งอรุณก็คล้ายกัน วันนี้เราได้แลกเปลี่ยน ได้คุย ได้มุมมองต่างๆ ที่เราจะช่วยกันทำต่อไป เราเองก็ติดตามงานวิจัยของ TDRI และได้นำมาใช้คุยกับนักเรียนของเรา”
มองรุ่งอรุณผ่านสายตานักวิจัย TDRI
:: การเรียนศิลปะที่ทำให้เด็กพัฒนาความเป็นมนุษย์
ณิชา พิทยาพงศกร นักวิจัยท่านหนึ่งกล่าวแลกเปลี่ยนและสะท้อนประเด็นการเรียนรู้ในครั้งนี้ว่า “รู้สึกว้าวมากตั้งแต่เข้ามาในโรงเรียน อย่างแรกเรื่องกายภาพ สถานที่ตั้ง บรรยากาศ ทั้งหมดเหมือนเอาตัวเองเข้ามาอยู่ใน Setting อย่างหนึ่ง ทำให้ใจเรารู้สึกสบายและเปิดรับที่จะเรียนรู้อะไรต่างๆ”
“ประทับใจในชั้นเรียนศิลปะ รู้สึกว่าในโรงเรียนในประเทศไทยไม่ค่อยโฟกัสเท่าไร ในโรงเรียนส่วนนี้อาจเป็นส่วนที่ถูกมองข้ามไปเลย อาจเป็นแค่ห้องเรียนเล็กๆ แต่ที่นี่ให้ความสำคัญ ทำให้เด็กได้พัฒนาความเป็นมนุษย์อย่างรอบด้านจริงๆ อย่างโจทย์เรื่องการทำเก้าอี้ เคยไปเห็นที่โคเปนเฮเกนที่เก่งเรื่องดีไซน์ เห็นเขาจัดนิทรรศการเรื่องเก้าอี้อย่างเดียว เพราะเก้าอี้สะท้อนความเป็นตัวตนออกมา สามารถดีไซน์ได้หลายร้อยหลายพันแบบ ที่รุ่งอรุณก็ทำนิทรรศการเก้าอี้ มีเก้าอี้ฝีมือเด็ก ก็รู้สึกว้าวมาก”
“การที่ได้เห็นห้องเรียน เห็นผลงานชิ้นงานต่างๆ ของนักเรียน ทำให้เข้าใจคำว่า visible learning มากๆ ทำให้สรุปกลั่นออกมากับตัวเองว่า เข้าใจว่าจริงๆ ครูคือคนที่อ่านใจเด็กออก นำความคิดในหัวเด็กก่อน โดยการออกแบบแผนการเรียนการสอน แล้วก็มาตามความคิดของเด็กเวลาอยู่ในห้องเรียน แล้วก็กลับมานำความคิดใหม่ เป็นวงจรของการเรียนรู้ที่จริงๆ แค่ครูต้องอ่านใจเด็กก่อนทุกอย่าง”
“ได้เห็นในการเรียนสังคม เห็นหนังสือที่เด็กทำจากการไปดูงานมา เด็กถ่ายถอดออกมาอย่างดีทั้งข้อมูลเชิงวิทยาศาสตร์ ข้อมูลการวิเคราะห์ ออกมาในรูปแบบที่มีศิลปะด้วย เข้าใจง่าย จับต้องง่าย ซึ่งเข้าใจว่ามาจากการกลั่นจากกระบวนการที่โรงเรียนทำกับเด็กมาหลายปี จนทำให้ระยะทางระหว่างรูปธรรม กับนามธรรมของเขา เชื่อมโยงกันหมด ซึ่งวิธีการเรียนรู้ของคนคือการรับสิ่งที่เป็นรูปธรรมเข้าไป encode ในหัวออกมาเป็นนามธรรม ซึ่งLoop นี้เป็นวงจรการเรียนรู้ของมนุษย์จริงๆ”
:: รุ่งอรุณสร้างองค์ความรู้ที่ไม่แปลกแยกต่อสังคม
ดร.กิรติพงศ์ แนวมาลี นักวิจัยท่านหนึ่งในคณะเยี่ยมชม บอกเล่าความประทับใจว่า “จากที่ได้มาที่นี่วันนี้ก็เห็นว่าการศึกษาของไทยยังมีแสงสว่างอยู่บ้าง …ที่ประทับใจมากๆ คือ การที่โรงเรียนนี้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่เป็น Two- way communication ได้อย่างน่าสนใจ ทั้งครูและนักเรียนเติมเต็มให้กันและกัน แตกต่างจากรูปแบบการเรียนในอดีตที่ผมเคยเรียนมา ที่ครูอยู่บนหอคอยงาช้าง จากที่เห็นวันนี้นักเรียนก็เรียนรู้จากครู ครูก็เรียนรู้พัฒนาจากนักเรียนด้วย ที่สำคัญนักเรียนก็มีส่วนร่วมในชั้นเรียน มีส่วนกำหนดทิศทางของการเรียนซึ่งน่าสนใจมาก และจุดที่สำคัญก็คือ โรงเรียนรุ่งอรุณสร้างองค์ความรู้ที่ไม่แปลกแยกต่อสังคม ผมคิดว่าถ้าความรู้ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อชุมชน ต่อประเทศแล้ว มันก็ไม่มีประโยชน์ สิ่งที่ผมเห็นวันนี้ หลายๆอย่างที่เด็กเรียน องค์ความรู้นั้นมีประโยชน์ ต่อสังคม ต่อชุมชน ไม่แปลกแยก”