บันทึกรุ่งอรุณ,  รอบรั้วรุ่งอรุณ,  วิดีโอ,  โรงเรียนมัธยม,  โรงเรียนรุ่งอรุณ

“รู้จักวัยรุ่นด้วยแว่นตาพัฒนาการสมอง EF” – ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร

“รู้จักวัยรุ่นด้วยแว่นตา พัฒนาการสมอง EF”
โดย “ครูใหม่” ดร.ปิยวลี ธนเศรษฐกร
ผอ.สถาบันพัฒนาสมองและศักยภาพเด็กด้วยวินัยเชิงบวก
ในงานปฐมนิเทศผู้ปกครองนักเรียนชั้น ม.๑
วันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๑ ณ ห้องประชุมรับอรุณ โรงเรียนรุ่งอรุณ

อย่ากลัวว่าลูกจะผิด แต่ขอให้กลัวว่าลูกจะไม่กล้าทำ
“หนึ่ง Secure ทำให้ลูกรู้สึกปลอดภัยทั้งร่างกายและจิตใจ สอง Engage ให้ลูกมีส่วนร่วมในการเรียนรู้เสมอ อย่าให้เขาต้องทำเพราะแม่บอก หรือเพราะพ่ออาบน้ำร้อนมาก่อน และสาม Empower สนับสนุนให้ลูกกล้าออกไปทำ และกล้าที่จะผิด สิ่งที่น่ากลัวกว่าความผิดพลาดคือการไม่กล้าทำ มนุษย์เรียนรู้ได้ดีที่สุดจากความผิดพลาด อย่ากลัวว่าลูกจะผิด แต่ขอให้กลัวว่าลูกจะไม่กล้าทำ ให้ลูกผิดตอนอยู่กับเรา เพราะเราควบคุมได้ เราเห็น เมื่อไม่มีเราแล้วเขาไปผิด ใครจะช่วยเขาก็ไม่รู้…อะไรก็ตามที่คุยกันแล้ว ดื้อจะทำ เอาเลย ปล่อยตอนนี้ เดี๋ยวเราช่วยแก้ เดี๋ยวผิดแล้วเขามาหาเราแน่นอน แต่ถ้าห้าม เขาจะไปทำลับหลัง พอผิด เขาจะไม่บอกเรา เพราะกลัวโดนซ้ำเติม”

Reaction vs Response
“Action จะเท่ากับ Reaction เสมอ แล้ว Reaction ต่างกับ Response อย่างไร Reaction คือการตอบสนอง Response ก็ตอบสนองเหมือนกัน แต่การตอบสนองสองแบบนี้ไม่เหมือนกัน Reaction ใช้สัญชาตญาณ Response ใช้เหตุผล ถ้าลูก Reaction แปลว่าเขาใช้อารมณ์หรือสัญชาตญาณ ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า แล้วเรา (พ่อแม่) จะ Reaction กลับไปดีหรือเปล่า ถ้าเรา React กลับไป มันยากมากที่ลูกจะมีเหตุผล เพราะเขาจะเรียนจากอะไร ถ้า Input มีแต่ React ตลอด ดังนั้นสติต้องมา”

พ่อแม่คือผู้ที่ทำให้จิตใจวัยรุ่นมั่นคง
“ฝากพ่อแม่ อย่าลืมความรู้สึกที่ร่างกายเปลี่ยนในช่วงวัยรุ่น เช่น ความอาย ความไม่มั่นใจ คนที่จะแนะนำเขาได้ดีที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ที่จำได้ว่าตัวเองรู้สึกอย่างไรในช่วงวัยรุ่น ถ้าท่านไหนผ่านช่วงนั้นมาได้ดี มีความสุข ต้องกลับไปค่อยๆ ระลึกว่าอะไรที่ทำให้ตัวเราผ่านมาได้ด้วยดี เช่น คำพูดของพ่อแม่ คำแนะนำของเพื่อน สิ่งที่จะบอกว่ามันเวิร์กหรือไม่เวิร์ก คือปฏิกิริยาของลูก การที่เขาค่อยๆ พยายามบรรยายความรู้สึกของเขาออกมา”

“ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญเกี่ยวกับความรู้สึกตอนที่วัยรุ่นเปลี่ยน ส่วนใหญ่จะเน้นแค่ร่างกายที่เขาเปลี่ยนไปแล้วจะเป็นแบบนั้นแบบนี้ แต่จริงๆ แล้วร่างกายเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่การยอมรับตัวตนของเขา ไม่ค่อยมีใครสอน การปล่อยให้เด็กวัยรุ่นที่ฮอร์โมนก็เยอะ การเปลี่ยนแปลงก็มาก แถมเนื้อหาการเรียนก็เยอะกว่าประถม เยอะและยาก เรียกว่าทุกอย่างในชีวิตของเขามันเปลี่ยนเร็ว เปลี่ยนเยอะ และแรง แล้วทุกอย่างมาพร้อมกัน จุดนี้เป็นจุดที่หลายคนมองข้าม แล้วมองว่าเขาออกนอกลู่นอกทาง แต่จริงๆ แล้วแต่ละเรื่องเขาควรได้รับคำแนะนำ คุณครู(แนะนำ)ได้ส่วนหนึ่ง แต่คนที่ทำให้จิตใจวัยรุ่นมั่นคงที่สุดคือคุณพ่อคุณแม่ เพราะว่าคนทั้งโลกไม่ยอมรับเขาได้ แต่ขอให้พ่อแม่ยอมรับเขา เขาจะอยู่ได้

ทำให้ลูกรู้สึกว่าเขามี “ความคิด ความรู้สึก ตัวตน”
“ทำให้ลูกกลับมาหาเราให้ได้เสมอ คิดง่ายๆ ว่าถ้าเราจะพูด หากมีใครมาพูดกับเราแบบนี้ เราจะรู้สึกอย่างไร ถ้าเราโอเคกับมัน เราพูด แต่ถ้าคนอื่นมาพูดกับเราแบบนี้แล้วเรารู้สึกไม่ดี ลูกก็รู้สึกแบบนั้น คำว่า Respect การเคารพ คือการที่เราทำให้ลูกรู้สึกอยู่เสมอว่า ลูกมีความคิด ลูกมีความรู้สึก และลูกมีตัวตน สามอย่างนี้ต้องทำให้ลูกรู้สึกอยู่เสมอ การทำให้รู้ว่าลูกมีความคิดคือการที่เราฟัง  อันที่สอง การทำให้รู้ว่าลูกมีความรู้สึก คือการที่เราสะท้อนอารมณแล้วบอกว่าเข้า อันที่สาม การทำให้รู้ว่าลูกมีตัวตน คือการที่เราชื่นชมในสิ่งที่เขาทำแล้วเราชอบ”