Cultural-Academic Exchange Program “รุ่งอรุณ-โอมิ” (๒)
“นักเรียนของเราจะเรียนผ่านการฟังเพียงอย่างเดียว แต่ที่โรงเรียนนี้ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นการศึกษาที่ให้นักเรียนได้ลงมือทำกันเอง ได้บอกเล่า ได้นำเสนอเอง ซึ่งจากกิจกรรมในโครงการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ที่ได้ทำร่วมกัน นักเรียนของเราก็ได้เห็นวิธีการจัดการ ทั้งการนำเสนอและวิธีการสื่อสาร วิธีคิด การตั้งคำถาม ได้เรียนรู้มากมาย ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งมากๆ รู้สึกขอบคุณมากๆ เลยค่ะ”
– Nishimura Noriko, Omi Brotherhood Senior High School
หลังจากนักเรียนชั้น ม.๖ สำนักสื่อสร้างสรรค์และภาษาเพื่อสังคม ๖ คน เดินทางไปภาคสนามที่จังหวัดชิกะ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาด้านการจัดการน้ำ ระหว่างวันที่ ๓๐ ต.ค. – ๕ พ.ย. ๖๑ ตามโครงการความร่วมมือจัดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างโรงเรียนรุ่งอรุณและโรงเรียนโอมิ (Omi Brotherhood Senior High School) ในวันที่ ๘-๙ พ.ย. ๖๑ เป็นโอกาสที่นักเรียน ม.๕ ประมาณ ๔๐ คน จากโรงเรียนโอมิ เดินทางมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านความรู้ ภาษา และวัฒนธรรม ในประเทศไทยบ้าง นักเรียนรุ่งอรุณในฐานะเจ้าบ้าน ต้องทำหน้าที่ดูแลต้อนรับนักเรียนชาวญี่ปุ่นเป็นเวลาสองวัน
ช่วงเช้าของวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๖๑ โรงเรียนจัดพิธีต้อนรับอย่างเรียบง่ายและเป็นกันเองที่เรือนรับอรุณ จากนั้นตัวแทนนักเรียนนำเสนอข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอัมพวา ซึ่งเป็นพื้นที่ศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ การใช้ประโยน์ของคนในท้องถิ่น รวมทั้งแจ้งกำหนดการกิจกรรมภาคสนาม . ช่วงสาย ครูปุ๊ เปรมปรีติ หาญทนงค์ ครูประจำหน่วยวิชาโครงงานบูรณาการฯ, ครูวิ วิภาวีร์ ศรีสุรภานนท์ และครูดีดี อภิชญา อภิรักษ์โชติศิริ ครูวิชาภาษาญี่ปุ่น พาคณะนักเรียนทั้งหมดไปตลาดร่มหุบ จ.สมุทรสงคราม เพื่อเที่ยวชมบรรยากาศ รับประทานอาหารกลางวัน และเลือกซื้อวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารเย็น
ช่วงบ่าย นักเรียนรุ่งอรุณแบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเดินทางได้ยังสวนมะพร้าวใน อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพื่อจัดเตรียมสถานที่และอาหารมื้อเย็น ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งพานักเรียนญี่ปุ่นไปทำกิจกรรม อาทิ ล่องเรือสังเกตสภาพธรรมชาติและวิถีชีวิตผู้คนสองฝั่งแม่น้ำแม่กลองจนถึงปากอ่าว เข้าฐานการเรียนรู้ทำน้ำตาลมะพร้าว ทำขนมไทย และงานจักสานใบมะพร้าวที่บ้านริมคลองโฮมสเตย์ แล้วจึงเดินทางไปสมทบที่สวนมะพร้าว เพื่อฟังข้อมูลการทำสวนมะพร้าวและรับประทานอาหารเย็น
ในวันศุกร์ที่ ๙ พฤศจิกายน ๖๑ นักเรียนทั้งหมดทำกิจกรรมร่วมกันที่เรือนรับอรุณตั้งแต่เวลา ๙.๐๐ น. เริ่มจากแบ่งกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำและการจัดการน้ำ ตามด้วยกิจกรรมร้อยมาลัยดอกไม้ . ในช่วงบ่ายเป็นการแบ่งกลุ่มเพื่อแสดงความคิดเห็นสะท้อนประสบการณ์การเรียนรู้ (KM) ที่แต่ละคนได้รับจากการทำกิจกรรมร่วมกันครั้งนี้ สถานการณ์ปัญหาของแหล่งน้ำที่ทะเลสาบบิวะและอัมพวาในปัจจุบัน พร้อมเสนอแนวทางจัดการเพื่อแก้ไข แล้วจึงให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนนักเรียนรุ่งอรุณและนักเรียนโอมิอย่างละคนออกมานำเสนอข้อสรุปจากการพูดคุย จากนั้นเป็นการกล่าวขอบคุณและถ่ายภาพหมู่ร่วมกัน
คุณครูนิชิมุระ โนริโกะ (Nishimura Noriko) จากโรงเรียนโอมิ กล่าวถึงการยกระดับโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างโรงเรียนรุ่งอรุณกับโรงเรียนโอมิ จาก Cultural Exchange Program ที่เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ เป็นต้นมา จนเปลี่ยนมาเป็น Cultural-Academic Exchange Program ในครั้งนี้ว่า
“ครั้งนี้ได้มีการเตรียมการล่วงหน้ามาเยอะพอสมควร ซึ่งทำให้เป็นการเเลกเปลี่ยนเชิงวิชาการ พวกนักเรียนก็ได้หาข้อมูลเตรียมไว้มาล่วงหน้าเยอะมาก เพื่อเตรียมสำหรับนักเรียนรุ่งอรุณที่มาเดินทางมาแลกเปลี่ยนที่โรงเรียนโอมิบราเทอร์ฮูดก่อน ซึ่งเรื่องนี้คิดว่าเป็นเรื่องที่ใหญ่นะคะ เรื่องนั้นทำให้นักเรียนของเรามีความสนใจเกี่ยวกับประเทศไทยพอสมควรและได้หาข้อมูลเตรียมตัวมาอย่างดี และในด้านของเนื้อหาก็เป็นเนื้อหาที่ได้เรียนรู้อย่างมาก ได้เรียนรู้วิธีคิดแบบผู้ใหญ่ว่าจะแก้ปัญหาอย่างไรในความเป็นจริง ซึ่งคิดว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเติบโตของพวกเขา และอีกสิ่งหนึ่งคือ รูปแบบของการจัดการศึกษา นักเรียนของเราจะเรียนผ่านการฟังเพียงอย่างเดียว แต่ที่โรงเรียนนี้ไม่ใช่แบบนั้น แต่เป็นการศึกษาที่ให้นักเรียนได้ลงมือทำกันเอง ได้บอกเล่า ได้นำเสนอเอง ซึ่งจากกิจกรรมในโครงการแลกเปลี่ยนครั้งนี้ที่ได้ทำร่วมกัน นักเรียนของเราก็ได้เห็นวิธีการจัดการ ทั้งการนำเสนอและวิธีการสื่อสาร วิธีคิด การตั้งคำถาม ได้เรียนรู้มากมาย ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้งมากๆ รู้สึกขอบคุณมากๆ เลยค่ะ”