บันทึกรุ่งอรุณ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

KMรุ่งอรุณ : ครูต้องวางใจว่าการเรียนรู้เป็นของนักเรียน

เรื่อง : ครูอดิเรก สมบัติวงค์
ครูโครงงานบูรณาการ มัธยม โรงเรียนรุ่งอรุณ

ถึงอดิเรกน้องรัก
ฉันมีเรื่องดีๆ ที่ฉันได้เห็นพัฒนาการของนักเรียนในห้องเรียนชั้นมัธยม ๓/๑  ที่ฉันเป็นครูประจำชั้นแล้วอยากจะมาเล่าให้เธอฟัง

เมื่อปีการศึกษาที่ผ่านมา  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓  จะต้องจัดงานหยดน้ำแห่งความรู้ในหัวข้อ “แลปักษ์ใต้” ซึ่งมีนักเรียนหญิงกลุ่มหนึ่งจำนวน  ๔  คน ที่ชอบการฟ้อนรำ เลือกเรียนรู้การรำ “มโนราห์”  ศิลปวัฒนธรรมภาคใต้  นักเรียนไปครอบครู เรียนรู้กับครูมโนราห์จากสิงหนคร ที่ฉันเชิญมาสอนถึง ๗ ครั้ง  สนใจถึงขนาดถ่ายวิดีโอการเรียนไว้  และฝึกซ้อมกันเองอย่างตั้งใจ แม้จะเป็นเรื่องยากและต้องฝึกหนัก จนปวดเมื่อยไปทั้งตัว แต่นักเรียนก็มีใจสู้ อดทน ไม่ท้อถอย นอกจากนั้นเพื่อนๆ ในกลุ่มก็รู้สึกรักกันมากขึ้นเพราะผ่านความลำบากมาด้วยกัน   ฉันเองก็เข้าไปไต่ถาม พูดคุยกับพวกเขาเรื่องการฝึกซ้อมอยู่บ่อยๆ  และได้เห็นมาตลอดว่าพวกเขาใส่ใจในการฝึกซ้อมมาก

ในการแสดงมโนราห์ในงานหยดน้ำแห่งความรู้  นักเรียนต้องการแต่งกายอย่างมโนราห์ภาคใต้ทุกประการ   จึงมาปรึกษาฉัน  เรื่องค่าชุดและเครื่องประดับซึ่งนักเรียนจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง ฉันไม่ได้บอกไปว่าพวกเขาต้องทำอย่างไร   เพราะฉันรู้ว่า ถ้าฉันรีบบอกไป  นักเรียนต้องคิดว่าเป็นคำสั่งของครูอาจเกิดการต่อต้าน  เหมือนอย่างงานหยดน้ำฯ ในเทอมที่ ๑ ที่ฉันเคยมีความคาดหวังสูง อยากให้งานสำเร็จ จึงล้อมกรอบให้นักเรียนทำตามสคริปต์ที่เขียนที่ซ้อมกันไว้  จึงเหมือนฉันไม่ไว้ใจพวกเขา พวกเขาจึงไม่รู้สึกว่างานหยดน้ำฯเป็นของพวกเขา หากแต่เป็นงานของครู  พวกเขาเลยไม่มีกำลังใจทำงาน และต้องการแสดงออกถึงการต่อต้านครู ถึงกับไม่ยอมทำงาน ปล่อยให้งานเสียหาย จนครูรู้สึกหน้าแตกไปกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ครั้งนี้ฉันได้พูดคุยกับนักเรียนด้วยการตั้งคำถาม ตะล่อมไปเป็นขั้นเป็นตอนว่าพวกเขามีเป้าหมายอย่างไร ทำไมจำเป็นต้องใช้ชุดแสดงจริง    คิดอย่างไรถ้าจะแสดงด้วยการใส่ผ้าแดง ไม่ต้องใส่ชุดโนรา เพราะจะได้ไม่มีค่าใช้จ่าย   นักเรียนตอบว่า  มโนราห์ที่เขาฝึกมาเป็นภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าของชาวปักษ์ใต้เพื่อแสดงถึงรากเหง้าและความภาคภูมิใจในแผ่นดินบ้านเกิดของคนปักษ์ใต้    ดังนั้นจึงต้องแสดงออกมาให้สมน้ำสมเนื้อกับความเป็นชาวปักษ์ใต้

พวกเขาเห็นในคุณค่าของการแสดงโนราจริงๆ   เขายืนยันว่า ”หนูไม่ยอม”    ฉันจึงถามต่อไปว่าแล้วจะหาทางแก้ไขอย่างไร พวกเธอมีต้นทุนอะไรอยู่บ้าง    พวกเขาช่วยกันคิดหลายๆ อย่าง จนได้แนวทางว่าพวกเขาต้องหาทุนด้วยตนเอง เลยไปคุยหว่านล้อมเพื่อนๆ ทั้งห้องเดียวกันและห้องอื่นๆ ให้เห็นว่างานนี้เป็นงานหยดน้ำฯ ของม.๓ ไม่ใช่แค่ของกลุ่มพวกเขา  เพื่อนๆ ก็ให้ความร่วมมืออย่างดี มาร่วมร้องเพลง  แสดงดนตรีเดี่ยว และรำมโนราห์ที่โรงช้าง  ปรากฏว่าเพียงแค่  ๓๐  นาที  นักเรียนรีบวิ่งมาบอกครูว่าหาเงินได้ถึง  ๓,๘๖๐ บาท  สามารถนำไปเป็นค่าเช่าชุดแสดงโนราได้ และพอเป็นค่าเช่าเครื่องขยายเสียงที่ต้องเช่ามาอีกด้วย

เมื่อถึงวันงานหยดน้ำ ทุกคนก็ต้องตกตะลึงกับความสามารถของนักเรียนทั้ง ๔  คนนี้  พวกเขารำโนราได้อย่างสวยงาม สมบูรณ์  คำตอบทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า เขารู้สึกว่างานหยดน้ำฯ เป็นงานของเขา  เขาเป็นเจ้าของการเรียนรู้เอง  เขาจึงลุกขึ้นมาจัดการกับสิ่งที่เขาชื่นชอบด้วยตัวของเขาเอง ลุกขึ้นมาแก้ปัญหากันเอง  และจากการที่พวกเขามีโอกาสเรียนรู้ด้วยการฝึกรำมโนราห์ด้วยตนเอง  เผชิญและผ่านปัญหาอุปสรรคมามาก ประกอบกับครูพาย้อนมองคุณค่าของสิ่งที่ตนได้เรียนรู้บ่อยๆ จึงทำให้นักเรียนเกิดจิตใจที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมา  ในขณะที่ฉันเองก็ไว้ใจพวกเขา  แม้จะแอบมีความคาดหวังอยู่เหมือนกัน  แต่ได้อดทนให้เขาแก้ไขปัญหาของเขาเอง  ไม่ได้บอกให้เขาทำตามความคิดของครู

เมื่อถึงตรงนี้ ฉันได้เรียนรู้ว่า ครูต้องวางใจว่าการเรียนรู้เป็นของนักเรียน  นักเรียนจะแสดงศักยภาพได้เต็มที่ทั้งในการเรียนรู้ และการแก้ปัญหาต่างๆ ด้วยตนเอง  หากครูมีความอดทน ฟังนักเรียนด้วยใจที่ใคร่ครวญ และลดความคาดหวังลง