KMรุ่งอรุณ : ยอมรับความไม่รู้ แล้วพาตัวเองไปรู้
เรื่อง : ครูจินตนา นำศิริโยธิน (ครูอีฟ)
ครูอนุบาล โรงเรียนรุ่งอรุณ
สมัยทำงานใหม่ๆ ต้องพาเด็กทำแกงจืด หมูสับที่สั่งมามันเป็นหมูบดอยู่ในถุง แล้วมันมีเลือดปนอยู่เยอะ เราเป็นคนรักสะอาด ก็กลัวว่ามันจะไม่สะอาด เป็นห่วงเด็ก เลยเอาหมูสับใส่ตะกร้าล้างน้ำ ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้น พอเอาหมูสับใส่ตะกร้า เปิดน้ำ พอน้ำเข้ามาแล้วเริ่มแกว่ง หมูก็ไหลออกไปตามช่องตะกร้า การเรียนรู้เกิดตอนนั้นเลย ในใจคือ แย่แล้ว ก็ทำได้แค่คนให้เบาลง รอจนกว่าน้ำจะค่อยๆ หายไป หมูบดเหลืออยู่แค่ ๑ ใน ๓
เราก็ได้เรียนรู้ ทั้งๆ ที่เราชอบทำอาหาร เรายังพลาด ถ้าครูยอมรับว่าตัวเราเองยังไม่รู้เลย มันจะไม่ผิดมากเวลาที่เด็กทำอะไรแล้วเขายังไม่รู้ เพราะครูก็เคยไม่รู้เหมือนกัน ถ้าเราไม่ตั้งหลักอย่างนี้ เราจะเผลอ พอเราเป็นครู เราก็อยากให้เด็กได้ดี มันจะไปสู่ความคาดหวังได้ง่ายมาก แต่ถ้าครูเคยทำแล้ว ครูจะเข้าใจเด็กว่าเขาคิดอะไรถึงได้ทำอย่างนี้ ครั้งหนึ่งเราปล่อยให้เด็กซาวข้าวกันเอง หันไปอีกที ข้าวเหลือครึ่งหนึ่ง เราก็คิด คงเหมือนเราตอนล้างหมูสินะ พอคิดแบบนี้เราก็ไม่ไปตำหนิติเตียน หรือล้างผัก ได้ยินเสียงเด็กบอก ครูคะเสร็จแล้วค่ะ เราหันไป ผักบุ้งหักเละตั้งแต่ยอดยันราก แต่หน้าตาเด็กภูมิใจมาก ความที่เราเองก็เคยพลาด เราเลยมองเป็นเรื่องขำ แล้วค่อยๆ บอก ค่อยๆ สอนไป
เรารู้สึกว่าการพาเด็กทำอาหารเป็นกิจกรรมที่ดีมาก เป็นกิจกรรมที่รอเด็กและเปิดพื้นที่ให้เด็กที่มีความสามารถหลากหลาย เด็กหลายคนรู้สึกว่าการทำอาหารเป็นพื้นที่ของเขา ทำให้เขารู้สึกมีตัวตน มีพื้นที่ เพราะอาหารต้องลงมือทำ มันฟังอย่างเดียวไม่ได้ คิดอย่างเดียวไม่ได้ วิจารณ์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องลงมือทำ แล้วก็คาดคั้นผลที่ออกมาไม่ได้ด้วย
เด็กอนุบาล ๓ คนหนึ่งเป็นเด็กไม่ค่อยมั่นใจ เวลาครูถามก็ไม่ค่อยกล้าตอบ เขารับรู้ว่าเขาไม่ใช่คนโดดเด่นของห้อง เป็นเด็กไม่ค่อยมั่นใจ แต่เขามีข้อดีคือมีร่างกายแข็งแรง วันนั้นเราทำขนมปังกัน ก็ให้เด็กๆ สลับกันนวดแป้ง เด็กหลายคนนวดได้แป๊บเดียวก็เปลี่ยนให้เพื่อนมานวด เพราะเมื่อย แต่เด็กคนนี้ยังนวดอยู่ พอเราเห็นก็รีบชม โห แรงดีจริงๆ เลย เพื่อนเปลี่ยนไปพักกันหมดแล้ว พอเราชม เขาก็ยิ่งนวด ยิ่งนวดนาน เพื่อนก็ยิ่งเห็น ขนาดครูยังชม ต้องเจ๋งจริงแน่ๆ เป็นแรงส่งกันไปมา วันนั้นพอเราสรุปการเรียนรู้กัน เราพยายามยกเขาขึ้นมาโดยอาศัยเพื่อนๆ ก็ถามเด็กๆ เอ๊ะ วันนี้ใครนวดแป้งเก่งนะ เพื่อนๆ ก็พากันเอ่ยชื่อเขา ชมเขา กลับไปบ้านเขาไปบอกแม่ว่าเขานวดขนมปังเก่งมาก เขารู้สึกว่านี่คือจุดเด่นของเขา แล้วเขาก็จริงจังกับการนวดขนมปังตั้งแต่วันนั้นมา จากการนวดขนมปัง เขาค่อยๆ พัฒนาความมั่นใจขึ้นมา จากเด็กขี้อาย ไม่ค่อยคุยกับใคร วันนี้เขาชวนแม่ทำคลิปสอนทำอาหารแล้ว
เด็กก็เหมือนกับเรา ถ้าเราทำอะไร เอาแค่พอได้ แล้วมีคนยอมรับ เราจะเริ่มเต็มในใจของเราเอง แล้วการเรียนรู้จะพัฒนาต่อด้วยตัวเราเอง ไม่ต้องมีใครมาบังคับ
เราที่เป็นผู้ใหญ่มักคิดกันว่า ทำอาหารต้องอร่อย เราถึงทำ ถ้าไม่อร่อย เราไม่ทำ แต่เด็กไม่ใช่ อาหารอะไรที่เขาได้ทำแล้วได้กิน อร่อยทั้งนั้น ความอร่อยของเด็กกับเราต่างกัน ถ้าเราไม่ไปตัดสิน สำหรับเด็กคือทำอะไรก็จะอร่อยได้ เขาจะกลายเป็นคนที่ไม่กลัวว่าผลจะเป็นอย่างไร ไม่กลัวความล้มเหลว เพราะเขาไม่ได้คาดหวังมากเกินไป บวกกับการทำอาหารนั้นมีขั้นมีตอนให้เรียนรู้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ทำผิดก็ทำใหม่ แต่ทำใหม่ต้องใช้ปัญญาด้วยนะ ไปทำเหมือนเดิมก็ได้แบบเดิม ก็ต้องหาวิธีแก้แล้วปรับใหม่ การเรียนรู้แบบนี้จะไปสร้างคุณลักษณะนิสัยของเด็กในการแก้ไขปัญหาอย่างมีปัญญา
บ่อยครั้งขณะทำอาหาร ความรู้ใหม่ๆ จะออกมาจากตัวเด็กเอง เช่น เราบอกเด็กว่ายีสต์มีชีวิตนะ แล้วเราก็พากันทดลอง เด็กๆ เห็นว่ายีสต์มีการเติบโต มันมีชีวิต พอนวดขนมปัง เราบอกเขาว่าให้ระวัง เดี๋ยวยีสต์ตาย แต่พอเราตัดแบ่งแป้ง เด็กถามเลย แล้วยีสต์ไม่ตายหรือ ตัดแบบนี้ขนมปังก็ไม่ฟูน่ะสิ เมื่อกี้ครูเพิ่งบอกว่าเวลานวดให้ระวัง เราเองก็ไม่รู้หรอก องค์ความรู้เราน้อย เราก็ตอบเขาไม่ได้ แล้วถ้าเราเลยผ่านไป มันจะหยุดอยู่แค่นี้ แต่ถ้าเราไปหาความรู้ต่อ ครั้งต่อไปก็เป็นโอกาสให้เราคุยกับเขาเรื่องนี้ ก็ได้ความรู้เพิ่มไป อย่างเรื่องยีสต์ที่เด็กถาม เราไปอ่านหนังสือ ถามจากผู้เชี่ยวชาญเรื่องขนมปัง แล้วมาคุยกับเขาในครั้งต่อไปว่า อ๋อ ธรรมชาติของแป้งขนมปัง ถ้าดึงมันจะบอบช้ำ ดึงฉีกขาดไม่ได้ แป้งจะไม่ฟู แต่ถ้านวดกดเป็นก้อนกลมๆ หรือตัดได้ ไม่เป็นไร ซึ่งในระหว่างทำอาหาร ความรู้ของเด็กจะเกิดขึ้นแบบนี้บ่อยๆ เพราะการทำอาหารเป็นโอกาสให้เขาเห็น สังเกต สงสัย คิดเป็นเหตุเป็นผล
เมื่อก่อนเราคิดว่าเรารู้ เราเป็นคนสอน แต่ระหว่างที่ทำอาหารไปด้วยกันกับเด็ก มันสอนเราว่า เราไม่ได้รู้ทั้งหมด บางคำถามของเด็กเราก็ตอบไม่ได้ ซึ่งเด็กเขาไม่ได้ถามอะไรที่มันยากเกินไปหรอก เราเองต่างหากที่ไม่รู้ แต่ไม่เป็นไร ไม่รู้ก็ไปหาคำตอบมา ถ้าวิธีคิดตรงนี้เปลี่ยน ความรู้จะมาเรื่อยๆ