มัธยม

โรงเรียนมัธยม
เป็นกัลยาณมิตรของตนเอง  ด้วยโยนิโสมนสิการ  เพื่อเผชิญการงานที่แท้จริง

ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ – ๖

วัยมัธยมเป็นวัยที่เริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นผู้ใหญ่ เป็นช่วงเวลาสำคัญในการค้นหาศักยภาพของตนเองเพื่อตั้งเป้าหมายในชีวิตได้อย่างถูกต้อง  นักเรียนมัธยมเรียนรู้สาระความรู้ที่ซับซ้อน ลึกซึ้ง และมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทดลองทำสิ่งต่างๆ ตามความสนใจ การฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม เป็นอีกบทบาทที่นักเรียนมัธยมต้องเผชิญการงานจริงด้วยประสบการณ์ของตนเอง โดยเฉพาะในระดับมัธยมปลายที่ต้องรับผิดชอบการงานที่ใหญ่ขึ้น ทำให้นักเรียนเผชิญความขัดแย้งในตัวเอง ระหว่างความต้องการของตนเองกับเงื่อนไขต่างๆ เพื่อไปให้ถึงคุณค่าของงาน โดยมีครูและผู้ใหญ่ที่ชำนาญสนับสนุนอยู่เคียงข้าง ซึ่งจะทำให้พวกเขารู้จักตัวเอง ค้นพบศักยภาพของตน และประสบความสำเร็จในการศึกษาในที่สุด

การจัดการเรียนรู้ในระดับมัธยมศึกษา มีการแบ่งตามระดับช่วงชั้นออกเป็น ๒ ช่วงชั้น คือระดับมัธยมต้น และระดับมัธยมปลาย โดยจัดเป็นการเรียนรู้ในรูปแบบสตูดิโอ การเรียนในรูปแบบสตูดิโอเป็นพื้นที่เปิดที่ให้นักเรียนกล้าคิดกล้าทำจนค้นพบความถนัดและใช้ศักยภาพที่แท้จริงของตนเองใช้ความรู้สร้างงานสร้างนวัตกรรมตอบโจทย์ปัญหาของผู้คนชุมชนสิ่งแวดล้อมและโลกจนประสบความสำเร็จและเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง

Studio ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ประกอบด้วย ๓ สตูดิโอ

  • สตูดิโอฉลาดรู้ทางการเงิน (Studio of Financial Literacy)  
  • สตูดิโอนวัตกรรมถอดรหัสชีวิตและปรากฎการณ์ (Studio of Life Decode Innovator)
  • สตูดิโอพลเมืองเข้มแข็ง (Studio Active Citizen) 

Studio ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ประกอบด้วย ๑๓ สตูดิโอ

  • สตูดิโอดิจิทัลเทคโนโลยี (Studio of Digital Technology) 
  • สตูดิโอนวัตกรรมเครื่องกลและอิเล็กทรอนิกส์ (Studio of Innovative Mechatronics) 
  • สตูดิโอสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม (Studio of Creative and Communication) 
  • สตูดิโอนวัตกรรมสุขภาพองค์รวม (Studio of Innovative Health Care) 
  • สตูดิโอภาษาไทยเพื่อการเขียนเชิงสร้างสรรค์และอ่านโลก (Studio of Thai for Creative Writing and Literacy) 
  • สตูดิโอออกแบบนิเทศศิลป์ (Studio of Communication Design) 
  • สตูดิการจัดการทางด้านกีฬา (Studio of Sports Management) 
  • สตูดิโอศิลปะและการออกแบบเพื่อการเรียนรู้ (Studio of Creative Arts) 
  • สตูดิโอประกอบการเพื่อธุรกิจ (Studio of Entrepreneurs for Meaningful Business) 
  • สตูดิโอห้องแล็บดนตรีเสียงแห่งการทดลอง (Studio of Ensemble Laboratory) 
  • สตูดิโอสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Studio of Architecture for the Community and Environment) 
  • สตูดิโอภาษาต่างประเทศ (Studio of Foreign Language) 
  • สตูดิโอวิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ (Studio of Medical science)  

การเรียนรู้แบบสตูดิโอเป็นการเรียนรู้กลุ่มเล็กที่ครูสามารถเข้าถึงนักเรียนเป็นรายบุคคล การเรียนยังคงเรียนเป็นการบูรณาการสู่ชีวิตในรูปแบบโครงงาน (Project-based  learning) ตามสตูดิโอที่นักเรียนเลือก มุ่งเน้นพัฒนานักเรียนให้ใช้ความรู้เป็นและเกิดประโยชน์ต่อตนเอง ต่อผู้อื่นและสังคม (Knowledge-based Society) โดยนำโจทย์ปัญหาจริงในสังคมหรือประเด็นวิกฤตปัญหาโลกมาเป็นแกนหลัก (Theme) ของการทำโครงงานด้วยแนวทางการวิจัย ผ่านการลงมือทำบนบริบทจริงของสังคมที่นักเรียนต้องไปทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อสืบสาวหาเหตุปัจจัยของปัญหา สภาพของปัญหา และผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนมีส่วนร่วมเสนอแนวทางแก้ไขหรือบรรเทาปัญหานั้น เพื่อเป้าหมายการพัฒนานักเรียนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่มีสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม (Active Citizen)

ตัวอย่างการเรียนรู้แบบสตูดิโอในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

สตูดิโอสถาปัตยกรรมเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม (Studio of Architecture for the Community and Environment) เป็นอีกหนึ่งสตูดิโอการเรียนรู้ที่เปิดพื้นที่ให้นักเรียน กล้าคิด กล้าลงมือทำ ใช้ศักยภาพที่แท้จริงของตนเอง รวมถึงใช้ความรู้ ใช้ความสามารถสร้างงาน สร้างนวัตกรรมที่สอดคล้องปัญหาของผู้คน ชุมชน สิ่งแวดล้อมและโลก โดยในภาคเรียนที่ ๑ ของปีการศึกษา ๒๕๖๗ ครั้งนี้ นักเรียนได้ลงพื้นที่ภาคสนาม ณ ชุมชนบ้านสวนห้อม จ.เลย ซึ่งเป็นชุมชนขนาดเล็ก ที่ท่านครูบาดุจ วัดป่าสวนห้อม เห็นถึงปัญหาภายในชุมชนเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่เริ่มใช้เวลาอยู่กับโทรศัพท์มือถือ รวมถึงชาวบ้านในชุมชนยังขาดพื้นที่ในการรวมกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ทางครูผู้สอนจึงเห็นถึงประโยชน์ในการหยิบยกสถานการณ์ข้างต้นมาเป็นโจทย์ให้กับนักเรียนออกแบบสถานที่พื้นที่สันทนาการ และสนามเด็กเล่น พร้อมทั้งยังลงพื้นที่ศึกษาชีวิตความเป็นอยู่ ผ่านความสัมพันธ์อันดีในพื้นที่ชุมชนบ้านสวนห้อม จึงถือเป็นโอกาสของนักเรียนที่จะได้เผชิญการงานจริงด้วยประสบการณ์ตรงของตนเอง ผ่านการเรียนรู้กระบวนการคิดออกแบบในมิติของความสัมพันธ์และความสำคัญกับวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงกับสภาพพื้นที่ของชุมชน อีกทั้งยังเห็นถึงประโยชน์ที่นักเรียนจะได้สั่งสมประสบการณ์จากการลงมือปฏิบัติจริง เพื่อฝึกฝนทักษะจากการนำความรู้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ และเห็นคุณค่าของการสร้างสรรค์งานที่มีผลต่อผู้คน ชุมชน และสังคม ตลอดจนสร้างแรงขับเคลื่อนภายในให้นักเรียนก้าวเดินไปสู่สายอาชีพในอนาคต 

โครงงานการศึกษานิเวศเฉพาะและภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน กรณีศึกษาชุมชนแหลมหิน-บ้านคลองรั้ว จังหวัดกระบี่  โดยนักเรียนชั้น ม.๖ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษเพื่อสังคม ปีการศึกษา ๒๕๕๘ นักเรียนลงพื้นที่ศึกษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและองค์ความรู้ด้านภูมิปัญญาประมงพื้นบ้าน ตลอดจนตั้งคำถามถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือขนถ่านหินในบริเวณใกล้เคียง แล้วจัดทำสื่อเผยแพร่สู่สังคมวงกว้าง โดยจัดทำเป็นร่างรายงาน HIA (Health Impact Assessment) วิดีโอสารคดี “เรารักอันดามัน” สารคดีข่าวในรายการนักข่าวพลเมือง ทางไทยพีบีเอส และการนำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนนานาชาติในงาน The 1st ASEAN Conference on Impact Assessment and Mitigation: Towards ASEAN Engagement and Sustainable Development วันที่ ๒๓-๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ ณ มหาวิทยาลัยนเรศวร

โครงงานบำบัดน้ำเสียในโรงเรียน  จากการเรียนรู้เรื่องทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำโดยชุมชน นักเรียนนำความรู้วิทยาศาสตร์มาประดิษฐ์คิดค้นทดลองจนเกิดเป็นระบบบำบัดน้ำในอาคารเรียนมัธยมและโรงครัว เป็นการประยุกต์ใช้ความรู้เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตนเอง ซึ่งริเริ่มโดยนักเรียนชั้น ม.๕ ปีการศึกษา ๒๕๕๓ และเป็นโครงงานต่อเนื่องของนักเรียนชั้น ม.๕ สายวิทยาศาสตร์ในปีการศึกษาต่อๆ มา ในปี ๒๕๕๘ บทความภาษาอังกฤษเรื่อง Roong Aroon Wastewater Treatment Project ผลงานของนักเรียนชั้น ม.๖ ได้รับการตีพิมพ์ใน K-12 STEM Education วารสารออนไลน์ของ สสวท. ฉบับที่ ๑ เดือนมกราคม-มีนาคม ๒๕๕๘